พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. นิกขันตสูตร ว่าด้วยบรรเทาความกระสัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36406
อ่าน  408

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 303

วังคีสสังยุต

๑. นิกขันตสูตร

ว่าด้วยบรรเทาความกระสัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 303

วังคีสสังยุต

๑. นิกขันตสูตร

ว่าด้วยบรรเทาความกระสัน

    [๗๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี กับท่านพระนิโครธกัปปะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ก็สมัยนั้น ท่านพระวังคีสะยังเป็นภิกษุใหม่บวชได้ไม่นาน ถูกละไว้ให้เฝ้าวิหาร.

    [๗๒๘] ครั้งนั้น สตรีเป็นอันมาก ประดับประดาร่างกายแล้ว เข้าไปยังอารามเที่ยวดูที่อยู่ของพวกภิกษุ.

    ครั้งนั้นแล ความกระสันย่อมบังเกิดขึ้น ความกำหนัดย่อมรบกวนจิตของท่านพระวังคีสะ เพราะได้เห็นสตรีเหล่านั้น.

    ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ ไม่เป็นลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ ที่เราเกิดความกระสัน ที่ความกำหนัดรบกวนจิตเรา เหตุที่คนอื่นๆ จะพึงบรรเทาความกระสันแล้ว ยังความยินดีให้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในความกำหนัดที่บังเกิดขึ้นแล้วนี้ เราจะได้แต่ที่ไหน อย่ากระนั้นเลย เราพึงบรรเทาความกระสันเสียแล้ว ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเถิด.

    [๗๒๙] ในกาลนั้นแล ท่านพระวังคีสะบรรเทาความกระสันเสียแล้ว ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 304

    วิตกทั้งหลายเป็นเหตุให้คะนอง (เกิดมา) แต่ฝ่ายธรรมดำเหล่านี้ ย่อมวิ่งเข้ามาสู่เราผู้ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนแล้ว.

    บุตรของคนชั้นสูงทั้งหลาย ผู้มีฝีมืออันเชี่ยวชาญ ศึกษาดีแล้ว ทรงธนูไว้มั่นคง พึงทำคนที่ไม่ยอมหนีมีจำนวนตั้งพันๆ ให้กระจัดกระจายไปรอบด้าน (ฉันใด) ถึงแม้ว่าสตรีมากยิ่งกว่านี้จักมา สตรีเหล่านั้นก็จักเบียดเบียนเรา ผู้ตั้งมั่นแล้วในธรรมของตนไม่ได้เลย (ฉันนั้น) เพราะว่า เราได้ฟังทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์แล้ว ใจของเรายินดีแล้วในทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนั้น.

    แน่ะมารผู้ชั่วร้าย ถ้าท่านจะเข้ามาหาเราผู้อยู่อย่างนี้ แน่ะมฤตยุราช เราจักทำโดยวิธีที่ท่านจักไม่เห็นแม้ซึ่งทางของเราได้เลย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 305

วังคีสสังยุต

อรรถกถานิกขันตสูตร

    ในนิกขันตสูตรที่ ๑ วังคีสสังยุต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อคฺคาฬเว เจติเย ได้แก่ ที่อัคคเจดีย์เมืองอาฬวี. เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ได้มีเจดีย์เป็นอันมาก อันเป็นถิ่นของยักษ์และนาคเป็นต้น มีอัคคาฬวเจดีย์ และโคตมกเจดีย์เป็นต้น. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว มนุษย์ทั้งหลายพากันรื้อเจดีย์เหล่านั้นสร้างเป็นวิหาร. เจดีย์เหล่านั้นนั่นแล จึงเกิดเป็นชื่อของคนเหล่านั้น. บทว่า นิโคฺรธกปฺเปน ได้แก่ ด้วยพระกัปปเถระผู้อยู่ที่โคนต้นไทร. บทว่า โอหิยฺยโก ได้แก่ ถูกเหลือไว้ บทว่า วิหารปาโล ความว่า ได้ยินว่า ในครั้งนั้นท่านยังไม่ได้พรรษา ไม่เข้าใจในการรับบาตรจีวร. ลำดับนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย จึงกล่าวกะท่านว่า อาวุโส ท่านจงนั่งดูแลร่ม รองเท้าและไม้เท้าเป็นต้น ตั้งให้เป็นผู้เฝ้าวิหารแล้วเข้าไปบิณฑบาต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิหารปาโล. บทว่า สมลงฺกริตฺวา ความว่า ประดับด้วยเครื่องประดับอันเหมาะสมแก่สมบัติของตน บทว่า จิตฺตํ อนุทฺธํเสติ ความว่า กำจัดคือทำกุศลจิตให้พินาศ. บทว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา ความว่า เมื่อราคะเกิดขึ้นจะได้เหตุนั้นแต่ที่ไหน. บทว่า ยํ เม ปเร ความว่า เพราะเหตุใดบุคคลหรือธรรมอย่างอื่นพึงบรรเทาความกระสัน อยากสึกแล้ว ทำความยินดีในพรหมจรรย์ให้เกิดขึ้นแก่เราในบัดนี้เล่า แม้อาจารย์และพระอุปัชฌาย์ก็ทิ้งเราไว้ในวิหารแล้วไปเสีย.

    บทว่า อคารสฺมา ได้แก่ ออกจากเรือน. บทว่า อนคาริยํ ความว่า เข้าถึงบรรพชา. บทว่า กณฺหโต ความว่า แล่นมาจากธรรมฝ่ายดำ คือ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 306

ฝ่ายมาร. บทว่า อุคฺคปุตฺตา ได้แก่ บุตรของบุคคลชั้นสูง เป็นเชื้อสายแห่งเจ้าผู้มีศักดิ์ใหญ่. บทว่า ทฬฺหธมฺมิโน ได้แก่ ผู้ทรงธนูมั่งคง. คือถือธนูของอาจารย์ ซึ่งมีขนาดสูงสุด. บทว่า สหสฺสํ อปลายินํ ความว่า เมื่อแสดงจำนวนของผู้ไม่ยอมหนีไป ซึ่งเอาลูกศรสาดไปรอบด้าน จึงกล่าวว่า สหสฺสํ ดังนี้. บทว่า เอตฺตกา ภิยฺโย ความว่า สตรีมีเกินกว่าพันนี้. บทว่า เนว มํ พฺยาธยิสฺสนฺติ ความว่า จักไม่อาจให้เราหวั่นไหวได้. บทว่า ธมฺเม สมฺหิ ปติฏฺิตํ ความว่า ตั้งอยู่ในศาสนธรรมของตน อันสามารถบรรเทาความกระสันอยากสึก แล้วทำความยินดีอันพรหมจรรย์ให้เกิดขึ้น. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ก่อนอื่นเมื่อนายขมังธนูตั้งพันยิงกราดลูกศรมารอบด้าน คนที่ศึกษาชำนาญ ก็ใช้ท่อนไม้ปัดลูกธนูทั้งหมดในระหว่างไม่ให้ถูกตัว ให้ตกลงที่ใกล้เท้า บรรดานายขมังธนูเหล่านั้น คนหนึ่งยิงลูกธนูได้ทีละ ๒ ลูก ส่วนหญิงเหล่านี้ ยิงลูกศรได้ทีละ ๕ ลูก โดยอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น. หญิงที่ยิงลูกศรได้อย่างนั้น แม้จะมีเกินพัน ก็จักไม่สามารถทำเราให้หวั่นไหวได้เลย.

    บทว่า สกฺขี หิ เม สุตํ เอตํ ความว่า ทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนี้ เราได้ฟังแล้วเฉพาะพระพักตร์ ท่านกล่าวว่า นิพฺพานคมนํ มคฺคํ หมายเอาวิปัสสนา. จริงอยู่ มรรคนั้นเป็นมรรคส่วนเบื้องต้นแห่งพระนิพพาน. แต่ท่านกล่าวว่า มคฺคํ ด้วยลิงควิปัลลาส ความคลาดเคลื่อนของลิงค์ [เพศของศัพท์]. บทว่า ตตฺถ เม ความว่า ใจของเราไม่ยินดีในทางไปสู่พระนิพพาน กล่าวคือ วิปัสสนาอย่างอ่อนๆ ของตนนั้น. ท่านเรียกกิเลสว่า ปาปิมา. เรียกกิเลสนั้นแหละว่า มจฺจุ ก็มี. บทว่า น เม มคฺคมฺปิ ความว่า เราจักทำโดยประการที่ท่านมองไม่เห็นแม้ทางที่เราไปในภพและกำเนิดเป็นต้น.

    จบอรรถกถานิกขันตสูตรที่ ๑