๕. อุบลวรรณาสูตร ว่าด้วยมารรบกวนอุบลวรรณาภิกษุณี
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 96
๕. อุบลวรรณาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนอุบลวรรณาภิกษุณี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 96
๕. อุบลวรรณาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนอุบลวรรณาภิกษุณี
[๕๓๔] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น เวลาเช้า อุบลวรรณาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรได้ยืนอยู่ที่โคนต้นสาลพฤกษ์ซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง ต้นหนึ่ง.
[๕๓๕] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อุบลวรรณาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาอุบลวรรณาภิกษุณีถึงที่ยืนอยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบลวรรณาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ดูก่อนภิกษุณี ท่านคนเดียว เข้ามายังต้นสาลพฤกษ์ ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งตลอดยอด แล้วยืนอยู่ที่โคนต้นสาลพฤกษ์ ก็ฉวีวรรณของท่านไม่มีที่สอง คนทั้งหลายก็จะมาในที่นี้เช่นท่าน ท่านกลัวความเป็นพาลของพวกนักเลงหรือ.
[๕๓๖] ลำดับนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์.
ทันใดนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา.
ครั้นอุบลวรรณาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 97
แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ ก็ตามเถิด เราไม่สะเทือนขน ไม่สะดุ้ง ดูก่อนมาร ถึงเราคนเดียว ก็ไม่กลัวท่าน. เรานี้จะหายตัวหรือเข้าท้องของท่าน แม้จะยืนอยู่ ณ ระหว่างดวงตาบนดั้งจมูก ท่านจักไม่เห็นเรา.
เราเป็นผู้ชำนาญในจิต อิทธิบาทเราเจริญดีแล้ว เราพ้นแล้วจากเครื่องผูกทุกชนิด เราไม่กลัวท่านดอก ท่านผู้มีอายุ.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุบลวรรณาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 98
อรรถกถาอุบลวรรณาสูตร
ในอุบลวรรณาสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สุสุปฺผิตคฺคํ ความว่า ต้นสาละดอกบานสะพรั่งตั้งแต่ยอด. ด้วยคำว่า น จตฺถิ เต ทุติยา วณฺณธาตุ มารกล่าวว่าวรรณธาตุที่ ๒ อันเสมือนกับวรรณธาตุของท่าน ย่อมไม่มี คือไม่มีภิกษุณีอื่นเสมือนกับท่าน. บทว่า อิธาคตา ตาทิสิกา ภเวยฺยุํ ความว่า ท่านมาในที่นี้ย่อมไม่ได้ความสนิทสนมหรือความรักอะไร ฉันใด แม้ชนเหล่านั้นก็เป็นเสมือนท่านฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า ปขุมนฺตริกายํ ความว่า แม้เราจะยืนอยู่บนดั้งจมูกระหว่างนัยน์ตาทั้งสอง ท่านก็ไม่เห็น. บทว่า วสีภูตมฺหิ แปลว่า ย่อมเป็นผู้ชำนาญ.
จบอรรถกถาอุบลวรรณาสูตรที่ ๕