พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อสุรินทกสูตร ว่าด้วยอสุรินทกพราหมณ์ด่าพระพุทธเจัา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36386
อ่าน  543

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 206

๓. อสุรินทกสูตร

ว่าด้วยอสุรินทกพราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 206

๓. อสุรินทกสูตร

ว่าด้วยอสุรินทกพราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้า

    [๖๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวันอันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.

    อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณภารทวาชโคตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ ด่า บริภาษ พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ. เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงนิ่งเสีย.

    ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว.

    [๖๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงความอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 207

ชื่อว่า ย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นคนเขลา ดังนี้.

    [๖๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ

    อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ท่านอสุรินทกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร จิตมั่นคง ไม่นานเท่าไรนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอสุรินทกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 208

อรรถกถาอสุรินทกสูตร

    ในอสุรินทกสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อสุรินฺทกภารทฺวาโช ได้แก่ น้องชายของอักโกสกภารทวาชพราหมณ์. บทว่า กุปิโต ความว่า เป็นผู้โกรธ เพราะเหตุนั้นนั่นแล.บทว่า ชยญฺเจวสฺส ตํ โหติ ความว่า นั้นเป็นชัยชนะของผู้นั้นนั่นเอง. อธิบายว่า นั้นเป็นชัยชนะ. ถามว่า เป็นชัยชนะของบุคคลเช่นไร. ตอบว่าความอดกลั้นอันใดของผู้รู้แจ้ง ความอดกลั้น คือ ความอดทนของผู้รู้แจ้งคุณด้วยความอดกลั้นอันนั้น นี้เป็นชัยชนะของผู้รู้แจ้งนั้นนั่นแล. ส่วนชนพาลกล่าวคำหยาบ ย่อมสำคัญชัยชนะอย่างเดียวว่า เป็นชัยชนะของเรา.

    จบอรรถกถาอสุรินทกสูตรที่ ๓