พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มานัตถัทธสูตร ว่าด้วยการทําความเคารพในบุคคล ๔ พวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36398
อ่าน  523

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 283

๕. มานัตถัทธสูตร

ว่าด้วยการทําความเคารพในบุคคล ๔ พวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 283

๕. มานัตถัทธสูตร

ว่าด้วยการทำความเคารพในบุคคล ๔ พวก

    [๖๙๔] สาวัตถีนิทาน.

    สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่ามานัตถัทธะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี เขาไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย.

    [๖๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมทรงแสดงธรรมอยู่.

    ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์มีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราจะเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับ ถ้าพระสมณโคดมตรัสกะเรา เราก็จะพูดกะท่าน ถ้าพระสมณโคดมไม่ตรัสกะเรา เราก็จะไม่พูดกะท่าน ลำดับนั้นแล มานัตถัทธพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสด้วย มานัตถัทธพราหมณ์ต้องการจะกลับจากที่นั้น ด้วยคิดว่าพระสมณโคดมนี้ไม่รู้อะไร.

    [๖๙๖] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกในใจของมานัตถัทธพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะมานัตถัทธพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า

    ดูก่อนพราหมณ์ ใครในโลกนี้มีมานะไม่ดีเลย ผู้ใดมาด้วยประโยชน์ใด ผู้นั้นพึงเพิ่มพูนประโยชน์นั้นแล.

    [๖๙๗] ครั้งนั้น มานัตถัทธพราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมทราบจิตเรา จึงหมอบลงด้วยศีรษะที่ใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้นเอง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 284

แล้วจูบพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปากและนวดด้วยมือ ประกาศชื่อว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์มีนามว่า มานัตถัทธะ.

    ครั้งนั้น บริษัทนั้นเกิดประหลาดใจว่า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีหนอมานัตถัทธพราหมณ์นี้ไม่ไหว้มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย แต่พระสมณโคดมทรงทำคนเห็นปานนี้ให้ทำนอบนบได้เป็นอย่างดียิ่ง.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะมานัตถัทธพราหมณ์ว่า พอละพราหมณ์ เชิญลุกขึ้นนั่งบนอาสนะของตนเถิด เพราะท่านมีจิตเลื่อมใสในเราแล้ว.

    [๖๙๘] ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์นั่งบนอาสนะของตนแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ไม่ควรทำมานะในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงใคร บูชาใครด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี.

    [๖๙๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

    ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชายและในอาจารย์เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดีแล้วจึงเป็นการดี บุคคลพึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความกระด้างในพระอรหันต์ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะอนุสัยนั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 285

    [๗๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว มานัตถัทธพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อรรถกถามานัตถัทธสูตร

    ในมานัตถัทธสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า มานตฺถทฺโธ ความว่า ผู้กระด้างเพราะมานะ เหมือนลูกโป่งเต็มไปด้วยลม. บทว่า อาจริยํ ความว่า ในเวลาเรียนศิลปะ อาจารย์ไม่ให้ศิลปะแก่ผู้ไม่ไหว้. แต่ในกาลอื่น พราหมณ์นั้นไม่ไหว้อาจารย์. แม้ผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่ พราหมณ์ก็ไม่รู้. บทว่า นายํ สมโณ ความว่า พราหมณ์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เพราะเหตุที่พระสมณะนี้ เมื่อพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นเรามาถึงเข้า ก็ไม่ทำกิจมาตรว่าปฏิสันถาร ฉะนั้น จึงไม่รู้อะไร.

    บทว่า อพฺภูตจิตฺตชาตา ได้แก่ประกอบด้วยความยินดี อันไม่เคยมีก็มามีขึ้น. บทว่า เกสฺ วสฺส ความว่า พึงเคารพในใคร. บทว่า กฺยสฺส ความว่าพวกไหน เป็นที่เคารพของบุคคลนั้น. บทว่า อปจิตา อสฺสุ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 286

ความว่าพวกไหนพึงเป็นผู้ควรเพื่อแสดงความนบนอบ. ด้วยคาถานี้ว่า อรหนฺเต เป็นต้น ทรงแสดงปูชนียบุคคล โดยยกพระองค์เป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนา.

    จบอรรถกถามานัตถัทธสูตรที่ ๕