พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สูจิโลมสูตร ว่าด้วยราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36437
อ่าน  485

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 389

๓. สูจิโลมสูตร

ว่าด้วยราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 389

๓. สูจิโลมสูตร

ว่าด้วยราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุ

[๘๐๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับบนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับแม่แคร่ อันเป็นที่ครอบครองของสูจิโลมยักษ์ ในบ้านคยา.

สมัยนั้นแล ยักษ์ชื่อขระและยักษ์ชื่อสูจิโลมะเดินผ่านเข้าไปไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ครั้งนั้นแล ยักษ์ชื่อขระได้พูดกับสูจิโลมยักษ์ว่า นั่นสมณะ.

นั่นไม่ใช่สมณะ เป็นสมณะน้อย แต่จะเป็นสมณะหรือสมณะน้อยเราพอจะรู้ได้.

[๘๐๘] ครั้งนั้นแล สูจิโลมยักษ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าน้อมกายเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระเถิบถอยพระกายไปเล็กน้อย.

ครั้งนั้นแล สูจิโลมยักษ์ได้ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านกลัวเราหรือ? สมณะ.

อาวุโส เราไม่กลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่านเลวทราม.

สมณะ เราจักถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านไม่กล่าวแก้แก่เรา เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา.

อาวุโส เราไม่เห็นใครเลยในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะพึงทำจิตของเราให้พลุ่งพล่าน หรือฉีกหัวใจเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคาได้ อาวุโส เอาเถอะ ท่านจงถามตามที่ท่านจำนงเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 390

[๘๐๙] สูจิโลมยักษ์ จึงถามว่า

ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อะไร ความตรึกในใจเกิดแต่อะไรแล้วดักจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น.

[๘๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อัตภาพนี้ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตภาพนี้แล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น.

อกุศลวิตกเป็นอันมาก เกิดแต่ความเยื่อใยคือตัณหา เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทรแล้วปกคลุมป่าไป ฉะนั้น.

ชนเหล่าใดย่อมรู้อัตภาพนั้นว่า เกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้นย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ ดูก่อนยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้ยาก และไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพอีกต่อไป.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 391

อรรถกถาสูจิโลมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูจิโลมสูตรที่ ๓ ต่อไปนี้ :-

บทว่า คยายํ คือในบ้านคยา. อธิบายว่า เข้าไปอาศัยบ้านที่ตั้งไม่ไกลจากคยา. บทว่า ฏงฺกิตมญฺเจ ความว่า เตียงที่เท้ายาวคือเตียงที่เขาเจาะในท่ามกลางสอดทำด้วยแม่แคร่. เตียงนั้นไม่มีคำว่า นี้ข้างบน นี้ข้างล่าง. เตียงนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นเช่นนั้นก็ได้ตามต้องการ. เขาย่อมตั้งเตียงนั้นไว้ในเทวสถานโรงเรือนที่เขาปูลาดแผ่นหินไว้บนแผ่นหิน ๔ แผ่น เขาเรียกว่า เตียงซ้อนตั่ง. บทว่า สูจิโลมสฺส คือมีชนเช่นหนามแข็ง. ได้ยินว่า ยักษ์นั้น บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปะ มาแต่ที่ไกล มีเหงื่อไคลท่วมตัว ไม่ลาดเตียงของสงฆ์ที่เขาแต่งตั้งไว้ดีแล้ว นอนด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ. ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้นได้มีการกระทำนั้นเหมือนสีดำที่ผ้าขาว. เธอไม่อาจยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นในอัตภาพนั้นได้ ทำกาละแล้วมาเกิดเป็นยักษ์ที่ทิ้งขยะ ใกล้ประตูบ้านคยา. ก็เมื่อเขาเกิดมาแล้ว ก็มีขนแหลมแข็งทั่วตัวคล้ายขนวัว. ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแลดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นยักษ์นั้นมาสู่คลองอาวัชชนจิตครั้งแรก จึงทรงดำริว่า ยักษ์นี้เสวยทุกข์ใหญ่ตลอดพุทธันดรหนึ่ง ความสวัสดีจะพึงมีแก่เขาเพราะอาศัยเราหรือไม่หนอ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคเบื้องต้น. ลำดับนั้น ทรงใคร่จะทำการสงเคราะห์ยักษ์นั้นทรงนุ่งผ้า ๒ ชั้นที่ย้อมแล้ว ห่มจีวรใหญ่ขนาดสุคตประมาณละพระคันธกุฎีดุจวิมานเทวดา เสด็จไปสู่ที่ทิ้งขยะ เหม็นด้วยซากศพช้างวัวม้ามนุษย์และสุนัขเป็นต้น ประทับนั่งในที่นั้นเหมือนนั่งในพระคันธกุฎีใหญ่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 392

ท่านหมายเอาความข้อนั้นจึงกล่าวว่า ในที่อยู่ของยักษ์สูจิโลมะ ดังนี้. บทว่า ขโร ความว่า มีรูปร่างแข็งทื่อเหมือนหลังจระเข้ เหมือนหลังคาไม่เรียบด้วยกระเบื้องมุงหลังคา. ได้ยินว่า เขาเป็นอุบาสกผู้ประกอบด้วยศีลในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วันหนึ่ง ไม่ได้ปูผ้าห่มของตนบนที่ปูลาดของสงฆ์ นอนบนพื้นที่ปูลาดไว้ด้วยเครื่องปูลาดอันวิจิตรในวิหาร. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แบ่งน้ำมันของสงฆ์ทาสรีระด้วยมือของตน. เขาไม่อาจเกิดในสวรรค์ด้วยกรรมนั้น มาเกิดเป็นยักษ์ที่กองขยะใกล้ประตูบ้านแห่งบ้านคยานั้น. ก็แลสรีระทั้งสิ้นของเขาผู้เกิดแล้ว จึงมีประการดังกล่าวแล้ว. เขาทั้ง ๒ เป็นสหายกัน. ความแข็งทื่อของยักษ์นั้น พึงทราบด้วยประการฉะนั้นแล.

บทว่า อวิทูเร อติกฺกมนฺติ ความว่า ยักษ์ ๒ ตนนั้นแสวงหาอาหารหรือไปสู่ที่สมาคม ไปในที่ใกล้กัน. ในยักษ์ ๒ ตนนั้น ยักษ์สูจิโลมะไม่เห็นพระศาสดา. ยักษ์ขระเห็นก่อนจึงพูดกะยักษ์สูจิโลมะว่า นั่นสมณะ. ยักษ์สูจิโลมะจึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย สมณะนี้เข้ามายังที่อยู่ของท่านไปนั่งอยู่คนเดียว. ยักษ์สูจิโลมะกล่าวว่า นั่นไม่ใช่สมณะ นั่นเป็นสมณกะ. ได้ยินว่าเขาสำคัญว่า ผู้ใดเห็นเราแล้วกลัวหนีไป เขาเรียกผู้นั้นว่าสมณกะ. ผู้ใดไม่กลัวเขาเรียกผู้นั้นว่า สมณะ. เพราะฉะนั้น ยักษ์สูจิโลมะสำคัญว่า ผู้นี้เห็นเราแล้วกลัวจักหนีไป ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า กายํ อุปนาเมสิ ความว่าเนรมิตรูปที่น่ากลัว อ้าปากกว้าง พองขนทั่วตัว น้อมเข้าไปหา. บทว่า อปนาเมสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าหลีกไปหน่อยหนึ่ง เหมือนทองอันมีค่าประกอบด้วยรัตนะร้อยอย่าง. บทว่า ปาปโก คือเลว ไม่น่าชื่นใจ. เขาควรจะถูกเว้นเหมือนคูถ เหมือนไฟ และเหมือนงูเห่า คือไม่ควรรับด้วยสรีระอันมีผิวพรรณดุจทองนี้. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ยักษ์สูจิโลมะโกรธต่อคำว่า ได้ยินว่า สัมผัสของเราเลว ดังนี้ จึงกล่าวคำว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 393

ปญฺหํ ตํ สมณ เป็นต้น. บทว่า จิตฺตํ วา เต ขิปิสฺสามิ ความว่า จริงอยู่ อมนุษย์ต้องการจะซัดจิตของคนเหล่าใด มันก็เนรมิตอัตภาพที่น่ากลัวให้มีหน้าขาว ท้องเขียว มือและเท้าแดง ศีรษะโต นัยน์ตาถลน แสดงแก่คนเหล่านั้น ส่งเสียงที่น่ากลัว ยัดมือเข้าในปากของพวกคนกำลังพูด ขยี้หัวใจสัตว์เหล่านั้นย่อมเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน. ยักษ์สูจิโลมะหมายถึงความข้อนั้นจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ปารคงฺคาย ความว่า เขากล่าวว่า หรือว่า เราจักจับเท้าทั้ง ๒ แห่งท่านขว้างข้ามฝั่งแม่น้ำคงคาไปอย่างที่จะกลับมาไม่ได้. บทว่า สเทวเก เป็นต้น มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว.

บทว่า ปจฺฉ ยทา กงฺขสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาอย่างผู้รู้ว่า ท่านต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จงถามได้ทั้งหมด เราจักชี้แจงแก่ท่านไม่ให้เหลือ. บทว่า กุโต นิทานา ความว่า มีอะไรเป็นเค้ามูล มีอะไรเป็นปัจจัย. บทว่า กุมารกา ธงฺกมิโวสฺสชฺชนฺติ ความว่า ถามว่า พวกเด็กจับกามาแล้วปล่อยขว้างไปฉันใด บาปวิตกที่ตั้งขึ้นจากที่ไหนก็ปล่อยจิตไปฉันนั้น. บทว่า อิโต นิทานา ความว่า อัตภาพนี้เป็นต้นเค้าของวิตกเหล่านั้น เหตุนั้น วิตกนั้นจึงชื่อว่าอิโต นิทานา (มีอัตภาพเป็นต้นเค้า). บทว่า อิโตชา แปลว่า เกิดจากอัตภาพนั้น. บทว่า อิโต สมุฏฺาย มโนวิตกฺกา ความว่า พวกเด็กผูกเชือกที่ข้อขาของมันแล้วปล่อยกาที่ผูกไว้ด้วยเชือกยาว แม้มันไปได้ไกลก็ตกลงมาแทบเท้าของเด็กเหล่านั้นอีกฉันใด. บาปวิตกที่ตั้งขึ้นจากอัตภาพนี้ก็ปล่อยจิตฉันนั้น. บทว่า เสฺนหชา ได้แก่เกิดจากยางคือตัณหา. บทว่า อตฺตสมฺภูตา แปลว่า เกิดในตน. บทว่า นิโคฺรธสฺเสว ขนฺธชา คือ เหมือนรากที่เกิดจากต้นไทร. บทว่า ปุถู คือ บาปวิตกและกิเลสที่ประกอบด้วยบาปวิตกนั้นมากคือหลายประการ. บทว่า วิสตฺตา ได้แก่ ติด เกี่ยว ข้อง. บทว่า กาเมสุ ได้แก่ วัตถุกาม. บทว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 394

มาลุวา วิตฺถตา วเน ความว่า เถาย่านไทรในป่าอาศัยต้นไม้ใดเกิดขึ้นมันพันต้นไม้นั้นทบไปมา ตั้งแต่โคนถึงยอด ตั้งแต่ยอดถึงโคน ปกคลุมห้อยย้อยขยายไปอยู่ฉันใด กิเลสกามเป็นอันมากข้องอยู่ในวัตถุกามหรือสัตว์เป็นอันมากข้องอยู่ในวัตถุกามด้วยกิเลสกามนั้น ฉันนั้น. บทว่า เย นํ ปชานนฺติ ความว่า ก็ผู้ใด ย่อมรู้อัตภาพตามที่กล่าวไว้ในบทว่า อตฺตสมฺภูตา (เกิดในตน) นี้. บทว่า ยโตนิทานํ ความว่า ย่อมรู้สิ่งที่เป็นต้นเค้าของอัตภาพนั้น. บทว่า เต นํ วิโนเทนฺติ ความว่า ผู้นั้นย่อมบรรเทาคือนำออกซึ่งสมุทยสัจอันเป็นต้นเค้าของทุกขสัจกล่าวคืออัตภาพ ด้วยมรรคสัจด้วยประการฉะนี้. บทว่า เต ทุตฺตรํ ความว่า ผู้นั้นเมื่อนำสมุทยสัจออกได้จึงข้ามโอฆะคือกิเลสที่ข้ามยากนี้ได้. บทว่า อติณฺณปุพฺพํ ความว่า ไม่เคยข้ามสังสารวัฏฏ์ที่มีเบื้องปลายที่ใครๆ รู้ไม่ได้ แม้ในภายในแห่งความฝัน. บทว่า อปุนพฺภวาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่นิโรธสัจคือความไม่เกิดอีก.

เพราะเหตุนี้ เพื่อจะทรงประกาศอริยสัจ ๔ ด้วยคาถานี้ จึงทรงยังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยธรรมมีพระอรหัตเป็นยอด. ในที่สุดแห่งเทศนายักษ์สูจิโลมะยืนอยู่ในที่นั้นเอง ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ก็ชื่อว่า พระโสดาบันทั้งหลายย่อมไม่ตั้งอยู่ในอัตภาพที่เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น หัวหูด ขนแหลมอย่างเข็มทั้งปวงที่ร่างกายของยักษ์สูจิโลมะ จึงร่วงไปพร้อมกับได้โสดาปัตติผล. ยักษ์สูจิโลมะนั้นจึงนุ่งผ้าทิพย์ ห่มผ้าทิพย์ โพกผ้าทิพย์ ทรงเครื่องประดับของหอมและมาลัยทิพย์ มีผิวพรรณดังทอง ได้ปกครองภุมมเทวดา.

จบอรรถกถาสูจิโลมสูตร ที่ ๓