๑. ปฐมเทวสูตร ว่าด้วยวัตรบท ๗
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 490
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. ปฐมเทวสูตร
ว่าด้วยวัตรบท ๗
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 490
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. ปฐมเทวสูตร
ว่าด้วยวัตรบท ๗
[๙๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นแล ฯลฯ
[๙๐๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ วัตรบท ๗ ประการ เป็นไฉน คือ เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่มยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ ดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ.
[๙๐๗] พระผู้มีภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 491
เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชนผู้เป็นบุคคล เลี้ยงมารดาบิดามีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวคำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษดังนี้.
อรรถกถาปฐมเทวสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมเทวสูตรที่ ๑ แห่งทุติยวรรค ต่อไปดังนี้ :-
บทว่า วตฺตปทานิ ได้แก่ ส่วนแห่งวัตร. บทว่า สมตฺตานิ คือ บริบูรณ์แล้ว. บทว่า สมาทินฺนานิ คือถือเอาแล้ว. บทว่า กุเล เชฏฺาปจายี ความว่า กระทำความยำเกรงผู้เป็นใหญ่ในตระกูลเป็นต้นว่า ปู่ ย่า อา น้า ลุง ป้า. บทว่า สณฺหวาโจ ได้แก่ มีวาจาน่ารักอ่อนหวาน. บทว่า มุตฺตจาโค ได้แก่ เสียสละ. บทว่า ปยตปาณี ได้แก่ ล้างมือเพื่อให้ไทยธรรม. บทว่า โวสฺสคฺครโต ได้แก่ ยินดีในการสละ. บทว่า ยาจโยโค ได้แก่ เป็นผู้ควรที่คนอื่นจะพึงขอ หรือว่า ผู้ประกอบด้วยการบูชานั่นแล ชื่อว่า ยาจโยโค. บทว่า ทานสํวิภาครโต ได้แก่ ยินดีแล้วในการให้และการแจก.
จบ อรรถกถาปฐมเทวสูตรที่ ๑