พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. จาลาสูตร ว่าด้วยมารรบกวนจาลาภิกษุณี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36364
อ่าน  375

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 99

๖. จาลาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนจาลาภิกษุณี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 99

๖. จาลาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนจาลาภิกษุณี

    [๕๓๗] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้น เวลาเช้า. จาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้วจึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.

    [๕๓๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้จาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะจาลาภิกษุณีว่า ดูก่อนภิกษุณี ท่านไม่ชอบใจอะไรหนอ.

    จาลาภิกษุณีตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย.

    [๕๓๙] มารผู้มีบาปกล่าวว่า

    เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลยภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิด.

    [๕๔๐] จาลาภิกษุณีกล่าวว่า

    ผู้เกิดมาก็ต้องตาย ผู้ที่เกิดมาย่อมพบเห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 100

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงความเกิด พระองค์สอนให้เราตั้งอยู่ในสัจจะ เพื่อละทุกข์ทั้งมวล สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดเป็นภาคีแห่งอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้นิโรธ ต้องมาสู่ภพอีก.

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า จาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

อรรถกถาจาลาสูตร

    ในจาลาสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า โก นุ ตํ อิทมาทปยิ ความว่า ใครหนอคือคนพาลมีความรู้น้อย ให้ท่านยึดถือเรื่องนี้. บทว่า ปริเกฺลสํ ได้แก่ ความวุ่นวายซึ่งมีประการต่างๆ แม้อย่างอื่น บัดนี้มารกล่าวคำใดไว้ว่า ใครหนอจะให้เธอยึดถือเอาเรื่องนั้นจึงแสดงคำนั้นว่า คนอันธพาลไม่ให้เรายึดถือ แต่พระศาสดาผู้เป็นอัครบุคคลในโลกแสดงธรรมแล้ว จึงกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺเจ นิเวสยิ ความว่าให้ตั้งอยู่ในพระนิพพานอันเป็นปรมัตถสัจจะ. บทว่า นิโรธํ อปฺปชานนฺตา ได้แก่ ไม่รู้นิโรธสัจจะ.

    จบอรรถกถาจาลาสูตรที่ ๖