พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. สัตตวัสสสูตร มารหาโอกาสทําลายพระพุทธเจ้าสิ้น ๗ ปี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36357
อ่าน  469

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 70

๔. สัตตวัสสสูตร

มารหาโอกาสทําลายพระพุทธเจ้าสิ้น ๗ ปี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 70

๔. สัตตวัสสสูตร

มารหาโอกาสทำลายพระพุทธเจ้าสิ้น ๗ ปี

    [๔๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา.

    ก็สมัยนั้นแล มารผู้มีบาปติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้า คอยมุ่งหาโอกาสสิ้น ๗ ปี ก็ยังไม่ได้โอกาส.

    [๔๙๗] ภายหลังมารผู้มีบาป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้ ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ เหตุไรท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ.

    [๔๙๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

    ดูก่อนมารผู้เป็นเผ่าของบุคคลผู้ประมาทแล้ว เราขุดรากของความเศร้าโศกทั้งหมดแล้ว ไม่มีความชั่ว ไม่เศร้าโศก เพ่งอยู่ เราชนะความติดแน่น กล่าวคือความโลภในภพทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพ่งอยู่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 71

    [๔๙๙] มารทูลว่า

    ถ้าใจของท่านยังข้องอยู่ในสิ่งที่ชนทั้งหลาย กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นของเรา และว่าสิ่งนี้เป็นเราแล้ว สมณะ ท่านจักไม่พ้นเราไปได้.

    [๕๐๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    สิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่าเป็นของเรานั้น ย่อมไม่เป็นของเรา และสิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่า เป็นเรา ก็ไม่เป็นเราเหมือนกัน แนะมารผู้มีบาป ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด แม้ท่านก็จักไม่เห็นทางของเรา.

    [๕๐๑] มารทูลว่า

    ถ้าท่านจรู้จักทางอันปลอดภัย เป็นที่ไปสู่อมตมหานิพพาน ก็จงหลีกไปแต่คนเดียวเถิด จะพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า.

    [๕๐๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    ชนเหล่าใดมุ่งไปสู่ฝั่ง ย่อมถึงพระนิพพาน อันมิใช่โอกาสของมาร เราถูกชนเหล่านั้นถามแล้ว จักบอกว่า สิ่งใดเป็นความจริง สิ่งนั้นหาอุปธิกิเลสมิได้.

    [๕๐๓] มารทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหมือนอย่างว่ามีสระโบกขรณีในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ในสระนั้นมีปูอยู่ ครั้งนั้น พวกเด็กชายหรือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 72

พวกเด็กหญิงเป็นอันมาก ออกจากบ้านหรือนิคมนั้นแล้วเข้าไปถึงที่สระโบกขรณีนั้นตั้งอยู่ ครั้นแล้วจึงจับปูนั้นขึ้นจากน้ำให้อยู่บนบก พระเจ้าข้า ก็ปูนั้นยังก้ามทุกๆ ก้ามให้ยื่นออก พวกเด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น พึงริดพึงหักพึงทำลายก้ามนั้นเสียทุกๆ ก้ามด้วยไม้หรือก้อนหิน พระเจ้าข้า ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ปูนั้นมีก้ามถูกริด ถูกหัก ถูกทำลายเสียหมดแล้ว ย่อมไม่อาจก้าวลงไปสู่สระโบกขรณีนั้นอีกเหมือนแต่ก่อน ฉันใด อารมณ์แม้ทุกชนิดอันเป็นวิสัยของมาร อันให้สัตว์เสพผิด ทำให้สัตว์ดิ้นรน อารมณ์นั้นทั้งหมด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตัดรอนหักรานย่ำยีเสียหมดแล้ว บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้คอยหาโอกาสย่อมไม่อาจเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อีก ฉันนั้น.

    [๕๐๔] ครั้นแล้ว มารผู้มีบาปได้กล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านั้น ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ฝูงกาเห็นก้อนหินมีสีดุจมันข้น จึงบินเข้าไปใกล้ด้วยเข้าใจว่าเราทั้งหลาย พึงประสบอาหารในที่นี้เป็นแน่ ความยินดีพึงมีโดยแท้.

    เมื่อพยายามอยู่ไม่ได้อาหารสมประสงค์ในที่นั้น จึงบินหลีกไป.

    ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ก็เหมือนกามาพบศิลา ฉะนั้น ขอหลีกไป.

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปครั้นกล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงหลีกจากที่นั้น ไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดินไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ เอาไม้ขีดแผ่นดินอยู่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 73

อรรถกถาสัตตวัสสสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสัตตวัสสสูตรที่ ๔ ต่อไปนี้ :-

    บทว่า สตฺต วสฺสานิ ได้แก่ ก่อนตรัสรู้ ๖ ปี หลังตรัสรู้ ๑ ปี. บทว่า โอตาราเปกฺโข ได้แก่ มารจ้องอยู่นาน อย่างนี้ว่า ถ้าเราเห็นกายทวารเป็นต้น บางทวารของพระสมณโคดมไม่เหมาะสม เราก็จะท้วงเธอ ดังนี้. บทว่า อลภมาโน ได้แก่ ไม่เห็นความผิดพลาดแม้เพียงละอองธุลี. ด้วยเหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวว่า มารผู้มีบาปติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกฝีก้าวอยู่ ๗ ปี ก็ไม่พบความผิดพลาดของพระสัมพุทธเจ้าผู้มีสิริ. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารเข้าไปหาด้วยคิดว่า วันนี้ เราจักมาอภิวาทพระสมณโคดม. ด้วยบทว่า ฌายสิ มารกล่าวว่า ท่านนั่งซบเซาอยู่. บทว่า วิตฺตํนุ ชินฺโน ความว่า ท่านเสื่อมเสียทรัพย์ไปร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง. บทว่า อาคุนฺนุ คามสฺมึ ความว่า ได้กระทำกรรมชั่วไว้นับไม่ถ้วนภายในบ้านท่านไม่อาจมองหน้าของคนอื่นๆ ได้แต่นั่งซบเซา เที่ยวอยู่แต่ในป่าหรือ. บทว่า สกฺขึ ได้แก่ ความเป็นมิตร.

    บทว่า ปลิขาย แปลว่า ขุดแล้ว. บทว่า ภวโลภชปฺปํ ได้แก่ตัณหา กล่าวคือความอยากได้ภพ. บทว่า อนาสโว ฌายามิ ความว่า เราไม่มีตัณหา เพ่งอยู่ด้วยฌานทั้งสอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมารว่า ปมัตตพันธุ จริงอยู่ มารนั้นเป็นพวกพ้องของคนบางพวกที่มัวเมาอยู่ในโลก. บทว่า สเจ มคฺคํ อนุพุทฺธํ ความว่า ผิว่า ท่านตรัสรู้ตามมรรคไซร้. บทว่า อเปหิ ได้แก่ จงไปเสีย. บทว่า อมจฺจุเธยฺยํ ได้แก่ พระนิพพานอันไม่เป็นโอกาสแห่งมัจจุราช. บทว่า ปารคามิโน ความว่า ทั้งคนที่ถึงฝั่งแล้ว ทั้งคนที่ประสงค์จะไปสู่ฝั่ง ก็ชื่อว่า ปารคามิโน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 74

    บทว่า วิสกายิกานิ ได้แก่ อันเป็นไปในส่วนลึกของมาร. บทว่า วิเสวิตานิ ได้แก่ อันบุคคลเสพผิด คือมีเหตุอันกลับกันเสีย เป็นต้นว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อายุของเหล่ามนุษย์น้อย วันและคืนย่อมล่วงไปๆ มารกลับกล่าวเสียว่า อายุของเหล่ามนุษย์ยืนยาว วันและคืนไม่ล่วงไปๆ . บทว่า วิปฺผนฺทิตานิ ได้แก่ แสดงเพศเป็นพระยาช้างและเพศพระยางู เป็นต้นในกาลนั้น. บทว่า นิพฺเพชนียา ได้แก่ ควรเล่าเรียน.

    ในคำว่า อนุปริยคา เป็นต้น ท่านทำเป็นคำอดีต ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ควรทราบความ โดยกำหนดแน่นอน [ปัจจุบัน] . ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า กาเห็นก้อนหินสีเหมือนมันข้น จึงเข้าไปใกล้ก้อนหินนั้น ด้วยคิดว่า พวกเราพบของอ่อนเข้าแล้ว คงจะมีรสอร่อย ครั้นแล้ว กานั้นก็ไม่ได้รสอร่อยที่ก้อนหินนั้น จึงหลีกจากที่นั้น คือต้องหลีกไปเสียจากก้อนหินนั้น ฉันใด แม้พวกข้าพระเจ้า กระทบพระโคดมแล้ว ก็เหมือนกานั้นกระทบก้อนหิน เมื่อไม่ได้ความยินดีหรือความชื่นชม ก็เบื่อหน่ายพระโคดม หลีกไปเสีย ฉันนั้น. อักษรในคำว่า อภาสิตฺวา นี้ เป็นเพียงนิบาต ใจความว่ากล่าวแล้ว. ปาฐะว่า ภาสิตฺวา ก็มี.

    จบอรรถกถาสัตตวัสสสูตรที่ ๔