เวลาที่เป็นฤกษ์ดี [สุปุพพัณหสูตร]

 
webdh
วันที่  5 พ.ค. 2550
หมายเลข  3639
อ่าน  1,476

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 591

๑๐. สุปุพพัณหสูตร ว่าด้วยเวลาที่เป็นฤกษ์ดี

[๕๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้นสัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 5 พ.ค. 2550

เรื่อง มัวแต่หาฤกษ์แต่งาน เลยไม่ได้แต่ง

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 49 ๙. นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์ [๔๙] " ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัว คอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้." จบ นักขัตตชาดกที่ ๙

อรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหา-วิหาร ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นกฺขตฺต ปฏิมาเนนฺต เป็นอาทิ. ได้ยินว่า กุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปขอกุลธิดานางหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่าในวันโน้น จักมารับเอาตัวไป ครั้นถึงวันนัดจึงถามอาชีวก ผู้เข้าไปสู่ตระกูลของตนว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ. อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่าคนผู้นี้ครั้งแรกไม่ถามเราเลย บัดนี้เลยวันไปแล้วกลับมาถามเราเอาเถิด จักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง จึงพูดว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคลในวันนี้เลย ถ้าขืนทำ จักพินาศ ใหญ่. พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่ออาชีวกนั้น ไม่ไปรับตัวในวันนั้น. ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกนั้นมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา แม้การงานของพวกเราก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว เรื่องอะไรจักต้องไปคอยพวกนั้น จักยกธิดาของเราให้คนอื่นไป แล้วก็ยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไป ด้วยการมงคลที่เตรียมไว้นั้นแหละ. ครั้นวันรุ่งขึ้นพวกที่ขอไว้ก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้พวกเราเถิด. ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถี ก็พากันบริภาษพวกนั้นว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสียไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากันนั่นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นแล้ว. พวกชาวบ้านนอก ก็พากันทะเลาะกับชาวเมืองครั้นไม่ได้เจ้าสาว ก็ต้องพากันไปตามทางที่มานั่นเอง. เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคล ของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันตัวไปในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภา นั่งพูดกันว่า อาวุโสทั้งหลาย อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของตระกูลเสียแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอกำลังสนทนากันด้วย เรื่องอะไร ? ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกกระทำอันตราย งานมงคลของตระกูลนั้นเสีย แม้ในกาลก่อนก็โกรธคนเหล่านั้นกระทำอันตรายงานมงคลเสียแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนด วันแล้ว ถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ. อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา คิดต่อไปว่า ในวันนี้เราจักทำการขัดขวางงานของตนเหล่านั้นเสีย แล้วกล่าวว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่. คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวกจึงไม่ไปรับเจ้าสาว. ชาวชนบททราบว่า พวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่น. รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่าเป็นชาวเมือง แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไป. ชาวเมืองกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดี จึงไม่มาจงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด. ชาวชนบทแย้งว่า เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้อย่างไรเล่า ? เมื่อคนเหล่านั้น โต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมา อยู่อย่างนี้ ก็พอดีมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกแล้ว จึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้ว มิใช่หรือ ? ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ความว่า :- "ประโยชน์ผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวง ดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้" ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิมาเนนฺต ความว่า ผู้คอยดูอยู่ อธิบายว่า มัวรอคอยอยู่ว่า ฤกษ์จะมีในบัดนี้ จักมีในบัดนี้. บทว่า อตฺโถ พาล อุปจฺจคา ความว่า ประโยชน์กล่าวคือการได้เจ้าสาว ผ่านพ้นคนโง่ผู้เป็นชาวเมืองนี้. บทว่า อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺต ความว่า บุคคลเที่ยวแสวงหาประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เขาได้แล้วนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นฤกษ์ของประโยชน์. บทว่า กึ กริสฺสฺติ ตารกา ความว่า ก็ดวงดาวทั้งหลายในอากาศนอกจากนี้ จักยังประโยชน์เช่นไรให้สำเร็จได้. พวกชาวเมือง ทะเลาะกับพวกนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นเอง เลยพากันไป. แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกนั้น ทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลนั้น ถึงในครั้งก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่าอาชีวกในครั้งนั้น ได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้ แม้ตระกูลทั้งสิ้นในครั้งนั้น ก็ได้มาเป็นตระกูลในครั้งนี้ ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิตผู้ยืนกล่าวคาถา ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบ อรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 6 พ.ค. 2550
ขณะที่กุศลจิตเกิดขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา ก็ชื่อว่าเวลาดีกฤษดีค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ