พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยโกกาลิกสูตร ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุตกปทุมนรก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36378
อ่าน  558

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 167

๑๐. ทุติยโกกาลิกสูตร

ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุตกปทุมนรก


อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 167

๑๐. ทุติยโกกาลิกสูตร

ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุตกปทุมนรก

    [๕๙๘] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้นแล พระโกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    พระโกกาลิกภิกษุนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    พระเจ้าข้า พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามกตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก.

    [๕๙๙] เมื่อพระโกกาลิกภิกษุกล่าวเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้กะพระโกกาลิกภิกษุว่า

    โกกาลิก ก็เธออย่าได้กล่าวเช่นนี้ โกกาลิก ก็เธออย่าได้กล่าวเช่นนี้ โกกาลิก เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ ภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก.

    แม้ครั้งที่สองแล พระโกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    พระเจ้าข้า บุคคลผู้มีวาจาควรเชื่อได้ควรไว้ใจได้ของข้าพระองค์จะมีอยู่ก็จริง ถึงเช่นนั้นแล พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็ยังเป็นผู้ปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก.

    แม้ครั้งที่สองแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้กะพระโกกาลิกภิกษุว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 168

    โกกาลิก ก็เธออย่าได้กล่าวเช่นนี้ โกกาลิก ก็เธออย่าได้กล่าวเช่นนี้ โกกาลิก เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ ภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก.

    แม้ครั้งที่สามแล พระโกกาลิกภิกษุก็ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ฯลฯ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก

    แม้ครั้งที่สามแล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสคำนี้กะพระโกกาลิกภิกษุว่า ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก.

    [๖๐๐] ลำดับนั้นแล พระโกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว.

    ก็เมื่อพระโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นาน ต่อมทั้งหลายขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้ผุดขึ้นทั่วกายของเธอ ต่อมเหล่านั้นได้โตขึ้นเป็นขนาดถั่วเขียวแล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดถั่วดำ แล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดเมล็ดพุดทรา แล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดลูกพุดทรา แล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดผลมะขามป้อม แล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดผลมะตูมอ่อน แล้วก็โตขึ้นเป็นขนาดผลมะตูม ต่อจากนั้นก็แตกทั่ว แล้วหนองและเลือดหลั่งไหลออกแล้ว.

    ครั้งนั้นแล พระโกกาลิกภิกษุได้การทำกาละแล้ว เพราะอาพาธอันนั้นเอง ครั้นกระทำกาลแล้วก็เข้าถึงปทุมนรก (๑) เพราะจิตอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ.

    [๖๐๑] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อราตรีปฐมยามล่วงแล้วมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


    ๑. ปทุนนรก เป็นส่วนหนึ่งแห่งมหานรกอเวจี ผู้ที่เกิดในมหานรกอเวจีส่วนนี้จะต้องหมกไหม้อยู่สิ้นกาลปทุมหนึ่ง ปทุมนั้นเป็นสังขยาซึ่งมีจำนวนสูญ ๑๒๔ สูญ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 169

    ท้าวสหัมบดีพรหมยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    พระเจ้าข้า พระโกกาลิกภิกษุได้กระทำกาละแล้ว และเข้าถึงแล้วซึ่งปทุมนรก เพราะจิตอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ.

    ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นแล.

    [๖๐๒] ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมเมื่อราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้วไหว้เราแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคำนี้กะเราว่า พระเจ้าข้า พระโกกาลิกภิกษุได้การทำกาละแล้วเข้าถึงแล้วซึ่งปทุมนรก เพราะจิตอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ.

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้วไหว้เรากระทำประทักษิณ แล้วหายไปในที่นั้นเอง.

    [๖๐๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ประมาณแห่งอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ประมาณแห่งอายุในปทุมนรกนานแล การที่จะนับว่าเท่านี้ปี หรือว่าเท่านี้ร้อยปี หรือว่าเท่านี้พันปี หรือว่าเท่านี้แสนปี ไม่ใช่การทำได้ง่าย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 170

    ภิกษุนั้นทูลถามว่า พระเจ้าข้า พระองค์อาจที่จะทรงอุปมาได้หรือ.

    [๖๐๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เราอาจอยู่ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศลซึ่งบรรทุกงาได้ ๒๐ ขารี (๑) บุรุษพึงเก็บงาขึ้นจากเกวียนนั้นโดยล่วงร้อยปีๆ ต่อเมล็ดหนึ่งๆ.

    ดูก่อนภิกษุ เกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศลซึ่งบรรทุกงาได้ ๒๐ ขารีนั้นพึงถึงความสิ้นไปหมดไป เพราะความเพียรนี้เร็วกว่า ส่วนอัพพุทนรกหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นหมดไปเลย.

    ดูก่อนภิกษุ ๒๐ อัพพุทนรกเป็นหนึ่งนิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรกเป็นหนึ่งอพพนรก ๒๐ อพพนรกเป็นหนึ่งกฏฏนรก ดูก่อนภิกษุ ๒๐ อฏฏนรกเป็นหนึ่งอหหนรก ๒๐ อหหนรกเป็นหนึ่งกุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรกเป็นหนึ่งโสคันธิกนรก ดูก่อนภิกษุ ๒๐ โสคันธิกนรกเป็นหนึ่งอุปปลกนรก ๒๐ อุปปลกนรกเป็นหนึ่งปุณฑริกนรก ๒๐ ปุณฑริกนรกเป็นหนึ่งปทุมนรก ดูก่อนภิกษุ ก็ภิกษุโกกาลิกเข้าถึงปทุมนรกแล้วแล เพราะจิตอาฆาตในภิกษุ ชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ.

    [๖๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ชนพาลเมื่อกล่าวคำเป็นทุพภาษิต ชื่อว่าย่อมตัดตนด้วยศัสตราใด ก็ศัสตรานั้นย่อมเกิดในปากของบุรุษผู้เกิดแล้ว ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรถูกติ หรือติผู้ที่ควร


    ๑. ๒๐ ขารีเท่า ๑ เกวียน คือ ๔ แล่งโดยแล่งที่เป็นของชาวมคธ เป็นหนึ่งแล่งในแคว้นโกศล ๔ แล่งโดยนั้นเป็นหนึ่งอาฬหก ๔ อาฬหกเป็นหนึ่งทะนาน ๔ ทะนานเป็นหนึ่งมาณิกา ๔ มาณิกาเป็นหนึ่งขารี ๒๐ ขารีเป็นหนึ่งเกวียน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 171

ได้รับความสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมโทษด้วยปาก เพราะโทษนั้น เขาย่อมไม่ประสบความสุข.

    ความปราชัยด้วยทรัพย์ในเพราะการพนันทั้งหลาย พร้อมด้วยสิ่งของของตนทั้งหมดก็ดี พร้อมด้วยตนก็ดี ก็เป็นโทษเพียงเล็กน้อย.

    บุคคลใดทำใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีทั้หลาย ความประทุษร้ายแห่งใจของบุคคลนั้นเป็นโทษใหญ่กว่า.

    บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้ เป็นผู้มักติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกซึ่งมีปริมาณแห่งอายุถึงแสนสามสิบหกนิรัพพุทะ กับห้าอัพพุทะ.

    จบทุติยโกกาลิกสูตร

    จบปฐมวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 172

อรรถกถาทุติยโกกาลิกสูตร

    ในทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า โกกาลิโก ภิกฺขุ เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ถามว่า โกกาลิกนี้เป็นใคร และเหตุไรจึงเข้าไปเฝ้า. ตอบว่า ได้ยินว่า ผู้นี้เป็นบุตรโกกาลิกเศรษฐี ในโกกาลิกนคร โกกาลิกรัฐ บวชแล้วอาศัยอยู่ในวิหารที่บิดาสร้างไว้ มีชื่อว่า จูฬโกกาลิก มิใช่เป็นศิษย์ของพระเทวทัต. ฝ่ายรูปที่เป็นศิษย์ของพระเทวทัตนั้นเป็นบุตรพราหมณ์ มีชื่อว่า มหาโกกาลิก. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี พระอัครสาวกทั้งสองพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จาริกไปในชนบท เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษาประสงค์จะอยู่อย่างสงบ จึงส่งภิกษุเหล่านั้นไป ตนเองถือบาตรจีวร ถึงนครนั้นในชนบท ได้ไปสู่วิหารนั้น. แลในที่นั้น โกกาลิกภิกษุได้แสดงวัตรแก่พระอัครสาวกทั้งสอง พระอัครสาวกทั้งสองชื่นชมกับพระโกกาลิกนั้นกล่าวว่า อาวุโส พวกเราจักอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาส ท่านอย่าได้บอกแก่ใครๆ แล้วถือปฏิญญาอยู่. ครั้นอยู่จำพรรษาปวารณาในวันปวารณาแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองจึงบอกลาภิกษุโกกาลิกว่า อาวุโส เราจะไปละ. ภิกษุโกกาลิกกล่าวว่าอาวุโส พวกท่านอยู่ในวันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ก็จักไป ดังนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงเข้าเมือง บอกพวกมนุษย์ว่า อาวุโส พระอัครสาวกมาอยู่ในที่นี้ พวกท่านไม่รู้. ไม่มีใครถวายปัจจัยสี่เลย. พวกชาวเมืองกล่าวว่า ท่านขอรับ พระเถระอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่บอกพวกเรา. ภิกษุโกกาลิกกล่าวว่า อาวุโส บอกแล้วจะมีประโยชน์อะไร พวกท่านไม่เห็นภิกษุ ๒ รูปที่นั่งบนเถระอาสน์หรือนั่นแหละพระอัครสาวก. พวกมนุษย์รีบประชุมกัน รวบรวมเนยใสน้ำอ้อยเป็นต้นและผ้าจีวร.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 173

    ภิกษุโกกาลิกคิดว่า พระอัครสาวกเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง จักไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นด้วยวาจาที่ประกอบขึ้น เมื่อไม่ยินดี ก็จักบอกว่า ท่านทั้งหลายจงถวายแก่ภิกษุที่อยู่ประจำอาวาส ดังนี้ ให้พวกมนุษย์พากันถือลาภนั้นๆ ไปสำนักของพระเถระทั้งสอง. พระเถระทั้งสองเห็นดังนั้น จึงห้ามว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่ควรแก่พวกเรา ไม่ควรแก่ภิกษุโกกาลิก ดังนี้แล้วหลีกไป. ภิกษุโกกาลิกเกิดอาฆาตขึ้นว่า มันเรื่องอะไรกัน พระอัครสาวกทั้งสอง เมื่อตนเองไม่รับยังไม่ให้พวกมนุษย์ถวายแก่เราแล้วหลีกไป. แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วพาบริษัทของตนเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้วกลับมายังเมืองนั้นในรัฐนั้นตามลำดับ. ชาวเมืองจำพระเถระได้ ตระเตรียมทานพร้อมทั้งเครื่องบริขารทั้งหลาย สร้างมณฑปกลางเมืองถวายทาน. และน้อมบริขารทั้งหลายเข้าไปถวายพระเถระ. พระเถระได้มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุโกกาลิกเห็นดังนั้น คิดว่า เมื่อก่อนพระอัครสาวกเหล่านี้ได้เป็นผู้ปรารถนาน้อย บัดนี้กลายเป็นผู้ปรารถนาลามก แม้ในกาลก่อน ทำทีเสมือนผู้มักน้อยสันโดษและชอบสงัด จึงเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า อาวุโส เมื่อก่อนท่านเป็นเหมือนมักน้อย แต่บัดนี้ท่านกลายเป็นภิกษุลามก คิดว่า จำเราจักทำลายที่พึ่งของพระอัครสาวกเหล่านั้นขั้นรากฐานทีเดียว รีบออกไปยังกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. ภิกษุโกกาลิกนี้พึงทราบว่า เข้าเฝ้าเพราะเหตุนี้เอง.

    พระผู้มีพระภาคเจ้า พอทอดพระเนตรเห็นภิกษุโกกาลิกกำลังมาโดยรีบด่วน ทรงรำพึงก็ทราบว่า ภิกษุโกกาลิกนี้ ประสงค์จะด่าพระอัครสาวกจึงได้มา. และทรงรำพึงว่า เราอาจห้ามได้ไหมหนอ ทรงเห็นว่าไม่อาจห้ามได้ ภิกษุโกกาลิกนี้ทำผิดในพระเถระทั้งหลายจึงมา ตายแล้วจักเกิดในปทุมนรกโดยส่วนเดียว เพื่อจะเปลื้องวาทะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบบุคคลผู้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 174

ติเตียนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะแล้วยังห้ามไม่ได้ และเพื่อจะแสดงการกล่าวร้ายพระอริยะว่ามีโทษมาก จึงทรงห้ามว่า มา เหวํ ดังนี้ ถึง ๓ ครั้ง.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เหวํ ความว่า เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย. บทว่า สทฺธายโก ความว่า ผู้ทำตนให้เป็นที่มาแห่งศรัทธา ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีคำอันบุคคลพึงเชื่อได้. บทว่า ปจฺจยิโก ความว่า ผู้มีถ้อยคำที่จะพึงยึดเป็นที่อาศัยได้.

    บทว่า อจิรปกฺกนฺตสฺส ความว่า เมื่อภิกษุโกกาลิกหลีกไปไม่นานนัก. บทว่า สพฺโพ กาโย ผุฏฺโ อโหสิ ความว่า ต่อมทั้งหลายผุดขึ้นทำลายกระดูกทั่วร่าง ไม่เว้นที่ว่างแม้เพียงปลายเส้นผม. ก็เพราะกรรมเห็นปานนั้น ไม่ให้ผลในขณะที่อยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยพุทธานุภาพ พอพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว ย่อมให้ผล ฉะนั้น เมื่อภิกษุโกกาลิกนั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ต่อมทั้งหลายจึงผุดขึ้น.

    บทว่า ปกฺกามิ ความว่า ภิกษุโกกาลิกถูกอานุภาพแห่งกรรมตักเตือนจึงหลีกไป. จริงอยู่ใครๆ ไม่อาจที่จะห้ามกรรมที่ทำโอกาสแล้ว กรรมนั้นไม่ให้ภิกษุโกกาลิกนั้นอยู่ในที่นั้น. บทว่า กฬายมตฺติโย ได้แก่ ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว. บทว่า เวลุวสลาฏุกมตฺติโย ได้แก่ ประมาณเท่าผลมะตูมอ่อน บทว่า ปภิชฺชึสุ แปลว่า แตกแล้ว. เมื่อต่อมเหล่านั้นแตกแล้ว สรีระทิ้งสิ้นของภิกษุโกกาลิกนั้นก็สุกเละ เธอมีตัวสุกเละ นอนบนใบตองที่ซุ้มประตูพระเชตวันเหมือนปลาที่ถูกยาพิษ ลำดับนั้น พวกมนุษย์ที่พากันมาฟังธรรมกล่าวว่า ภิกษุโกกาลิกได้ทำกรรมที่ไม่สมควร ถึงความพินาศเพราะอาศัยปากคมดังมีดของตนนั่นเอง. พวกอารักขเทวดาได้ฟังพวกมนุษย์เหล่านั้น ได้กระทำการติเตียน. อากาสเทวดาได้ฟังอารักขเทวดา ได้กระทำการติเตียน ได้เกิดการติเตียนอย่างเดียวกัน จนถึงอกนิฏฐภพโดยอุบายนี้ ด้วยประการฉะนี้ ครั้งนั้น อุปัชฌาย์ของเธอ มารู้ว่า เธอไม่รับโอวาทติเตียนแล้วหลีกไป.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 175

    บทว่า กาลมกาสิ ความว่า เมื่ออุปัชฌาย์หลีกไป ภิกษุโกกาลิกได้ทำกาละแล้ว. บทว่า ปทุมนิรยํ ความว่า ชื่อว่าปทุมนรกไม่มีเฉพาะแต่อย่างเดียว. ภิกษุโกกาลิกเกิดในที่หนึ่งในอวีจิมหานรกที่จะพึงหมกไหม้ โดยการคำนวณปทุมหนึ่ง (ปทุมนั้นเป็นสังขยาซึ่งมีจำนวนสูญ ๑๒๔ สูญ).

    บทว่า วีสติขาริโก ได้แก่ ๔ แล่งชาวมคธ เป็น ๑ แล่ง ในโกศลรัฐ. ๔ แล่ง โดยแล่งนั้น เป็น ๑ อาฬหกะ ๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ (ทะนาน). ๔ โทณะ เป็น ๑ มานิกะ (เครื่องตวง). ๔ มานิกะ เป็น ๑ ขาริ โดยขารินั้น เป็น ๒๐ ขาริกะ. บทว่า ติลวาโห ได้แก่ เกวียนบรรทุกงาเมล็ดเล็กๆ ของชาวมคธะ บทว่า อพฺพุโท นิรโย ได้แก่ ที่ชื่อว่า อัพพุทะ มิใช่ส่วนหนึ่งแห่งนรก. แต่คำนี้เป็นชื่อสถานที่จะพึงไหม้ในอวีจิมหานรกนั่นเอง โดยการนับอัพพุทะ. แม้ในคำว่า นิรัพพุทะเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน

    ก็แม้จำนวนปีในข้อนี้ ก็พึงทราบอย่างนี้. เหมือนอย่างว่า ร้อยแสนเป็นโกฏิหนึ่ง ฉันใด ร้อยแสนโกฏิ ชื่อว่า เป็นปโกฏิหนึ่ง ฉันนั้น ร้อยแสนโกฏิ เป็นโกฏิปโกฏิ ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ เป็นนหุตหนึ่ง ร้อยแสนนหุตเป็นนินนหุต ร้อยแสนนินนหุต เป็นอัพพุทะหนึ่ง จากนั้น เอายี่สิบคูณเป็นนิรัพพุทะหนึ่ง. ในบททั้งปวง ก็มีนัยนี้เหมือนกันแล.

    จบอรรถกถาทุติยโกกาลิกสูตรที่ ๑๐

    จบปฐมวรรคที่ ๑

รวมพระสูตรในปฐมวรรคนี้ มี ๑๐ สูตร คือ

    ๑. อายาจนสูตร ๒. คารวสูตร ๓. พรหมเทวสูตร ๔. พกพรหมสูตร ๕. อปราทิฏฐิสูตร ๖. ปมาทสูตร ๗. ปฐมโกกาลิกสูตร ๘. ติสสกสูตร ๙. ตุทุพรหมสูตร ๑๐. ทุติยโกกาลิกสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.