พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปัจจนิกสูตร ว่าด้วยคําอันเป็นสุภาษิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36399
อ่าน  427

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 286

๖. ปัจจนิกสูตร

ว่าด้วยคําอันเป็นสุภาษิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 286

๖. ปัจจนิกสูตร

ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต

    [๗๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่าปัจจนิกสาตะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์มีความดำริว่าอย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดมจักตรัสคำใดๆ เราจักเป็นข้าศึกคำนั้นๆ ดังนี้.

    [๗๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ลำดับนั้น ปัจจนิกสาตพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้วเดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอท่านพระสมณะจงตรัสธรรม.

    [๗๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้าหมอง มากไปด้วยความแข่งดี จะรู้แจ้งด้วยดีไม่ได้ ส่วนว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 287

บุคคลใด กำจัดความแข่งดี และความไม่เลื่อมใสแห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแลพึงรู้คำอันเป็นสุภาษิต.

    [๗๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว ปัจจนิกสาตพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อรรถกถาปัจจนิกสูตร

    ในปัจจนิกสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    เมื่อเขากล่าวว่า สิ่งทั้งปวงขาว พราหมณ์นั้นก็ทำการขัดแย้ง โดยนัยเป็นต้นว่าสิ่งทั้งปวงดำ ย่อมมีความสำราญ คือมีความสุข เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปจฺจนิกสาโต. บทว่า โย จ วิเนยฺย สารมฺภํ ความว่า ผู้ใดกำจัดความแข่งดีมีลักษณะทำให้เกินหน้ากันแล้วฟัง.

    จบอรรถกถาปัจจนิกสูตรที่ ๖