๑๐. สมุททกสูตร ว่าด้วยท้าวสมพรจอมอสูรถูกสาป
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 486
๑๐. สมุททกสูตร
ว่าด้วยท้าวสมพรจอมอสูรถูกสาป
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 486
๑๐. สมุททกสูตร
ว่าด้วยท้าวสมพรจอมอสูรถูกสาป
[๘๙๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
[๙๐๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมมากรูปด้วยกัน อาศัยอยู่ในกุฏีที่มุงบังด้วยใบไม้แทบฝั่งสมุทร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นแล สงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นพากันคิดเห็นว่า พวกเทวดาตั้งอยู่ในธรรม พวกอสูรไม่ตั้งอยู่ในธรรม ภัยนั้นพึงเกิดแก่พวกเราเพราะอสูรโดยแท้ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรเข้าไปหาท้าวสมพรจอมอสูรแล้วขออภัยทานเถิด.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 487
[๙๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นได้อันตรธานไปในบรรณกุฎีแทบฝั่งสมุทร ไปปรากฏอยู่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูรเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวกะท้าวสมพรจอมอสูรด้วยคาถาว่า
พวกฤาษีมาขออภัยทานกะท้าวสมพร การให้ภัยหรือให้อภัย ท่านกระทำได้โดยแท้.
[๙๐๒] ท้าวสมพรจอมอสูรได้กล่าวตอบว่า
การอภัยไม่มีแก่พวกฤาษี ผู้ชั่วช้าคบหาท้าวสักกะ เราให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้นแก่พวกท่านผู้ขออภัย.
[๙๐๓] พวกฤาษีกล่าวว่า
ท่านให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้นแก่พวกเราผู้ขออภัย พวกเราขอรับเอาแต่อภัยอย่างเดียว ส่วนภัยจงเป็นของท่านเถิด บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว แน่ะพ่อ ท่านหว่านพืชลงไปไว้แล้ว ท่านจักต้องเสวยผลของมัน.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 488
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้สาปแช่งท้าวสมพรจอมอสูร แล้วอันตรธานหายไปในที่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูรแล้วไปปรากฏอยู่ในบรรณกุฎีแทบฝั่งสมุทร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.
[๙๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสมพรจอมอสูรถูกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นสาปแช่งแล้ว ได้ยินว่า ในคืนวันนั้น ตกใจหวาดหวั่นถึงสามครั้ง.
จบสมุททกสูตร
จบวรรคที่ ๑
อรรถกถาสมุททกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสมุททกสูตรที่ ๑๐ ต่อไปนี้ :-
บทว่า สมุทฺทตีเร ปณฺณกุฏีสุ ความว่า พวกฤาษีอาศัยอยู่ในบรรณศาลา มีประการดังกล่าวแล้วบนหาดทราย มีสีเหมือนแผ่นเงินหลังมหาสมุทรในจักรวาล. บทว่า สิยาปิ นํ แก้เป็น สิยาปิ อมฺหากํ แปลว่าแม้พึงมีแก่พวกเรา บทว่า อภยทกฺขิณํ ยาเจยฺยาม ได้แก่ พึงขออภัยทาน. นัยว่า สงความระหว่างเทวดาและอสูร โดยมากมีขึ้นที่หลังมหาสมุทร. ชัยชนะมิได้มีแก่พวกอสูรในทุกเวลา. พวกอสูรเป็นฝ่ายแพ้เสียหลายครั้ง.
พวกอสูรเหล่านั้น แพ้เทวดาแล้วพากันหนีไปทางอาศรมบทของพวกฤาษี โกรธว่า ท้าวสักกะ ปรึกษากับพวกฤาษีเหล่านี้ ทำเราให้พินาศ โดยพวกท่านจับทั้งแม่ทั้งลูก. พวกอสูรจึงพากัน ทำลายหม้อน้ำดื่มและศาลาที่จงกรมเป็นต้นในอาศรมบทนั้น. พวกฤาษีถืออาผลาผลจากป่ากลับมาเห็นช่วยกันทำ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 489
ให้เหมือนเดิมด้วยความลำบากอีก. แม้พวกอสูรเหล่านั้นก็ทำให้พินาศอย่างนั้นบ่อยๆ. เพราะฉะนั้น พวกฤาษีสดับว่า บัดนี้ สงความระหว่างเทวดาและอสูรปรากฏขึ้นดังนี้ จึงคิดอย่างนั้น. บทว่า กามํ กโร ได้แก่ กระทำตามความปรารถนา. บทว่า ภยสฺส อภยสฺส วา แก้เป็น ภยํ วา อภยํ วา แปลว่า ภัย หรือ อภัย. ท่านอธิบายข้อนี้ไว้ว่า หากท่านประสงค์จะให้อภัยก็พอให้อภัยได้ หากท่านประสงค์จะให้ภัยก็พอจะให้ภัยได้ แต่สำหรับพวกอาตมา ท่านจงให้อภัยทานเถิดดังนี้. บทว่า ทุฏฺานํ แปลว่า ผู้ประทุษร้ายแล้ว คือผู้โกรธแล้ว. บทว่า ปวุตฺตํ คืออันเขาหว่านไว้ในนา. บทว่า ติกฺขตฺตุํอุพฺพิชฺชติ ความว่า จอมอสูรบริโภคภัตรในตอนเย็นแล้วขึ้นที่นอน นอนพอจะงีบหลับ ก็ลุกขึ้นยืนร้องไปรอบๆ. เหมือนถูกหอกร้อยเล่มทิ่มแทง. ภพอสูรหนึ่งหมื่นโยชน์ถึงความปั่นป่วนว่า นี่อะไรกัน. ลำดับนั้น พวกอสูรพากันมาถามจอมอสูร นี่อะไรกัน. จอมอสูรไม่พูดอะไรเลย. แม้ในยามที่สองเป็นต้นก็มีนัยนี้แล. ด้วยประการฉะนี้ เมื่อพวกอสูรพากันปลอบจอมอสูรว่า อย่ากลัวเลยมหาราชดังนี้ จนอรุณขึ้น. ตั้งแต่นั้นมา จอมอสูร ก็มีใจหวั่นไหวเกิดอาการไข้ด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล จอมอสูรนั้น จึงเกิดชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าเวปจิตติ.
จบ อรรถกถาสมุททกสูตรที่ ๑๐
จบ วรรคที่ ๑
รวมพระสูตรแห่งสักกสังยุตมี ๑๐ สูตร คือ
๑. สุวีรสูตร ๒. สุสิมสูตร ๓. ธชัคคสูตร ๔. เวปจิตติสูตร ๕. สุภาสิตชยสูตร ๖. กุลาวกสูตร ๗. นทุพภิยสูตร ๘. วิโรจนอสุรินทสูตร ๙. อารัญญกสูตร ๑๐. สมุททกสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา