พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อาฬวิกาสูตร ว่าด้วยมารรบกวนภิกษุณี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36359
อ่าน  439

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 85

ภิกขุนีสังยุต

๑. อาฬวิกาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนภิกษุณี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 85

ภิกขุนีสังยุต

๑. อาฬวิกาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนภิกษุณี

    [๕๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

    ครั้งนั้น เวลาเช้า อาฬวิกาภิกษุณีนุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาต มีความต้องการด้วยวิเวก จึงเข้าไปในป่าอันธวัน.

    [๕๒๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อาฬวิกาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงเข้าไปหาอาฬวิกาภิกษุณีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอาฬวิกาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

    ในโลก ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้ ท่านจักทำอะไรด้วยวิเวก จงเสวยความยินดีในกามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย.

    [๕๒๔] ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 86

    ทันใดนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงกล่าวคาถา.

    ครั้นอาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

    ในโลกนี้มีทางออกไปจากทุกข์ได้ เรารู้ชัดดีแล้วด้วยปัญญา ดูก่อนมารผู้มีบาปซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ท่านไม่รู้จักทางนั้น กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว กองกามทั้งหลายนั้นประหนึ่งว่าฝีร้าย เราไม่ไยดีถึงความยินดีในกามที่ท่านกล่าวถึงนั้น.

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเราดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 87

ภิกขุนีสังยุต

อรรถกถาอาฬวิกาสูตร

    ในภิกขุนีสังยุตอาฬวิกาสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อาฬวิกา ความว่า ผู้เกิดในเมืองอาฬวี และออกบวชจากเมืองอาฬวีนั่นแล. บทว่า อนฺธวนํ ความว่า ป่าที่นับว่าอันธวัน ตั้งแต่เวลาที่พวกโจร ๕๐๐ คน ควักนัยน์ตาทั้งสองของพระอริยบุคคล (อนาคามี) ผู้กล่าวธรรม นามว่ายโสธร ผู้รวบรวมทรัพย์มาเพื่อสร้างพระเจดีย์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ตนเองก็ตาแตกอยู่ในที่นั้นนั่นเอง. เขาว่าป่านั้นเป็นป่าสงวนในเนื้อที่ประมาณคาวุตหนึ่ง ทางด้านทิศทักษิณกรุงสาวัตถี ผู้ที่ต้องการวิเวกและภิกษุณีทั้งหลายก็พากันไปในป่านั้น. เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุณีอาฬวิกานี้ ก็มีความต้องการวิเวก จึงเข้าไปทางป่านั้น. บทว่า นิสฺสรณํ ได้แก่ พระนิพพาน. บทว่า ปญฺาย ได้แก่ ด้วยปัจจเวกขณญาณ. บทว่า น ตฺวํ ชานาสิ ตํ ปทํ ความว่า ท่านไม่รู้ทางพระนิพพาน หรือทางสวรรค์อันไปสู่พระนิพพาน. บทว่า สตฺติสูลูปมา ได้แก่ เสมือนกับหอกและหลาว เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องทิ่มแทง. บทว่า ขนฺธาสํ อธิกุฏฺานา ความว่ากองกามเหล่านั้นเป็นเหมือนฝีร้าย.

    จบอรรถกถาอาฬวิกาสูตรที่ ๑