พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สุวีรสูตร ว่าด้วยสุวีรเทพบุตรมัวประมาท

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36447
อ่าน  449

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 454

สักกสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. สุวีรสูตร

ว่าด้วยสุวีรเทพบุตรมัวประมาท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 454

สักกสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. สุวีรสูตร

ว่าด้วยสุวีรเทพบุตรมัวประมาท

[๘๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

[๘๔๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกอสูรได้รบกับพวกเทวดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแลท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรมาบัญชาว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้ กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ดังนี้ แล้วมัวประมาทเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้ครั้งที่ ๒ แล ท้าวสักกะจอมเทวดาก็ได้ตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ แล้วมัวประมาทเสีย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 455

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสักกะจอมเทวดาก็ได้ตรัสเรียกสุวีรเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อสุวีระ พวกอสูรเหล่านี้กำลังพากันมารบพวกเทวดา พ่อจงไปป้องกันพวกอสูรไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ สุวีรเทพบุตรรับบัญชาของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ แล้วมัวประมาทเสีย.

[๘๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสกะสุวีรเทพบุตรด้วยคาถาว่า

บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม จะประสบสุขได้ ณ ที่ใด ดูก่อนสุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด.

[๘๕๐] สุวีรเทพบุตรทูลว่า

บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่นและไม่ใช้ใครๆ ให้กระทำกิจทั้งหลายอีกด้วย เขาพึงพรั่งพร้อมด้วยกามทุกอย่าง ข้าแต่ท่าวสักกะ ขอพระองค์จงตรัสบอกฐานะอันประเสริฐนั้น แก่ข่าพระองค์.

[๘๕๑] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

ที่ใด บุคคลเกียจคร้าน ไม่หมั่นถึงความสุขล่วงส่วนได้ สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 456

[๘๕๒] สุวีรเทพบุตรทูลว่า

ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงได้ความสุขใดโดยไม่ต้องทำการงาน ข้าแต่ท้าวสักกะขอพระองค์จงตรัสบอกความสุขนั้นอันประเสริฐ ที่ไม่มีความแห้งใจ ไม่มีความคับแค้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๘๕๓] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

หากความสุขจะมีได้โดยไม่ต้องทำการงาน ไม่ว่าในที่ไหนๆ ใครๆ ย่อมทรงชีพอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นทางแห่งนิพพาน สุวีระ เจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด.

[๘๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดาพระองค์นั้นอาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติอันมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความเป็นอิสระแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงพรรณนาคุณแห่งความเพียรคือความหมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้วอย่างนี้ พึงหมั่น เพียรพยายาม เพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง ข้อนี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 457

สักกสังยุตตวัณณนา

อรรถกถาสุวีรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสุวีรสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๑ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อภิยํสุ คือ เตรียมไปต่อสู้. มีกำลังเมื่อใด ในสูตรนั้นมีอนุบุพพิกถา ดังนี้ ได้ยินว่า ท้าวสักกะเป็นมาณพชื่อ มฆะ ในอจลคามในแคว้นมคธ พาบุรุษ ๓๐ คน ทำกัลยาณกรรมบำเพ็ญวัตรบท ๗ ทำกาละในที่นั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก. เทวดาพวกเก่าเจ้าถิ่นเห็นมฆมาณพนั้นพร้อมด้วยบริษัท ประกอบไปด้วยฐานะ ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันแรงกล้า คิดว่าเทวบุตรผู้เป็นอาคันตุกะมาแล้ว จึงเตรียมน้ำคันธบานเพื่อดื่ม. ท้าวสักกะได้ให้คำเตือนแก่บริษัทบริวารของตนว่า ดูก่อนผู้นิรทุกข์ อย่าดื่มน้ำคันธบาน จงแสดงเพียงอาการดื่มเท่านั้น. พวกเขาได้ทำอย่างนั้น. เทวบุตรเจ้าถิ่นดื่มน้ำคันธบานที่เข้านำเข้าไปให้ด้วยจอกทองตามต้องการ เมาล้มลงนอนอยู่บนแผ่นดินทองนั้นๆ. ท้าวสักกะกล่าวว่า จงจับพร้อมทั้งแม่ทั้งลูกไปดังนี้แล้ว จับที่เท้าขว้างไปที่เชิงภูเขาสิเนรุ. เทวบุตรทั้งปวงแม้ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ก็ไปตกลงในที่นั้น ด้วยเดชแห่งบุญของท้าวสักกะ. เทวบุตรเหล่านั้นได้ความรู้สึกตัวในเวลาที่อยู่กลางภูเขาสิเนรุ จึงกล่าวว่า พวกเราไม่ดื่มสุราละพ่อ. จำเดิมแต่นั้นจึงได้ชื่อว่า อสูร. ภายหลังแดนอสุรมีประมาณหมื่นโยชน์ ซึ่งตั้งขึ้นตามฤดู เพราะปัจจัยแห่งกรรมของพวกเขา ก็เกิดขึ้นในพื้นภายใต้แห่งภูเขาสิเนรุ. ท้าวสักกะตั้งอารักขาเพื่อต้องการไม่ให้เทวบุตรเหล่านั้นกลับมา. ท่านกล่าวหมายความว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 458

การคุ้มครองรักษา ๕ อย่าง ตั้งอยู่ในระหว่างเมืองที่ไม่มีใครรบได้ทั้งสองคือ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์และมหาราชทั้ง ๔.

จริงอยู่ เมืองทั้งสองคือ เทวนครและอสุรนคร ชื่อว่า เป็นเมืองที่ไม่มีใครรบได้ ก็เพราะเป็นเมืองที่ไม่อาจถูกยึดเอาด้วยการรบ ก็แล คราวใดพวกอสุรมีกำลัง คราวนั้น เมื่อประตูถูกพวกเทวดาหนีเข้าไปสู่เมืองและปิดเสียแล้ว แม้พวกอสูรตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. คราวใด พวกเทวดามีกำลังคราวนั้น เมื่อประตูถูกพวกอสูรหนีเข้าไป ปิดเสียแล้ว แม้พวกท้าวสักกะตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. เมืองทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่า กรุงอยุธยา ด้วยประการฉะนี้.

ท้าวสักกะตั้งอารักขาไว้ในที่ ๕ แห่ง มีนาคเป็นต้นนี้ ระหว่างเมืองทั้ง ๒ นั้น ในสถานที่ ๕ แห่ง. ในที่นั้น พวกนาค ท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า น้ำ. จริงอยู่ พวกนาคนั้นมีกำลังอยู่ในน้ำ. การป้องกันของพวกนาคนั้นอยู่ที่แนวที่ ๑ แห่งภูเขาสิเนรุนั้น พวกครุฑถือเอาด้วยศัพท์ว่า กโรฏิ. ได้ยินว่า น้ำและข้าวของพวกครุฑนั้นชื่อ กโรฏิ. พวกครุฑได้ชื่อตามน้ำและข้าวนั้น. การป้องกันของพวกครุฑนั้นอยู่ที่แนวที่ ๒. พวกกุมภัณฑ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ปยสฺสุกริ. ได้ยินว่า พวกกุมภัณฑ์นั้นเป็นพวกทานพและรากษส. การป้องกันของพวกนี้อยู่ที่แนวที่ ๓. พวกยักษ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ทมนยุทธ์. ได้ยินว่า พวกยักษ์นั้นเป็นนักรบกองโจร. การป้องกันของพวกยักษ์นี้อยู่ที่แนวที่ ๔. บทว่า จตุโร จ มหตฺถา คือ มหาราชทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้ว. การป้องกันของมหาราชเหล่านี้ อยู่ที่แนวที่ ๕. เพราะฉะนั้น ถ้าพวกอสูรโกรธ มีใจขุ่นมัว เข้าไปบุกรุกเมืองของพวกเทวดา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 459

ในการรบ. ที่ใด เป็นขอบเขตแรกแห่งภูเขา พวกนาคย่อมป้องกันที่นั้น. พวกอื่นที่ยังเหลือก็ป้องกันที่อื่นที่ยังเหลือ. ก็แล พวกอสูรนั้น เช่นเดียวกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยสมบัติคืออายุ ผิวพรรณ เกียรติยศ และความเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงไม่รู้ตัว ในระหว่างเมื่อดอกแคฝอยบานจึงรู้ว่า นี่ไม่ใช่เมืองของเทวดา ดอกปาริฉัตรบานในเมืองของเทวดานั้น แต่ในที่นี้มีต้นแคฝอยพวกเราถูกพวกสักกะแก่หลอกลวงให้ดื่มสุรา ก็แลเราจะไปยังเทวนครพวกเราจักยึดไว้ เราจักรบกับเทวนครนั้น ดังนี้แล้ว ขึ้นช้างม้าและรถ จัดทองเงินแก้วมณีและแก้วผลึก เตรียมรบ ลั่นกลองอสูร แยกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วน เตรียมพร้อมอยู่. พวกอสูรนั้นเริ่มขึ้นภูเขาสิเนรุ คล้ายแมลงเม่าขึ้นจอมปลวกเมื่อฝนตก. ในเวลานั้น พวกอสูรนั้นรบกับพวกนาคเป็นครั้งแรก. ก็ในการรบนั้น ผิวหรือหนังของใครๆ ไม่ขาด. เลือดก็ไม่ออก. เป็นเพียงยังกันและกันให้ร้อน เหมือนพวกเด็กเอาแพะไม้ชนกันอย่างเดียวเท่านั้น. พวกนาคตั้งร้อยโกฏิ พันโกฏิรบกับพวกอสูรนั้น ขับไล่พวกอสูรนั้นไปสู่เมืองอสูรแล้วกลับมา.

ก็เมื่อใด พวกอสูรมีกำลัง เมื่อนั้น พวกนาคก็ล่าถอยไปร่วมกับพวกครุฑ รบในแนวที่ ๒. แม้ในครุฑเป็นต้นกันอย่างนี้. แต่เมื่อใดพวกอสูรเหยียบย่ำที่ทั้ง ๕ แห่งนั้นได้ เมื่อนั้น ๕ กองพล ล่าถอยลงมารวมเป็นอันเดียวกัน ทีนั้นมหาราชทั้ง ๔ จึงไปกราบทูลความเป็นไปแก่ท้าวสักกะ. ท้าวสักกะฟังคำกราบทูลของมหาราชนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นเวชยันตรถ ๑๕๐ โยชน์ออกไปเอง หรือส่งพระโอรสองค์หนึ่งไป. ก็แลในเวลานั้น ท้าวสักกะผู้ต้องการจะส่งพระโอรสไป จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ดูก่อนพ่อสุวีระ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 460

บทว่า เอวํ ภทฺทนฺตวาติ โข ความว่า (สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า) ได้พระเจ้าข้า ดังนี้แล. บทว่า ปมาทํ อาปาเทสิ แปลว่า ได้ทำความประมาท. อธิบายว่า สุวีรเทวบุตรมีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม ลงสู่ถนนใหญ่สำเร็จด้วยทองยาว ๖๐ โยชน์ เที่ยวเล่นนักษัตรอยู่ในสวนนันทนวันเป็นต้น. บทว่า อนุฏฺหํ แปลว่า ไม่ขยัน. บทว่า อวายามํ แปลว่า ไม่พยายาม. บทว่า อลสฺวายํ ตัดบทว่า อลโส อยํ แปลว่า นี้ เกียจคร้าน. บทว่า น จ กิจฺจานิ การเย แปลว่า ไม่กระทำกิจอะไรๆ. บทว่า สพฺพกามสมิทฺธสฺส แปลว่า พึงเป็นผู้สำเร็จด้วยกามคุณทั้งปวง. บทว่า ตมฺเม สกฺก วรํ ทิส ความว่า สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ประเสริฐสุดของพวกเทวะ โปรดแจ้ง คือ บอกกล่าวซึ่งสิ่งประเสริฐ คือฐานะอันสูงสุด โอกาสนั้นแก่ข้าพเจ้า. บทว่า นิพฺพานสฺส หิ โส มคฺโค ความว่า ทางแห่งนิพพาน ชื่อว่า ฐานะที่ไม่ทำกรรมเป็นอยู่.

จบอรรถกถาสุวีรสูตรที่ ๑