พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. มหาศาลสูตร ว่าด้วยบุตรขับบิดาออกจากเรือน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36397
อ่าน  493

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 274

๔. มหาศาลสูตร

ว่าด้วยบุตรขับบิดาออกจากเรือน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 274

๔. มหาศาลสูตร

ว่าด้วยบุตรขับบิดาออกจากเรือน

    [๖๘๙] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้น พราหมณมหาศาลคนหนึ่ง เป็นคนปอน นุ่งห่มปอนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพราหมณมหาศาลนั้น ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทำไมท่านจึงเป็นคนปอน นุ่งห่มก็ปอน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 275

    พราหมณมหาศาลกราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกบุตรของข้าพระองค์ ๔ คนในบ้านนี้คบคิดกับภรรยาแล้วขับข้าพระองค์ออกจากเรือน.

    [๖๙๐] ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเรียนคาถานี้แล้วเมื่อหมู่มหาชนประชุมกันที่สภา และเมื่อพวกบุตรมาประชุมพร้อมแล้ว จงกล่าวว่า

    เราชื่นชม และปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นคบคิดกันกับภรรยารุมว่าเรา ดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขาว่าพวกมัน เป็นอสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อๆ พวกมันประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตรมา ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยไว้.

    พวกมันกำจัดคนแก่ไม่มีสมบัติออกจากที่ (อาศัย) กิน ดังม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้งฉะนั้น.

    บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่าต้องขอในเรือนผู้อื่นได้ยินว่าไม้เท้าของเรายังจะดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร เพราะไม้เท้ายังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้ ในที่มืดยังใช้ยันไปข้างหน้าได้ ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 276

    [๖๙๑] ครั้งนั้นแล พราหมณมหาศาลนั้นเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันในสภา และเมื่อพวกบุตรมาประชุมแล้วจึงได้กล่าวว่า

    เราชื่นชมและปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้น คบคิดกันกับภรรยารุมว่าเรา ดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขาว่าพวกมันเป็นอสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อๆ พวกมันประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตรมา ละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยไว้ พวกมันกำจัดคนแก่ไม่มีสมบัติออกจากที่ (อาศัย) กิน ดังม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้งฉะนั้น.

    บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่าต้องขอในเรือนผู้อื่น ได้ยินว่าไม้เท้าของเรายังจะดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร เพราะไม้เท้ายังป้องกันโคหรือสุนัขดุได้ ในที่มืดยังใช้ยันไปข้างหน้าได้ ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า.

    [๖๙๒] ลำดับนั้น พวกบุตรนำพราหมณมหาศาลนั้นไปยังเรือนให้อาบน้ำแล้วให้นุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งๆ ทุกๆ คน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 277

    พราหมณมหาศาลนั้น ถือผ้าคู่หนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับอาจารย์มาให้อาจารย์ ขอท่านพระโคดมผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าจงรับส่วนของอาจารย์เถิด.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยความอนุเคราะห์.

    [๖๙๓] ครั้งนั้น พราหมณมหาศาลนั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อรรถกถามหาศาลสูตร

    ในมหาศาลสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า ลูโข ลูขปาปุรโณ ได้แก่เป็นคนแก่ มีผ้าห่มเก่า. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงเข้าไปหา. เล่ากันมาว่า ในเรือนของพราหมณ์นั้นได้มีทรัพย์ถึง ๘ แสน. พราหมณ์นั้นได้ทำอาวาหมงคลแก่บุตร ๔ คน จ่ายทรัพย์ถึง ๔ แสน. ลำดับนั้น เมื่อนางพราหมณี

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 278

ของพราหมณ์นั้น ทำกาละแล้ว บุตรทั้งหลายปรึกษากันว่า ถ้าบิดาจักนำนางพราหมณีอื่นมา ตระกูลจักแตก ด้วยอำนาจบุตรที่เกิดในท้องของนาง เอาเถอะเราจักสงเคราะห์ท่าน. บุตรทั้ง ๔ คนนั้น บำรุงด้วยของกินและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นอันประณีต กระทำการนวดมือและเท้าเป็นต้น สงเคราะห์ วันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นนอนกลางวันแล้วลุกขึ้น จึงพากันนวดมือและเท้า กล่าวโทษในการอยู่ครองเรือนเฉพาะอย่าง จึงอ้อนวอนว่า พวกฉันจักบำรุงท่านโดยทำนองนี้จนตลอดชีวิต ขอท่านจงให้ทรัพย์แม้ที่เหลือแก่พวกฉัน. พราหมณ์ได้ให้ทรัพย์แก่บุตรคนละหนึ่งแสนอีก แล้วแบ่งเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมดออกเป็น ๔ ส่วน นอกจากผ้านุ่งห่มของตน มอบให้ไป. บุตรคนโตบำรุงพราหมณ์นั้น ๒ - ๓ วัน.

    ครั้นวันหนึ่ง หญิงสะใภ้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตู พูดกะพราหมณ์ผู้อาบน้ำแล้วมาอยู่อย่างนี้ว่า เหตุไรท่านจึงให้ทรัพย์แก่ลูกคนโตเป็นร้อยเป็นพันจนเหลือเฟือ บุตรทั้งหมดท่านให้คนละสองแสนมิใช่หรือ ท่านไม่รู้ทางไปเรือนของบุตรคนอื่นๆ หรือ. พราหมณ์โกรธ ว่าอีหญิงถ่อย จงฉิบหาย แล้วได้ไปเรือนบุตรอื่น. แต่นั้น ๒ - ๓ วัน ก็หนีไปเรือนอื่นด้วยอุบายอย่างนี้เหตุนั้น เมื่อไม่ได้เข้าไปแม้ในเรือนหลังหนึ่งก็บวชเป็นตาผ้าขาว เที่ยวภิกขาจารโดยกาลล่วงไปก็แก่ชราลง มีร่างกายเหี่ยวแห้งเพราะการกินไม่ดีและนอนลำบาก กลับจากภิกขาจารนอนบนตั่งหลับไป ลุกขึ้นนั่งตรวจดูตนเมื่อไม่เห็นที่พึ่งในบุตรจึงคิดว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดม มีพระพักตร์ไม่สะยิ้ว มีพระพักตร์เผย พูดจาน่าสบายใจ ฉลาดในปฏิสันถาร เราอาจเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมได้ปฏิสันถาร พราหมณ์จัดผ้านุ่งห่มเรียบร้อย ถือภิกขาภาชนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 279

    บทว่า ทาเรหิ สํปุจฺฉ ฆรา นิกฺขาเมนฺติ ความว่า บุตรทั้งหลายถือเอาทรัพย์อันเป็นของๆ ข้าพระองค์ทั้งหมด รู้ว่าข้าพระองค์ไม่มีทรัพย์จึงปรึกษากับภรรยาของตนแล้วขับไล่ข้าพระองค์ออกจากเรือน.

    บทว่า นนฺทิสฺสํ ความว่า เราเกิดความเพลิดเพลิน ยินดี ปราโมทย์. บทว่า ภาวมิจฺฉิสํ ความว่า เราปรารถนาความเจริญ. บทว่า สาว วาเทนฺติ สูกรํ ความว่า พวกสุนัขเป็นฝูงๆ เห่าไล่สุกร เห่าร้องขึ้นดังๆ บ่อยๆ ฉันใด บุตรทั้งหลายก็ฉันนั้น พร้อมกับภรรยาขับไล่เราผู้ร้องเสียงดังๆ ให้หนีไป.

    บทว่า อสนฺตา ได้แก่ อสัตบุรุษทั้งหลาย. บทว่า ชมฺมา แปลว่า ผู้ลามก. บทว่า ภาสเร แปลว่า ย่อมกล่าว. บทว่า ปุตฺตรูเปน ได้แก่ ด้วยเพศของบุตร. บทว่า วโยคตํ ได้แก่ ย่อมละ คือทอดทิ้งเราผู้ล่วงวัยทั้ง ๓ ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย.

    บทว่า นิพฺโภโค แปลว่า ไม่มีเครื่องบริโภค. บทว่า ขาทนา อปนียติ ความว่า คนทั้งหลายย่อมให้ของกินมีรสต่างๆ แก่ม้าชั่วเวลาที่มันยังหนุ่มมีกำลังวิ่งไว ต่อแต่นั้น พอมันแก่หมดกำลังก็ทอดทิ้ง มันไม่ได้รับการดูแล ต้องเที่ยวไปหาหญ้าแห้งในดงกับแม่โคทั้งหลาย บิดาชื่อว่า ไม่มีโภคะเพราะทรัพย์ทั้งปวงถูกปล้นไปหมด เวลาแก่เหมือนม้านั้น พระเถระผู้เป็นบิดาของคนพาล ก็เสมือนเราต้องขออาหารในเรือนคนอื่น.

    ศัพท์ว่า ยญฺเจ เป็นนิบาต. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เขาว่าไม้เท้ายังประเสริฐกว่า ดีกว่าบุตรของเราที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ยำเกรง ไม่อยู่ในปกครอง. บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่าไม้เท้านั้นเป็นของประเสริฐ จึงตรัสว่า จณฺฑํปิ โคณํ ดังนี้เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 280

    บทว่า ปุเร โหติ ได้แก่ใช้นำหน้า อธิบายว่า เอาไม้เท้านั้นไว้ข้างหน้าไป ย่อมสะดวก. บทว่า คาธเมติ ความว่า เวลาลงน้ำ ใช้ไม้เท้าเป็นที่พึ่งในน้ำลึก.

    บทว่า ปริยาปุณิตฺวา ได้แก่ เรียนจนคล่องปาก. บทว่า สนฺนิสินฺเนสุ ความว่า ในวันที่พวกพราหมณ์ประชุมกันเช่นนั้น เมื่อพวกบุตรประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเข้าที่ประชุมนั้น นั่งบนอาสนะอันคู่ควรอย่างใหญ่ ท่ามกลางพวกพราหมณ์. บทว่า อภาสิ ความว่า พราหมณ์แก่คิดว่า นี้เป็นเวลาของเราแล้ว จึงเข้าไปกลางที่ประชุม ยกมือขึ้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรามีความประสงค์จะกล่าวคาถาแก่ท่านทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายจักฟังกันไหม เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวว่า กล่าวเถิด กล่าวเถิด ท่านพราหมณ์ พวกเราจักฟัง ดังนี้ จึงได้ยืนกล่าวทีเดียว. ก็โดยสมัยนั้นแล พวกมนุษย์มีประเพณีอยู่ว่า ผู้ใดกินของของบิดามารดา ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา ผู้นั้นควรให้ตายเสีย ดังนี้ เพราะฉะนั้น บุตรพราหมณ์เหล่านั้นจึงหมอบลงที่เท้าทั้งสองของบิดา วิงวอนว่า พ่อจ๋า ขอพ่อจงให้ชีวิตแก่พวกฉันเถิด. เพราะหัวใจของบิดาอ่อนโยนต่อลูกๆ พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายอย่าให้ลูกโง่ๆ ของฉันพินาศเสียเลยพวกเขาจักเลี้ยงดูเรา ดังนี้.

    ลำดับนั้น คนทั้งหลายกล่าวกะลูกๆ ของพราหมณ์นั้นว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ถ้าพวกเธอไม่ปรนนิบัติบิดาให้ดี พวกเราจักฆ่าพวกเธอเสีย. ลูกๆ เหล่านั้นมีความกลัว จึงนำบิดาไปยังเรือนปรนนิบัติ. เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อถโข ตํ พฺราหฺมณมหาสาลํ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตฺวา ความว่า ให้บิดานั่งบนตั่งแล้วยกขึ้น นำไปด้วยตนเอง. บทว่า นฺหาเปตฺวา ความว่า เอาน้ำมันทาตัว

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 281

แล้วนวดฟั้น ให้อาบด้วยผงของหอมเป็นต้น. ให้เรียกนางพรหมณีทั้งหลายมากล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป พวกเธอจงปรนนิบัติบิดาของเราให้ดี ถ้าพวกเธอประมาท พวกเราจักขับไล่พวกเธอออกจากเรือน ดังนี้แล้วให้บริโภคโภชนะอย่างประณีต.

    พราหมณ์ได้อาหารดี นอนสบาย สองสามวันเท่านั้นก็มีกำลัง มีร่างกายเอิบอิ่ม แลดูอัตภาพแล้วคิดได้ว่า เราได้สมบัตินี้เพราะอาศัยพระสมณโคดม จึงถือเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพื่อจะแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อถโข โส ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตทโวจ ความว่า พราหมณ์วางผ้าคู่หนึ่งแทบบาทมูล แล้วได้กล่าวคำนี้ คือกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลารับสรณคมน์เสร็จนั่นเอง อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ พวกลูกๆ ให้ภัตตาหารประจำแก่ข้าพระองค์ ๔ ส่วน ข้าพระองค์ขอถวายแด่พระองค์ ๒ ส่วนจาก ๔ ส่วนนั้น ข้าพระองค์จักบริโภคเอง ๒ ส่วน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ ท่านอย่ามอบให้เฉพาะส่วนที่ดีเลย เราตถาคตจักไปสถานที่ชอบใจของเราเท่านั้น. พราหมณ์กราบทูลว่า ผู้เจริญ อย่างนั้นสิ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปเรือนเรียกพวกลูกมาบอกว่า ลูกๆ ทั้งหลาย พระสมณโคดมเป็นเพื่อนของพ่อ พ่อถวายภัตตาหารประจำของพ่อ ๒ ส่วนแก่พระสมโคดมนั้น เมื่อท่านมาถึงบ้าน พวกเจ้าอย่าลืมเสียล่ะ พวกลูกพากันรับคำว่า ดีแล้วพ่อ. เช้าวันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือบาตรจีวรเสด็จไปประตูนิเวศน์ ของลูกคนโต. พอเขาเห็นพระศาสดาเท่านั้น รับบาตรจากพระหัตถ์ นิมนต์ให้เสด็จเข้าเรือนให้ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ซึ่งคู่ควรมากแล้ว ได้ถวายโภชนะอันประณีต. วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จไปเรือนของลูกอีกคนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นเสด็จไปเรือนของ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 282

ลูกอีกคนหนึ่ง พระองค์เสด็จไปเรือนของลูกพราหมณ์ทุกคนตามลำดับ ด้วยประการฉะนี้. พวกลูกพราหมณ์ทุกคนได้กระทำสักการะเหมือนๆ กัน.

    อยู่มาวันหนึ่ง ที่เรือนของลูกคนโตมีงานมงคล. ลูกคนโตนั้นกล่าวกะบิดาว่า พ่อพวกเราจะถวายมงคลแก่ใคร. พราหมณ์กล่าวว่า พวกเราไม่รู้จักใครอื่นเลย พระสมณโคดมเป็นสหายของพ่อมิใช่หรือ ลูกคนโตกล่าวว่าถ้าอย่างนั้น พ่อจงนิมนต์พระสมณโคดมมาฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พราหมณ์ได้ทำเหมือนอย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จไปสู่ประตูเรือนของลูกชายคนโตนั้น ในวันรุ่งขึ้น. ลูกชายคนโตนั้น เชิญเสด็จพระศาสดาให้เข้าไปสู่เรือน ซึ่งทาด้วยของเขียวประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง นิมนต์ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้นั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ได้ถวายข้าวปายาสมีน้ำน้อย และของเคี้ยวต่างชนิด. ลำดับนั้น ลูกทั้งสี่คนของพราหมณ์นั่งเฝ้าพระศาสดา กราบทูลในระหว่างเสวยภัตตาหารว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญพวกข้าพระองค์ปรนนิบัติบิดาของพวกข้าพระองค์ มิได้ประมาท ขอพระองค์จงดูอัตภาพ. พระศาสดาตรัสว่า ขึ้นชื่อว่า การเลี้ยงดูบิดามารดาที่พวกเธอทำแล้วเป็นความดี พวกโบราณบัณฑิตเคยประพฤติกันอย่างสม่ำเสมอทีเดียวแล้วตรัสนาคราชชาดก ยกอริยสัจ ๔ แสดงธรรม ในเวลาจบเทศนาพราหมณ์พร้อมด้วยลูก ๔ คน ลูกสะใภ้ ๔ คน ส่งญาณไปตามกระแสเทศนา ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. จำเดิมแต่นั้น พระศาสดามิได้เสด็จไปที่เรือนของชนเหล่านั้นในกาลทั้งปวง ดังนี้แล.

    จบอรรถกถามหาศาลสูตรที่ ๔