พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เวปจิตติสูตร พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญขันติธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36450
อ่าน  424

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 468

๔. เวปจิตติสูตร

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญขันติธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 468

๔. เวปจิตติสูตร

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญขันติธรรม

[๘๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ฯลฯ

[๘๖๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสกะพวกอสูรว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันพวกอสูรพึงชนะ พวกเทวดาพึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังอสูรบุรี ในสำนักของเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ท้าวสักกะจอมเทวดาก็บัญชากะเทวดา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 469

ชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงความระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกเทวดาพึงชนะ พวกอสูรถึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลในสงความครั้งนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้จับท้าวเวปจิตติจอมอสูรมัดด้วยการมัดห้าแห่ง อันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของท้าวสักกะจอมเทวดา.

[๘๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ทราบว่า ในครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรถูกมัดด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ ได้ด่าบริภาษท้าวสักกะจอมเทวดา ซึ่งกำลังเสด็จเข้าและออกยังสุธรรมาสภา ด้วยวาจาอันหยาบคายมิใช่ของสัตบุรุษ.

[๘๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีเทพบุตร ผู้สงเคราะห์ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยคาถาว่า

ข้าแต่ท้าวสักกะมฆวาฬ พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำอันหยาบคาย เฉพาะหน้า ของท้าวเวปจิตติจอมอสูร ยังทรงอดทนได้ เพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง พระเจ้าข้า.

[๘๗๑] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

เราอดทนถ้อยคำอันหยาบคายของท้าวเวปจิตติได้ เพราะความกลัวหรือเพราะไม่มีกำลัง ก็หาไม่ วิญญูชนผู้เช่นเราไฉนจะพึงโต้ตอบกับคบพาลเล่า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 470

[๘๗๒] มาตลีเทพบุตรทูลว่า

คนพาลไม่มีผู้กำราบ มันยิ่งกำเริบ เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงกำราบคนพาลด้วยอาชญาอย่างรุนแรง.

[๘๗๓] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบระงับได้ เราเห็นว่าการสงบระงับได้ของผู้นั้นแล เป็นการกำราบคนพาลละ.

[๘๗๔] มาตลีเทพบุตรทูลว่า

ข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็นโทษในความอดทนนี้แล เมื่อใด คนพาลย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้น คนมีปัญญาทรามยิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น.

[๘๗๕] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเราเพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนผู้ทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิต

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 471

ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลจำต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวกำลังของผู้ซึ่งมีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ต่อผู้มีกำลังผู้ซึ่งธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้น โทษที่ลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะสงความซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของคนอื่น ว่าเป็นคนโง่ ดังนี้.

[๘๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทวดาพระองค์นั้นเข้าไปอาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยรัชสมบัติมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความเป็นอิสระแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ยังพรรณนาคุณของขันติ และโสรัจจะได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พวกเธอบวชแล้วในธรรมวินัยที่เรากล่าวชอบแล้วเช่นนี้ เป็นผู้อดทนและสงบเสงี่ยมนี้ จะพึงงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 472

อรรถกถาเวปจิตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเวปจิตติสูตรที่ ๔ ต่อไปนี้ :-

บทว่า เวปจิตฺตํ ความว่า ได้ยินว่า เขาเป็นหัวหน้าของพวกอสูร. บทว่า เยน สักว่า เป็นนิบาต. บทว่า นํ แปลว่า นั้น. บทว่า กณฺปญฺจเมหิ ความว่า ที่มัด ๕ แห่ง คือที่มือ ๒ ที่เท้า ๒ และที่คอ ๑ ก็เครื่องมัดนั้นย่อมมาสู่คลองจักษุ คือ ปิดกั้นอิริยาบถเหมือนใยบัว และเหมือนใยแมลงมุม. ก็ถูกเขามัดด้วยเครื่องมัดเหล่านั้นไว้ด้วยจิต ก็ย่อมหลุดด้วยจิต. บทว่า อกฺโกสติ ความว่า เขาย่อมด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ เหล่านั้นว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นอูฐ เจ้าเป็นวัว เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เจ้าไม่มีสุคติ เจ้าหวังแต่ทุคติเท่านั้น. บทว่า ปริภาสติ ความว่า กล่าวคำเป็นต้นเหล่านี้ ขู่ว่า ดูก่อนเฒ่าสักกะ ท่านจักชนะทุกเวลาไม่ได้ เมื่อใดพวกอสูรจักชนะ. เมื่อนั้นเราจะมัดท่านอย่างนี้บ้าง จักให้นอนที่ประตูของแดนอสูรแล้วตี. ท้าวสักกะมีชัยชนะแล้ว ก็ใม่ใส่ใจคำของจอมอสูรนั้น. ก็แลมีการรับของอย่างใหญ่ท้าวสักกะฉุดที่หัวของจอมอสูรนั้น เข้าไปสู่เทวสภาชื่อ สุธัมมาและกลับออกมา. บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า มาตลีเทพบุตรพิจารณาว่า ท้าวสักกะนี้อดทนต่อคำหยาบเหล่านี้ เพราะความกลัวหรือ หรือว่า เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันติ จึงทูลแล้ว.

บทว่า ทุพฺพเลฺยน แปลว่า ด้วยความอ่อนแอ. บทว่า ปฏิสํยุเช แปลว่า จะพึงสมคบ คือจะพึงคลุกคลี. บทว่า ปภิชฺเชยฺยุํ แปลว่า จะพึงร้าวราน. บาลีว่า ปภุชฺเชยฺยํ บ้าง. บทว่า ปรํ แปลว่า ข้าศึก. บทว่า โย สโต อุปสมฺมติ ความว่า ผู้ใดมีสติเข้าไประงับ อธิบายว่า เราเข้าไป

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 473

ระงับ คือห้ามคนพาลนั้น. บทว่า ยทา นํ มญฺติ ความว่า สำคัญโทษนั้น เพราะเหตุใด. บทว่า อชฺฌารูหติ แปลว่า กดขี่. บทว่า โคว ภิยฺโย ปลายินํ ความว่า พวกวัวยืนดูวัว ๒ ตัวกำลังชนกันในฝูงเพียงที่ตัวหนึ่งยังไม่หนี แต่เมื่อใดตัวหนึ่งหนี เมื่อนั้นพวกวัวทั้งปวง ก็ช่วยกันไล่กวดวัวตัวที่หนีนั้นยิ่งขึ้น ฉันใด คนโง่ก็ข่มทับผู้อดทน ฉันนั้น. บทว่า สทตฺถปรมา แปลว่า มีประโยชน์ตนเป็นอย่างยิ่ง. บทว่า ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ ความว่า ในประโยชน์ที่มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่งนั้น ประโยชน์ที่ยิ่งกว่าขันติไม่มี. บทว่า ตมาหุ ปรมํ ขนฺตึ ความว่า ผู้ใดมีกำลังย่อมอดทนได้ ท่านกล่าวขันตินั้นของผู้นั้นว่า เป็นอย่างยิ่ง. กำลังที่เกิดจากความไม่รู้ ชื่อกำลังของคนโง่. กำลังของคนโง่นั้น เป็นกำลังของผู้ใด กำลังนั้นไม่เป็นกำลังท่านไม่กล่าว คือ บอกแสดงกำลังนั้นว่า เป็นกำลัง. บทว่า ธมฺมคุตฺตสฺส ความว่า ผู้อันธรรมรักษาแล้ว หรือผู้รักษาธรรม. บทว่า ปฏิวตฺตา แปลว่า ผู้กล่าวโต้แย้ง. หรือว่า พึงกล่าวโต้แย้งว่า อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม. แต่ว่าชื่อว่า ผู้สามารถจะยังผู้ตั้งอยู่ในธรรมไม่หวั่นไหวไม่มี. บทว่า ตสฺเสว เตน ปาปิโย ความว่า ความชั่วของบุคคลนั้นย่อมมี เพราะความโกรธนั้น. ถามว่าเป็นความชั่วของใคร. ตอบว่า ของคนผู้โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ. บทว่า ติกิจฺฉนฺตานํ เป็นพหุวจนะใช้ในเอกวจนะ. อธิบายว่า รักษาประโยชน์ไว้ได้. บทว่า ชนา มญฺนฺติ ความว่า ปุถุชนผู้โง่เขลาย่อมสำคัญว่า คนโง่เขลานี้ย่อมสำคัญบุคคลผู้แก้ไขยังประโยชน์ ทั้ง ๒ ฝ่าย คือของตนและของผู้อื่นเห็นปานนี้ ให้สำเร็จ. บทว่า ธมฺมสฺสอโกวิทา ความว่า ไม่ฉลาดในอริยสัจ ๔. บทว่า อิธ แปลว่า ในศาสนานี้. บทว่า โข ตํ เป็นเพียงนิบาต.

จบอรรถกถาเวปจิตติสูตรที่ ๔