พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ตติยเทวสูตร ว่าด้วยวัตรบท ๗

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36459
อ่าน  467

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 494

๓. ตติยเทวสูตร

ว่าด้วยวัตรบท ๗


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 494

๓. ตติยเทวสูตร

ว่าด้วยวัตรบท ๗

[๙๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี.

ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือ พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้ที่พระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนมหาลี อาตมาเห็นท้าวสักกะจอมเทพ ถวายพร.

ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผู้ที่พระองค์ทรงเห็นนั้น จักเป็นรูปเปรียบของท้าวสักกะเป็นแน่ เพราะว่าท้าวสักกะจอมเทพยากที่ใครๆ จะเห็นได้ พระพุทธเจ้าข้า.

[๙๑๓] พ. ดูก่อนมหาลี อาตมารู้จักท้าวสักกะด้วย รู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะเพราะเป็นผู้สมาทานธรรมนั้นด้วย ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าท้าวมฆวา ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อนได้ให้ทานมาก่อน เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ท้าวปุรินททะ ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานโดยเคารพ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 495

เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ท้าวสักกะ. ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ที่พักอาศัย เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ท้าววาสวะ ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์ ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีนางอสุรกัญญานามว่าสุชาเป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าท้าวสุชัมบดี ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เทวานมินทะ.

[๙๑๔] ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ วัตรบท ๗ ประการ เป็นไฉนคือ เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว ๑ ดูก่อนมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ.

[๙๑๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 496

เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษดังนี้.

อรรถกถาตติยเทวสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในตติยเทวสูตรที่ ๓ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เจ้ามหาลีลิจฉวีคิดว่า ชนทั้งหลายพูดกันว่า ท้าวสักกเทวราช เราจักทูลถามความนี้กะพระทศพลว่า ท้าวสักกะมีอยู่หรือหนอ ผู้ใดเคยเห็นท้าวสักกะนั้นดังนี้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า ตญฺจ ปชานามิ เป็นเอกพจน์ลงในพหูพจน์. อธิบายว่า เรารู้ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วย. ได้ยินว่า ท้าวสักกะได้เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ ในบ้านอจลคามแคว้นมคธในอัตภาพก่อน เป็นบัณฑิต เป็นคนฉลาด. มฆมาณพนั้นได้มีจริยาเหมือนจริยาของพระโพธิสัตว์ เขาพาคน ๓๓ คนไปทำกรรมดี. วันหนึ่ง เขาใคร่ครวญด้วยปัญญาของตน ขนหยากเยื่อออกทั้งสองข้าง ในที่ที่มหาชนประชุมกันท่ามกลางบ้าน แล้วได้ทำที่นั้นให้เป็นที่น่ารื่นรมย์. เขาสร้างมณฑป ณ ที่นั้นอีก. เมื่อกาลล่วงไป เขาได้สร้างศาลาอีก. อนึ่ง เขาออก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 497

จากบ้านเที่ยวไป คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ สามคาวุตบ้าง โยชน์หนึ่งบ้าง ได้ทำที่ไม่เรียบให้เรียบกับสหายเหล่านั้น.

สหายทั้งหมดเหล่านั้น ร่วมใจกันสร้างสะพานในที่ที่ควรมีสะพานในที่นั้นๆ สร้างมณฑปเป็นต้นในที่ที่ควรแก่มณฑป ศาลา สระโบกขรณี สวนดอกไม้เป็นต้น ได้กระทำบุญมาก. มฆะบำเพ็ญวัตรบทเจ็ด ครั้นถึงแก่กรรมได้ไปเกิดบนภพดาวดึงส์กับพวกสหาย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเหตุทั้งปวงนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะถือธรรมเหล่าใด เรารู้ธรรมเหล่านั้นด้วย. นี้เป็นสังเขปกถาในการถึงความเป็นท้าวสักกะของท้าวสักกะ. ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้แล้ว ในสักกปัญหาวรรณนา อรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี.

จบอรรถกถาตติยเทวสูตรที่ ๓