พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. นวกัมมิกสูตร ว่าด้วยความยินดี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36400
อ่าน  456

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 288

๗. นวกัมมิกสูตร

ว่าด้วยความยินดี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 288

๗. นวกัมมิกสูตร

ว่าด้วยความยินดี

    [๗๐๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้นโกศล.

    สมัยหนึ่ง นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ให้คนทำงานอยู่ในไพรสณฑ์นั้น เขาได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งประทับนั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้า ที่โคนสาลพฤกษ์ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้ว เขามีความคิดว่า เราให้คนทำงานอยู่ในไพรสณฑ์นี้จึงยินดี ส่วนพระสมณะนี้ ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี.

    [๗๐๖] ลำดับนั้น นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ข้าแต่ท่านภิกษุ ท่านทำงานอะไรหรือ จึงอยู่ในป่าสาลพฤกษ์ พระโคดมอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ความยินดีอะไร.

    [๗๐๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    เราไม่มีกรณียกิจในป่าดอก เพราะเราถอนรากเง่าป่าอันเป็นข้าศึกเสียแล้ว เราไม่มีป่าคือกิเลส ปราศจากลูกศรคือกิเลส ละความกระลันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า.

    [๗๐๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 289

พระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อรรถกถานวกัมมิกสูตร

    ในนวกัมมิกสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า นวกมฺมิกภารทฺวาโช ความว่า เล่ากันมาว่าพราหมณ์นั้นให้ตัดต้นไม้ในป่าประกอบเป็นปราสาทและเรือนยอดในป่านั้นเอง แล้วนำมาขายยังพระนครชื่อว่า นวกัมมิก เพราะอาศัยนวกรรมเลี้ยงชีพดังกล่าวแล้ว โดยโคตรชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้นจึงชื่อว่า นวกัมมิกภารทวาชะ. บทว่า ทิสฺวานสฺส เอตทโหสิ ความว่า พราหมณ์นั้นได้มีความคิดดังนี้ เพราะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง เปล่งพระฉัพพัณณรังสี. บทว่า วนสฺมึ ได้แก่ในไพรสนฑ์นี้. บทว่า อุจฺฉินฺนมูลํ เม วนํ ความว่า ป่าคือกิเลสอันเราถอนรากเสียแล้ว. บทว่า นิพฺพนโถ ได้แก่ ปราศจากป่าคือกิเลส. บทว่า เอโก รเม ได้แก่ เรายินดีแต่ผู้เดียวเท่านั้น. บทว่า อรตึ วิปฺปหาย ความว่า ละความระอาในการเสพเสนาสนะอันสงัดและการเจริญภาวนา.

    จบอรรถกถานวกัมมิกสูตรที่ ๗