พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. วังคีสสูตร ว่าด้วยพระวังคีสะภาษิตคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36419
อ่าน  494

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 348

๑๒. วังคีสสูตร

ว่าด้วยพระวังคีสะภาษิตคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 348

๑๒. วังคีสสูตร

ว่าด้วยพระวังคีสะภาษิตคาถา

    [๗๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

    ก็สมัยนั้นแล ท่านพระวังคีสะ เป็นผู้บรรลุพระอรหัตแล้วไม่นาน เสวยวิมุตติสุขอยู่ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า

    ในกาลก่อน เราเป็นผู้มัวเมาด้วยความเป็นกวี ได้เที่ยวไปแล้ว สู่บ้านจากบ้าน สู่เมืองจากเมือง ครั้นเราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ศรัทธาจึงบังเกิดขึ้นแก่เรา พระสัมพุทธเจ้านั้น ได้ทรงแสดงธรรมคือขันธ์ อายตนะ ธาตุแก่เรา เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ก็บรรพชาเป็นผู้หาเรือนมิได้ พระมุนีได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ เพื่อประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมากแก่ภิกษุ และภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้ถึง ได้เห็นนิยามธรรม การมาของเราในสำนักของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นการมาดีจริงหนอ วิชชา ๓ อันเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ พระศาสนาของพระพุทธ-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 349

องค์เราได้ทำแล้ว เราย่อมรู้ขันธสันดานอันเราเคยอยู่ในกาลก่อน ทิพจักษุญาณเราทำให้หมดจดแล้ว เราเป็นผู้สำเร็จไตรวิชชา บรรลุอิทธิวิธี ฉลาดในเจโตปริยญาณ ดังนี้.

    จบวังคีสสูตร

    จบวังคีสสังยุต

อรรถกถาวังคีสสูตร

    ในวังคีสสูตรที่ ๑๒ มีวินิจฉัยต่อไปนี้ :-

    บทว่า อายสฺมา เป็นคำน่ารัก. บทว่า วงฺคีโส เป็นชื่อของพระเถระนั้น. ได้ยินว่า ในครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ในปางก่อน พระเถระนั้น เห็นพระสาวกผู้สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณจึงให้ทาน ทำความปรารถนาบำเพ็ญบารมีถึงแสนกัป ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เขาบังเกิดในครรภ์ของปริพาชิกานางหนึ่ง ซึ่งล้อมกิ่งหว้าไว้เพราะประสงค์จะโต้วาทะทั่วชมพูทวีปแล้วได้วาทะกับปริพาชกนายหนึ่ง เพราะชนะบ้าง แพ้บ้างในวาทะจึงอยู่ร่วม [เป็นสามีภริยา] กับปริพาชกนายนั้น เจริญวัยแล้วเรียนวาทะตั้ง ๑,๐๐๐ คือฝ่ายมารดา ๕๐๐ ฝ่ายบิดา ๕๐๐ จาริกไป และท่านรู้วิชาอย่างหนึ่งซึ่งร่ายแล้วเอานิ้วมือเคาะศีรษะผู้ตาย ก็รู้ว่าผู้นี้เกิดในที่โน้น. ท่านเที่ยวไปในบ้านและนิคมเป็นต้นโดยลำดับ ถึงกรุงสาวัตถีพร้อมมาณพ ๕๐๐ คน นั่งที่ศาลาใกล้ประตูพระนคร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 350

    ในครั้งนั้น เวลาก่อนอาหาร ชาวพระนครพากันให้ทาน เวลาหลังอาหารนุ่งห่มเรียบร้อยแล้วก็ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังวิหารเพื่อฟังธรรม. มาณพเห็นเข้า ถามว่า พวกท่านไปไหนกัน. พวกเขาตอบว่า ไปฟังธรรมในสำนักของพระทศพล. แม้เขาพร้อมด้วยบริวารก็ไปกับชาวพระนครเหล่านั้นกระทำปฏิสันถารแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเขาว่า วังคีสะ ได้ยินว่าเธอรู้ศิลปะดีหรือ. เขาตอบว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้มาก พระองค์ตรัสหมายเอาศิลปะประเภทไหน. พระศาสดาตรัสว่า ศิลปะที่เกี่ยวกับซากศพ. เชิญเถิด ท่านพระโคดม. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงศีรษะของสัตว์ผู้เกิดในนรก ด้วยอานุภาพของพระองค์แก่เขา แล้วตรัสถามว่า วังคีสะ ผู้นี้เกิดในที่ไหน. เขาร่ายมนต์แล้วเอานิ้วเคาะดู ทูลว่า เกิดในนรก. พระศาสดาตรัสว่า ดีละ วังคีสะ เธอตอบดีแล้ว. พระองค์ทรงแสดงศีรษะของสัตว์ผู้เกิดในเทวโลก แม้ศีรษะนั้นเขาก็พยากรณ์ได้อย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น พระศาสดาจึงทรงแสดงศีรษะของพระขีณาสพแก่เขา. เขาร่ายมนต์แล้วร่ายมนต์อีกก็ดี เอานิ้วเคาะก็ดี ก็ไม่รู้ที่สัตว์เกิด.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเขาว่า ลำบากไหมวังคีสะ. เขาทูลว่า ลำบาก ท่านโคดม. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอใคร่ครวญบ่อยๆ สิ. เขาแม้เมื่อทำอย่างนั้น ก็ไม่เห็น จึงทูลว่า ท่านพระโคดม พระองค์ทรงรู้หรือ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า รู้วังคีสะ. บุคคลนั้น ชื่อว่าไปดีแล้ว เพราะไม่มีที่อาศัยเรารู้คติของเขา. ทูลถามว่า พระองค์รู้ได้ด้วยมนต์ หรือท่านพระโคดม. ถูกแล้ววังคีสะ เราตถาคตรู้ได้ด้วยมนต์อย่างเดียวเท่านั้น. ทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 351

ขอพระองค์ได้โปรดแลกเปลี่ยนมนต์กับข้าพระองค์เถิด. ตรัสว่า วังคีสะ มนต์ของเราไม่มีมูลค่าดอก. ทูลว่าข้าแต่ท่านพระโคดมขอพระองค์ได้โปรดประทานเถิด. ตรัสว่า เราไม่อาจให้มนต์แก่ผู้ที่มิได้บวชในสำนักของเราได้. วังคีเรียกพวกลูกศิษย์มาสั่งว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย พระสมณโคดมรู้ศิลปะมากมาย เราจักบวชในสำนักของพระสมณโคดมนี้เรียนศิลปะ แต่นั้น จักไม่มีผู้ที่รู้ศิลปะมากกว่าเราทั่วชมพูทวีป พวกเธออย่าเป็นห่วง จงอยู่กันจนกว่าเราจะกลับมา ดังนี้ แล้วส่งลูกศิษย์เหล่านั้นไป แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้ข้าพระองค์บรรพชาเถิด. พระศาสดาทรงมอบหมายให้เถระชื่อนิโครธกัปปะ. พระเถระนำวังคีสะไปยังที่อยู่ของตนแล้วให้บรรพชา. ท่านบรรพชาแล้วมาเฝ้าพระศาสดา ยืนถวายบังคมแล้ว ทูลอาราธนาว่า ขอพระองค์โปรดประทานศิลปะแก่ข้าพระองค์เถิด. พระศาสดาตรัสว่าวังคีสะ เมื่อพวกเธอจะเรียนศิลปะ (ครั้งก่อน) ต้องทำบริกรรมโดยไม่บริโภคของเค็มและนอนบนแผ่นดินเป็นต้น เรียนศิลปะนั้น แม้ศิลปะนี้ก็มีบริกรรม เธอจงทำบริกรรมนั้นก่อน. พระวังคีสะกราบทูลว่า ดีละ พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสบอกพระกัมมัฏฐาน คือ อาการ ๓๒ แก่เธอ. เธอมนสิการพระกัมมัฏฐานนั้นทั้งอนุโลมปฏิโลม เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ.

    บทว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ความว่า เมื่อบรรลุพระอรหัตอย่างนี้ แล้วเสวยวิมุตติสุข. บทว่า กาเวยฺยมตฺตา ได้แก่ มัวเมาด้วยความเป็นกวีคือการแต่งกาพย์กลอน. บทว่า ขนฺเธ อายตนานิ ธาตุโย ความว่า เมื่อทรงแสดงธรรมประกาศขันธ์เป็นต้นเหล่านี้. บทว่า เย นิยามคตทฺทสา ได้แก่ ผู้ถึงนิยามธรรม และผู้เห็นนิยามธรรม. บทว่า สฺวาคตํ ได้แก่การ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 352

มาดี. ด้วยคำว่า อิทฺธิปฺปตฺโตมฺหิ นี้ หมายเอาอิทธิวิธิญาณ. ด้วยคำว่า เจโตปริยายโกวิโท นี้ หมายเอาเจโตปริยญาณ. ส่วนทิพยโสตแม้ท่านไม่ได้กล่าวไว้ ก็สงเคราะห์เข้าได้เหมือนกัน. พระวังคีสะนี้บรรลุอภิญญา ๖ พึงทราบว่า เป็นมหาสาวก ด้วยประการฉะนี้.

    จบอรรถกถาวังคีสสูตรที่ ๑๒

    และวังคีสสังยุตเพียงเท่านี้

รวมพระสูตรแห่งวังคีสสังยุตมี ๑๒ สูตร คือ

    ๑. นิกขันตสูตร ๒. อรติสูตร ๓. เป สลาติมัญญนาสูตร ๔. อานันทสูตร ๕. สภาสิตสูตร ๖. สารีปุตตสูตร ๗. ปวารณาสูตร ๘. โรสหัสสสูตร ๙. โกณฑัญญสูตร ๑๐. โมคคัลลานสูตร ๑๑. คัคคราสูตร ๑๒. วังคีสสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา