พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปรินิพพานสูตร ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36383
อ่าน  536

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 189

๕. ปรินิพพานสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรินิพพาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 189

๕. ปรินิพพานสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

    [๖๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สาลวัน แห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย อันเป็นทางกรุงกุสินารา ระหว่างแห่งสาลพฤกษ์ทั้งคู่ในสมัยจะเสด็จปรินิพพาน.

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอาเถิด บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ดังนี้ นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของพระตถาคต.

    [๖๒๑] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากททุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ออกจากวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ออกจากวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 190

แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น.

    [๖๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า

    สัตว์ทุกหมู่เหล่า จักทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก พระตถาคตผู้ศาสดา ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก ถึงแล้วซึ่งกำลังพระญาณเป็นพระสัมพุทธะเช่นนี้ ยังปรินิพพานแล้ว.

    [๖๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของทวยเทพได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า

    สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข.

    [๖๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคาถานี้พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า

    เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงปรินิพพานแล้ว ความสยดสยอง (และ) ความชูชันแห่งขนได้มีแล้วในกาลนั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 191

    [๖๒๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธะได้กล่าวคาถานี้ พร้อมกับกาลเป็นที่ปรินิพพานว่า

    ลมอัสสาสปัสสาสะ (หายใจเข้าออก) มิได้มีแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่นคงที่ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจักษุไม่ทรงหวั่นไหว ทรงปรารภสันติปรินิพพานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจิตไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาเสียได้ ความพ้นแห่งจิตได้มีแล้ว เหมือนความดับแห่งประทีป ฉะนั้น.

    จบปรินิพพานสูตร

    จบพรหมปัญจกะ

อรรถกถาปรินิพพานสูตร

    ในปรินิพพานสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อุปวตฺตเน มลฺลานํ สาลวเน ความว่า สาลวโนทยานอยู่ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ ชื่อว่าหิรัญญวดี เหมือนทางไปถูปารามทางประตูราชมาตุวิหารแต่ฝั่งแม่น้ำกัทธัมพะ. สาลวโนทยานนั้น อยู่ในกรุงกุสินารา เหมือนถูปารามแห่งอนุราธบุรี. แถวต้นสาละจากสาลวโนทยานมุ่งไปทางทิศปราจีนออกทางทิศอุดร เหมือนทางที่ไปสู่พระนครโดยประตูด้านทิศทักษิณ จากถูปารามตรงไปทางด้านปราจินทิศ ออกทางทิศอุดรฉะนั้น. เพราะฉะนั้น สาล-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 192

วโนทยานนั้น ท่านจึงเรียกว่า ทางโค้ง. ในสาลวันของเจ้ามัลละอันเป็นทางโค้งนั้น. บทว่า อนฺตเรน ยมกสาลานํ ความว่า ในระหว่างแห่งต้นสาละที่ยืนต้นเกี่ยวกันและกัน ทางรากลำต้นค่าคบและใบ. บทว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยความไม่อยู่ปราศจากสติ. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมเหนือพระแท่นปรินิพนานจึงทรงใส่พระโอวาททั้งหมดที่ทรงประทานมา ๔๕ พรรษาลงในบทอัปปมาทธรรมบทเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างกุฏุมพีผู้มีทรัพย์มาก ผู้นอนบนเตียงเป็นที่ตาย พึงบอกทรัพย์อันเป็นสาระแก่บุตรทั้งหลาย ฉะนั้น. ก็คำว่า อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมวาจา นี้ เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.

    เบื้องหน้าแต่นี้ เพื่อจะแสดงถึงบริกรรมแห่งปรินิพพานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำแล้วปรินิพพาน พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า อถโข ภควา ปมชฺฌานํ ดังนี้เป็นต้น. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ในที่นั้น เทพดาและมนุษย์เห็นความไม่เป็นไปของลมอัสสาสปัสสาสะจึงได้ร้องขึ้นพร้อมกันด้วยเข้าใจว่า พระศาสดาปรินิพพานเสียแล้ว. ฝ่ายพระอานนทเถระ ถามพระอนุรุทธเถระว่า ท่านอนุรุทธะเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือหนอ. พระอนุรุทธเถระ ตอบว่า อาวุโส อานนท์ พระตถาคตยังไม่ปรินิพพาน แต่พระองค์ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. ถามว่า ท่านพระอนุรุทธะ รู้ได้อย่างไร. ตอบว่า เล่ากันมาว่า พระเถระเข้าสมาบัตินั้นๆ พร้อมกับพระศาสดาที่เดียว ไปจนถึงออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ได้รู้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติและชื่อว่า การทำกาละภายในนิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มี.

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเข้าปฐมฌานในฐานะ ๒๔ ในคำนี้ว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ แล้วเข้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 193

เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ ออกจากตติยฌาน แล้วเข้าจตุตถฌาน. ในฐาน ๑๓ เข้าทุติยฌาน ตติยฌานก็เหมือนกัน ในฐาน ๑๕ ทรงเข้าจตุตถฌาน. เข้าอย่างไร? ก่อนอื่น ทรงเข้าปฐมฌาน ในฐานะ ๒๔ เหล่านี้ คือ อสุภ ๑๐ อาการ ๓๒ (๑) กสิณ ๘ เมตตา กรุณา มุทิตา อานาปานัสสติ ๑ ปริจเฉทากาสกสิณ ๑. แต่ทรงเว้นอาการ ๓๒ อสุภ ๑๐ ทรงเข้าทุติยฌานและตติยฌาน ในบรรดาฌาน ๑๓ ที่เหลือ. อนึ่ง ทรงเข้าจตุตถฌานในฐานะ ๑๕ เหล่านี้ คือ กสิณ ๘ อุเบกขาพรหมวิหาร ๑ อานาปานัสสติ ๑ ปริจเฉทากาสกสิณ ๑ อรูปฌาน ๔. ก็กถาโดยสังเขปเพียงเท่านี้. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมเสด็จเข้าสู่นครนิพพาน ทรงเข้าสมาบัติทั้งหมดนับได้ ๒๔ แสนโกฎิ แล้วเข้าเสวยสุขในสมาบัติทั้งหมด เหมือนคนไปสู่ต่างประเทศสวมกอดคนที่เป็นญาติ.

    ก็ในคำว่า จตุตฺถชฺฌานา วุฏฺหิตฺวา สมนนฺตรา ภควา ปรินิพฺพุโต นี้ ความว่า. มีลำดับ ๒ อย่างคือ ลำดับแห่งฌาน ๑ ลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ ๑. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากจตุตถฌาณหยั่งลงสู่ภวังคจิต แล้วปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง ชื่อว่าลำดับแห่งฌาน. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากจตุตถฌานแล้วพิจารณาองค์ฌานซ้ำอีกหยั่งลงสู่ภวังคจิตแล้วปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง ชื่อว่าลำดับแห่งปัจจเวกขณญาณ. ลำดับ ๒ อย่างดังว่ามานี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าฌานแล้ว ออกจากฌานแล้วทรงพิจารณาองค์ฌานปรินิพพานด้วยอัพยากตทุกขสัจจะอันเป็นภวังคจิต. ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกโดยที่สุดกระทั่งมดดำมดแดงทั้งหมดย่อมทำกาละด้วยอัพยากตทุกขสัจจะอันเป็นภวังคจิตทั้งนั้น ฉะนี้แล.

    บทว่า ภูตา แปลว่า หมู่สัตว์. บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล ได้แก่ เว้นจากบุคคลผู้จะเปรียบเทียบ. บทว่า พลปฺปตฺโต ได้แก่ ผู้บรรลุพลญาณ


    ๑. อาการ ๓๒ นับเป็น ๑ ฐาน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 194

๑๐. บทว่า อุปฺปาทวยธมฺมิโน ได้แก่ มีการเกิดและการดับเป็นสภาวะ. บทว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความว่า พระนิพพานกล่าวคือการเข้าไปสงบแห่งสังขารเหล่านั้นนั่นเองเป็นสุข. ด้วยคำว่า ตทาสิ ท่านกล่าวหมายเอาแผ่นดินไหวที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตรอย่างนี้ว่า แผ่นดินใหญ่ไหวย่อมมีพร้อมกับปรินิพพาน ความจริงแผ่นดินใหญ่ไหวนั้นให้เกิดขนพองสยองเกล้าและมีอาการน่าสะพึงกลัว. บทว่า สพฺพาการวรูเปเต ได้แก่ประกอบด้วยการกระทำอันประเสริฐโดยอาการทั้งปวง. บทว่า นาหุ อสฺสาสปสฺสาโส ได้แก่ลม อัสฺสาสปัสสาสะ ไม่เกิด. บทว่า อเนโช ความว่า ชื่อว่า อเนชะเพราะไม่มีกิเลสชาติเครื่องหวั่นไหวกล่าวคือตัณหา. บทว่า สนฺติมารพฺภได้แก่อาศัยคือหมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน. บทว่า จกฺขุมา ได้แก่ ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕. บทว่า ปรินิพฺพุโต ได้แก่ ปรินิพพานด้วยขันธปรินิพพาน. บทว่า อสลฺลีเนน ได้แก่ มีจิตไม่หดหู่ ไม่คดงอ คือเบิกบานด้วยดีนั่นเอง. บทว่า เวทนํ อชฺฌาวสยิ ได้แก่ อดกลั้นเวทนา ไม่คล้อยตามเวทนากระสับกระส่ายไปข้างโน้นข้างนี้. บทว่า วิโมกฺโข ได้แก่ หลุดพ้น ไม่มีเครื่องกีดขวาง. อธิบายว่า เข้าถึงความไม่มีบัญญัติโดยประการทั้งปวง เป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงดับไป ฉะนี้แล.

    จบอรรถกถาปรินิพพานสูตรที่ ๕ วรรคที่ ๒ แห่งพรหมสังยุต เพียงเท่านี้

รวมพระสูตร

    พรหมปัญจกะนี้ พระธรรมสังคาหกาจารย์ แสดงด้วย ๑. สนังกุมารสูตร๒. เทวทัตตสูตร ๓. อันธกวินทสูตร ๔. อรุณวตีสูตร ๕. ปรินิพพานสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา