พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. คารวสูตร ว่าด้วยทรงเคารพธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36370
อ่าน  452

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 127

๒. คารวสูตร

ว่าด้วยทรงเคารพธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 127

๒. คารวสูตร

ว่าด้วยทรงเคารพธรรม

    [๕๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธแถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาประเทศ.

    ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ.

    [๕๖๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระดำริว่า เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิยิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยปัญญายิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 128

สักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติยิ่งกว่าตน ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ยิ่งกว่าตน ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้นแหละ แล้วอาศัยอยู่.

    [๕๖๑] ลำดับนั้น สหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจ ก็อันตรธานไปในพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้อยู่หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนเหยียดอยู่ ฉะนั้น.

    ครั้นแล้ว สหัมบดีพรหมกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดได้มีมาแล้วตลอดกาลอันล่วงแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ก็ทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเองแล้วอาศัยอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดจักมีตลอดกาลไกลอันยังไม่มาถึง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ก็จักทรงสักการะเคารพธรรมนั่งเองแล้วอาศัยอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 129

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ขอจงทรงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละแล้วอาศัยอยู่.

    [๕๖๒] สหัมบดีพรหม ได้กราบทูลดังนี้แล้ว ครั้นแล้วได้กล่าวนิคมคาถาอีก

    พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ยังไม่มีมาก็ดี และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตนหวังความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 130

อรรถกถาคารวสูตร

    ในคารวสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อุทปาทิ ความว่า ความตรึกนี้เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ ๕. บทว่า อคารโว ความว่า เว้นคารวะในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คือไม่ทรงตั้งใครๆ ไว้ในฐานะเป็นที่เคารพ. บทว่า อปฺปติสฺโส ความว่า เว้นจากความยำเกรงคือไม่ทรงตั้งใครๆ ไว้ในฐานะเป็นผู้เจริญที่สุด.

    ในบทว่า สเทวเก เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ชื่อ สเทวกะ. เมื่อถือเอาพวกมารและพรหมด้วยเทวศัพท์ ก็ในคำนี้ ท้าววสวัตดีมารย่อมมีอำนาจเหนือมารและพรหมทั้งหมด ธรรมดาว่าพรหมมีอานุภาพมาก ใช้นิ้วมือนิ้วหนึ่งแผ่รัศมีไปในหนึ่งจักรวาล ใช้ ๒ นิ้วแผ่รัศมีไป ๒ จักรวาล ฯลฯ ใช้ ๑๐ นิ้วแผ่รัศมีไปหมื่นจักรวาล. พรหมผู้มีอานุภาพมากนั้น อย่าได้กล่าวกันว่ามีศีลดีกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ฉะนั้นจึงแยกตรัสว่า สมารเก สพฺรหฺมเก ดังนี้. อนึ่ง ธรรมดาสมณะทั้งหลายเป็นพหูสูตโดยรู้นิกายหนึ่งเป็นต้น มีศีลเป็นบัณฑิต แม้พราหมณ์ทั้งหลายเป็นพหูสูตโดยรู้วิชาดูพื้นที่เป็นต้น สมณพราหนณ์บัณฑิตเหล่านั้นอย่าได้กล่าวกันว่าดีกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ฉะนั้นจึงตรัสว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย ดังนี้. ก็คำว่า สเทวมนุสฺสาย นี้ ตรัสรวบเพื่อแสดงโดยสิ้นเชิง. อีกอย่างหนึ่ง ในคำนี้ ๓ บทข้างต้น ตรัสโดยมุ่งโลก. ๒ บทหลังตรัสโดยมุ่งหมู่สัตว์. บทว่า สีลสมฺปนฺนตรํ ความว่า สมบูรณ์กว่าคือยิ่งกว่าโดยศีล. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในที่นี้ธรรม ๔ ประการมีศีล

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 131

เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระ. วิมุตติญาณทัสสนะเป็นโลกิยะเท่านั้น และวิมุตติญาณทัสสนะนั้นเป็นปัจจเวกขณญาณ.

    บทว่า ปาตุรโหสิ ความว่า ท้าวสหัมบดีพรหมคิดว่า พระศาสดานี้ไม่ทรงเห็นผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์โดยศีลเป็นต้น ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหมทรงดำริว่า เราจักเคารพโลกุตรธรรม ๙ ที่เราบรรลุแล้วนี่แหละอาศัยอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคิดถึงเหตุ ทรงคิดถึงประโยชน์พิเศษ จำเราจักไปทำอุตสาหะให้เกิดแก่พระองค์ ดังนี้แล้วได้ปรากฏองค์ต่อหน้า คือยืนในที่เฉพาะพระพักตร์. ในบทว่า วิหรึสุ วิหรนฺติ จ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า แม้ในปัจจุบันก็มีพระพุทธเจ้ามาก โดยพระบาลีว่า วิหรนฺติ ดังนี้ผู้นั้น พึงถูกคัดค้านด้วยคำนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พึงแสดงแก่ผู้นั้นว่าพระพุทธเจ้าอื่นๆ ไม่มี โดยพระบาลีเป็นต้นว่า

    เราไม่มีอาจารย์ คนเสมือนเราไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีคนทัดเทียมเรา ดังนี้.

    บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นผู้เคารพพระสัทธรรม. บทว่า มหตฺตมภิกงฺขตา ได้แก่ปรารถนาความเป็นใหญ่. บทว่า สรํ พุทฺธานสาสนํ ได้แก่ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

    จบอรรถกถาคารวสูตรที่ ๒