พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. โขมทุสสสูตร ว่าด้วยธรรมของสภา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36405
อ่าน  452

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 300

๑๒. โขมทุสสสูตร

ว่าด้วยธรรมของสภา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 300

๑๒. โขมทุสสสูตร

ว่าด้วยธรรมของสภา

    [๗๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมชื่อว่า โขมทุสสะของเจ้าศากยะ ในแคว้นสักกะ.

    ครั้งในเวลาเช้า พระผู้มีพระเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังโขมทุสสนิคม.

    สมัยนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ประชุมกันอยู่ในสภาด้วยกรณียกิจบางอย่าง และฝนกำลังตกอยู่ประปราย.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังสภานั้น.

    พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า คนพวกไหนชื่อว่าสมณะโล้น และคนพวกไหนรู้จักธรรมของสภา.

    [๗๒๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ด้วยพระคาถาว่า

    ในที่ใดไม่มีคนสงบ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าคนสงบ คนละราคะโทสะและโมหะแล้วกล่าวธรรมอยู่ คนเหล่านั้นชื่อว่าคนสงบ.

    [๗๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดีชาวโขมทุสสนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 301

ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น พวกข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงท่านพระโคดมผู้เจริญกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้.

    จบโขมทุสสสูตรที่ ๑๒

    จบอุปาสกวรรคที่ ๒

อรรถกถาโขมทุสสสูตร

    ในโขมทุสสสูตรที่ ๑๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า โขมทุสฺสนฺนาม ได้แก่ นิคมที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะมีผ้าไหมมาก. บทว่า สภายํ ได้แก่ ในศาลา. บทว่า ผุสายติ ความว่า หลั่งหยาดน้ำคือตก ได้ยินว่า พระศาสดา มีพระประสงค์จะเข้าสู่สภานั้นทรงดำริว่าเมื่อเราเข้าไปด้วยอาการอย่างนี้ จะไม่มีความสะดวก เพราะเหตุนั้น เราอาศัยเหตุอย่างหนึ่งแล้วจักเข้าไป ดังนี้แล้ว ทรงบันดาลให้เกิดฝนตกด้วยการอธิษฐาน. บทว่า สภาธมฺมํ ความว่า ได้ยินว่า การไม่ทำชนผู้นั่งอย่างสบายให้ลุกขึ้นแล้วเข้าไปข้างหนึ่ง และการไม่ทำมหาชนให้เข้าไปตรงๆ ที่เดียวชื่อว่า สภาธรรมของพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จตรงไปทีเดียว. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นโกรธ กล่าวเย้ยหยัน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 302

พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชนเหล่าไหนเล่าเป็นสมณะโล้น และชนเหล่าไหนเล่าจักรู้สภาธรรม. บทว่า สนฺโต ได้แก่ บัณฑิต คือ สัตบุรุษ. บทว่า ปหาย ความว่า ชนที่ละราคะเป็นต้นเหล่านั่น กล่าวธรรมเพื่อกำจัดราคะเป็นต้น ชื่อว่า สัตบุรุษ.

    จบอรรถกถาโขมทุสสสูตรที่ ๑๒ อุปาสกวรรคที่ ๒

    แห่งพราหมณสังยุตเพียงเท่านี้

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

    ๑. กสิสูตร ๒. อุทัยสูตร ๓. เทวหิตสูตร ๔. มหาศาลสูตร ๕. มานัตถัทธสูตร ๖. ปัจจนิกสูตร ๗. นวกัมมิกสูตร ๘. กัฏฐหารสูตร ๙. มาตุโปสกสูตร ๑๐. ภิกขกสูตร ๑๑. สังครวสูตร ๑๒. โขมทุสสสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

    จบพราหมณสังยุต