๘. สีสุปจาลาสูตร ว่าด้วยมารรบกวนสีสุปจาลาภิกษุ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 103
๘. สีสุปจาลาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนสีสุปจาลาภิกษุณี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 103
๘. สีสุปจาลาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนสีสุปจาลาภิกษุณี
[๕๔๕] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น เวลาเช้า สีสุปจาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.
[๕๔๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาสีสุปจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะสีสุปจาลาภิกษุณีว่า ดูก่อนภิกษุณี ท่านชอบใจทิฏฐิของใครหนอ.
สีสุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบใจทิฏฐิของใครเลย.
[๕๔๗] มารผู้มีบาปกล่าวว่า
ท่านจงใจเป็นคนโล้น ปรากฏตัวเหมือนสมณะ แต่ไฉนท่านไม่ชอบใจทิฏฐิ ท่านประพฤติเรื่องนี้ เพราะความงมงายหรือ.
[๕๔๘] สีสุปจาลาภิกษุณีกล่าวว่า
คนเจ้าทิฏฐิ ภายนอกพระศาสนานี้ ย่อมจมอยู่ในทิฏฐิทั้งหลาย เราไม่ชอบใจธรรมของพวกเขา พวกเขาเป็น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 104
คนไม่ฉลาดต่อธรรม ยังมีพระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติในศากยสกุล หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ ทรงครอบงำส่วนทั้งปวง ทรงบรรเทาเสียซึ่งมาร ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ทรงพ้นแล้วในส่วนทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ มีพระจักษุทรงเห็นธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจคำสอนของพระองค์ท่าน.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า สีสุปจาลาภิกษุณีรู้จักเราดังนี้ จงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 105
อรรถกถาสีสุปจาลาสูตร
ในสีสุปจาลาสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยต่อไปนี้ :-
บทว่า สุมณี วิย ทิสฺสติ ความว่า ท่านปรากฏตัวเหมือนสมณะ. บทว่า กิมิว จรสิ โมมุหา ความว่า เพราะเหตุไรท่านจึงประพฤติเหมือนคนงมงาย. บทว่า อิโต พหิทฺธา ความว่า ภายนอกพระศาสนานี้ . บทว่า ปาสณฺฑา ความว่า เจ้าลัทธิย่อมเหวี่ยงบ่วง คือทิฏฐิลงในจิตของสัตว์ทั้งหลาย.แต่พระศาสนาย่อมปลดเปลื้องบ่วงทั้งหลาย ฉะนั้น จึงไม่กล่าวว่าเจ้าลัทธิ เจ้าลัทธิมีภายนอกพระศาสนานี้ทั้งนั้น. บทว่า สํสีทนฺติ ได้แก่ จม คือติด.
บัดนี้ สีสุปจาลาภิกษุณีเมื่อกล่าวแก้ปัญหาที่ว่า ท่านบวชอุทิศใคร จึงกล่าวว่า อตฺถิ สกฺยกุเล ชาโต เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพาภิภู ความว่า ครอบงำส่วนทั้งหมด มีขันธ์ อายตนะ ธาตุ ภพ กำเนิดและคติเป็นต้น. ชื่อว่า มารนุทะ เพราะบรรเทา คือขับไล่มรณมารเป็นต้น.บทว่า สพฺพตฺถมปราชิโต ความว่า ไม่แพ้ในกิเลสทั้งมวลมีราคะเป็นต้น
หรือในการรบมาร. บทว่า สพฺพตฺถ มุตฺโต ความว่า น้อมไปในธรรมทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้น. บท อสฺสิโต ความว่า อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัยไม่อาศัยแล้ว. บทว่า สพฺพกมฺมกฺขยํ ปตฺโต ความว่า บรรลุพระอรหัต กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง. บทว่า อุปธิสงฺขเย ความว่า ทรงน้อมเป็นอารมณ์ในพระนิพพาน กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ.
จบอรรถกถาสีสุปจาลาสูตรที่ ๘