พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. สุทธิกสูตร ว่าด้วยความหมดจด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36390
อ่าน  394

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 214

๗. สุทธิกสูตร

ว่าด้วยความหมดจด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 214

๗. สุทธิกสูตร

ว่าด้วยความหมดจด

    [๖๔๘] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้นแล สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ครั้นแล้วสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    [๖๔๙] สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 215

    พราหมณ์บางคน ในโลกแม้เป็นผู้มีศีล กระทำตบะอยู่ ย่อมหมดจดไม่ได้ พราหมณ์นั้นถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะย่อมหมดจดได้ หมู่สัตว์อื่นนอกนี้ย่อมหมดจดไม่ได้.

    [๖๕๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    พราหมณ์ผู้กล่าวถ้อยคำแม้มาก เป็นผู้เน่าและเศร้าหมองในภายใน อาศัยการโกหก (ลวงโลก) ย่อมไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ สูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีจิตมั่นคง มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถึงความหมดจดอย่างยิ่ง ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดพราหมณ์.

    [๖๕๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว สุทธิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 216

อรรถกถาสุทธิกสูตร

ในสุทธิกสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า สุทฺธกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์แม้นี้ก็ชื่อว่าภารทวาชะเหมือนกัน แต่เพราะเขาถามปัญหาที่หมดจด พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวอย่างนั้น. บทว่า สีลวาปิ ตโป กรํ ความว่าแม้เขาสมบูรณ์ด้วยศีล ก็ยังบำเพ็ญตบะอยู่ ในบทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน นี้ บทว่า วิชฺชา ได้แก่เวท ๓. บทว่า จรณํ ได้แก่ธรรมเนียมของตระกูล. ด้วยคำว่า โส สุชฺฌติ น อญฺา อิตรา ปชา ท่านกล่าวว่า พราหมณ์นั้นได้วิชชา ๓ ย่อมบริสุทธิ์ แต่หมู่สัตว์ที่นับว่าไม่มีความรู้ ย่อมไม่บริสุทธิ์. บทว่า พหุมฺปิ ปลปํ ชปฺปํ ความว่า กล่าวถ้อยคำแม้มาก อธิบายว่า กล่าวแม้ตั้งพันคำว่า พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์. บทว่า อนฺโตกสมฺพุ ความว่า เป็นผู้เน่าด้วยความเน่าคือกิเลสในภายใน. บทว่า สงฺกิลิฏฺโ ความว่า ประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นที่เศร้าหมอง.

    จบอรรถกถาสุทธิกสูตรที่ ๗