พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อุทัยสูตร ว่าด้วยติดในรส

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36395
อ่าน  535

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 265

๒. อุทัยสูตร

ว่าด้วยติดในรส


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 265

๒. อุทัยสูตร

ว่าด้วยติดในรส

    [๖๗๗] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์. ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าจนเต็ม.

    [๖๗๘] แม้ครั้งที่ ๒ ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 266

    ลำดับนั้น อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าจนเต็ม.

    [๖๗๙] แม้ครั้งที่ ๓ เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทัยพราหมณ์ แม้ในครั้งที่ ๓ อุทัยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าเต็มแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมนี้ติดในรส (ติดใจในอาหาร) จึงเสด็จมาบ่อยๆ.

    [๖๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

    กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคล ย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้.

    [๖๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อุทัยพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 267

ธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ของพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อรรถกถาอุทยสูตรที่ ๒

    ในอุทยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า โอทเนน ปูเรสิ ความว่า พราหมณ์เอาข้าวพร้อมด้วยแกงและกับที่เขาจัดไว้เพื่อตนใส่บาตรจนเต็มถวาย. ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นั้น ทรงปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าทีเดียว เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงปิดประตูแล้วประทับนั่ง ทรงเห็นโภชนะที่เขายกเข้าไปไว้ใกล้พราหมณ์ ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้นทรงคล้องบาตรที่จะงอยบ่า เสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จถึงประตูพระนครทรงนำบาตรออกแล้วเสด็จเข้าภายในพระนคร ทรงดำเนินไปตามลำดับ ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านพราหมณ์. พราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ถวายโภชนะที่เขาจัดแจงมาเพื่อตน. คำว่า โอทเนน ปูเรสิ นี้ท่านกล่าวหมายเอาโภชนะนั้น. บทว่า ทุติยมฺปิ ได้แก่แม้ในวันที่ ๒. บทว่า ตติยมฺปิ ได้แก่แม้ในวันที่ ๓ ได้ยินว่า ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประตูเรือนพราหมณ์ติดๆ กันตลอด ๓ วัน ไม่มีใครๆ ที่สามารถจะลุกขึ้นรับบาตรได้. มหาชนได้ยืนแลดูอยู่เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 268

    บทว่า เอตทโวจ ความว่า พราหมณ์แม้ถวายจนเต็มบาตรตลอด ๓ วัน ก็มิได้ถวายด้วยศรัทธา. พราหมณ์บริโภคโดยมิได้ถวายแม้เพียงภิกษาแก่บรรพชิตที่มายืนอยู่ยังประตูเรือน แต่ได้ถวายเพราะกลัวถูกติเตียนว่า บรรพชิตมายืนถึงประตูเรือนแล้ว แม้เพียงภิกษาก็ไม่ถวาย กินเสียเอง ดังนี้. และเมื่อถวาย ๒ วันแรกถวายแล้วมิได้พูดอะไรๆ เลย กลับเข้าบ้าน. ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสอะไรๆ เหมือนกัน เสด็จหลีกไป แต่ในวันที่ ๓ พราหมณ์ไม่อาจจะอดกลั้นไว้ได้ จึงได้กล่าวคำนี้ว่า ปกฏฺโก ดังนี้เป็นต้น. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้เสด็จไปจนถึงครั้งที่ ๓ ก็เพื่อจะทรงให้เขาเปล่งวาจานั้นนั่นเอง. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฏฺโก ได้แก่ติดในรส.

    พระศาสดาทรงสดับคำของพราหมณ์แล้ว ตรัสว่า ท่านพราหมณ์ท่านถวายบิณฑบาตตลอด ๓ วัน ยังย่อท้ออยู่ ในโลกมีธรรม ๑๖ ประการที่ควรทำบ่อยๆ ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น จึงทรงเริ่มพระธรรมเทศนานี้ว่า ปุนปฺปุนํ เจว วปนฺติ พีชํ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุนปฺปุนํ เจว วปนฺติ ท่านกล่าวไว้ในสัสสวารหนึ่งแล้ว แม้ในสัสสวารอื่นๆ ชาวนาย่อมหว่านโดยไม่ท้อแท้เลยว่า เท่านี้พอละ ดังนี้. บทว่า ปุนปฺปุนํ วสฺสติ ความว่า มิใช่ตกวันเดียวหยุด. ตกอยู่แล้วๆ เล่าๆ ทุกๆ วัน ทุกๆ ปี ชนบทย่อมมั่งคั่งด้วยอาการอย่างนี้. พึงทราบนัยแห่งเนื้อความในทุกๆ บทโดยอุบายนี้.

    ในบทว่า ยาจกา นี้ พระศาสดาทรงแสดงอ้างถึงพระองค์ เพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในเทศนา. บทว่า ขีรณิกา ได้แก่ผู้รีดนมโคเพราะน้ำนมเป็นเหตุ. จริงอยู่ ชนเหล่านั้นไม่ปรารถนาน้ำนมคราวเดียวเท่านั้น อธิบายว่า ย่อมปรารถนารีดโคนมบ่อยๆ. บทว่า กิลมติ ผนฺทติ จ ความว่าสัตว์นี้ย่อมลำบากและดิ้นรนด้วยอิริยาบถนั้นๆ. บทว่า คพฺภํ ได้แก่ท้องสัตว์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 269

ดิรัจฉานมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น. บทว่า สีวถิกํ ได้แก่ป่าช้า. อธิบายว่า นำสัตว์ตายแล้วไปในป่าช้านั้นบ่อยๆ. บทว่า มคฺคญฺจ ลทฺธา อปุนพฺภวาย ความว่า พระนิพพานชื่อว่ามรรค เพราะไม่เกิดอีก อธิบายว่าได้พระนิพพานนั้น.

    บทว่า เอวํ วุตฺเต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั่นแหละ ทรงแสดงปุนัปปุนธรรม ๑๖ ประการ ได้ตรัสอย่างนี้. บทว่า เอตทโวจ ความว่า ในที่สุดเทศนา พราหมณ์พร้อมด้วยบุตรภรรยาพวกมิตรและญาติ เลื่อมใส ถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวคำนี้ว่า อภิกฺกนฺตํ โภ เป็นต้น.

    จบอรรถกถาอุทยสูตรที่ ๒