พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. วิเวกสูตร เทวดาเตือนภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36420
อ่าน  397

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 353

วนสังยุต

๑. วิเวกสูตร

เทวดาเตือนภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 353

วนสังยุต

๑. วิเวกสูตร

เทวดาเตือนภิกษุ

    [๗๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุรูปนั้น พักผ่อนกลางวัน ตรึกอกุศลวิตกลามกอิงอาศัยเรือน

    [๗๖๒] ครั้งนั้น เทวดาที่สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลดใจ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า

    ท่านใคร่วิเวก จึงเข้าป่า ส่วนใจของท่านแส่ซ่านไปภายนอก ท่านเป็นคนจงกำจัดความพอใจในคนเสีย แต่นั้นท่านจักเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความกำหนัด ท่านมีสติ ละความไม่ยินดีเสียได้ เราเตือนให้ท่านระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ ธุลีคือกิเลสประดุจบาดาลที่ข้ามได้ยาก ได้แก่ความกำหนัดในกามอย่าได้ครอบงำท่านเลย นกที่เปื้อนฝุ่น ย่อมสลัดธุลีที่แปดเปื้อนให้ตกไป ฉันใด ภิกษุผู้มีเพียรมีสติ ย่อมสลัดธุลีคือกิเลสที่แปดเปื้อนให้ตกไป ฉันนั้น ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 354

ลำดับนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดานั้นเตือนให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้วแล.

วนสังยุตตวรรณนา

อรรถกถาวิเวกสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในวิเวกสูตรที่ ๑ แห่งวนสังยุตต่อไปนี้ :-

    บทว่า โกสเลสุ วิหรติ ความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปอยู่ในแคว้นโกศลนั้น เพราะชนบทนั้นหาภิกษาได้ง่าย. บทว่า สํเวเชตุกามา ได้แก่ ใคร่เพื่อจะให้ภิกษุนั้นถึงวิเวก. บทว่า วิเวกกาโม คือ ปรารถนาวิเวก ๓. บทว่า นิจฺฉรติ พหิทฺธา คือ เที่ยวไปในอารมณ์เป็นอันมากที่เป็นภายนอก. บทว่า ชโน ชนสฺมึ ความว่า ท่านจงละฉันทราคะในคนอื่น. บทว่า ปชหาสิ แปลว่า จงละ. บทว่า ภวาสิ แปลว่า จงเป็น. บทว่า สตํ ตํ สารยามเส ความว่า แม้เราย่อมยังบิณฑิตผู้มีสติให้ระลึกถึงธรรมนั้น หรือว่า เราย่อมยังผู้นั้นให้ระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ. บทว่า ปาตาลรโช ความว่า ธุลีคือกิเลสที่เรียกว่าบาดาลเพราะอรรถว่า ไม่มีที่ตั้ง. บทว่า มา ตํ กามรโช ความว่า ธุลี คือกามราคะนี้อย่าครอบงำท่าน อธิบายว่า อย่านำไปสู่อบายเลย. บทว่า ปํสุกุณฺฑิโต แปลว่า เปื้อนฝุ่น. บทว่า วิธุนํ แปลว่า กำจัด. บทว่า สิตํ รชํ ได้แก่ ฝุ่นที่ติดตัว. บทว่า สํเวคมาปาทิ ความว่า ชื่อว่า แม้เทวดาย่อมยังเราเท่านั้นให้ระลึกถึง ฉะนั้น จึงชื่อว่า ถึงวิเวก หรือว่าประคองความเพียรอันสูงสุดแล้วปฏิบัติให้เป็นวิเวกอย่างยิ่ง.

    จบอรรถกถาวิเวกสูตรที่ ๑