อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา [เกสสปุตตสูตร]

 
webdh
วันที่  5 พ.ค. 2550
หมายเลข  3638
อ่าน  1,703

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 344

ข้อความบางตอนจาก ..เกสสปุตตสูตร

พ. เราได้กล่าวคำใดว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัย คือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อสุข ดังนี้ ท่านควรถึงพร้อมธรรมเหล่านั้นอยู่เมื่อนั้น ดังนี้ คำนั้นเราได้อาศัยความข้อนี้แลกล่าวแล้ว.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิสระ
วันที่ 5 พ.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 5 พ.ค. 2550

เรื่อง เมื่อรู้เห็นเองในธรรมจึงเชื่อ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 73

๕. ปุพพโกฏฐกสูตร

พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า

[๙๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปุพพโกฎฐกะ ใกล้กรุงสาวัตถีณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้ว ตรัสว่า [๙๘๔] ดูก่อนสารีบุตร เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

[๙๘๕] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมจิตหยั่งสู่อมตะมีอมตะเป็นเบื้องหน้ามีอมตะเป็นที่สุด ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น

ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหลั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ก็แลอมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้วทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่าสัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมหลั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

[๙๘๖] พ. ดีละๆ สารีบุตร ด้วยว่าอมตะนั้นชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็นไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหลั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ก็แลอมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้ว ด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น หมดความเคลือบแคลง สงสัยในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด. จบปุพพโกฏฐกสูตรที่ ๔

อรรถกถาปุพพโกฏฐกสูตร

ปุพพโกฏฐกสูตรที่ ๔.

คำว่า หยั่งลงสู่อมตะคือ สู่ภายในอมฤต. คำว่า มีอมตะเป็นเบื้องหน้าคือ ที่เกิดจากอมตะ สำเร็จจากอมตะ.

คำว่า มีอมตะเป็นที่สุดคือ สิ้นสุดที่อมตะ.

คำว่า สาธุ สาธุ ดีละๆ คือ เมื่อจะทรงสรรเสริญคำพยากรณ์ของพระเถระ ก็ประทานสาธุการ.

จบอรรถกถาปุพพโกฏฐกสูตรที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 พ.ค. 2550

ไม่ใช่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่หลังจากที่ไ้ด้ฟังธรรมแล้วให้พิจารณาด้วยว่าสิ่งใดมีคุณ สิ่งใดมีโทษ นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 30 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ