พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อักโกธสูตร ว่าด้วยความไม่่โกรธ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36471
อ่าน  409

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 525

๕. อักโกธสูตร

ว่าด้วยความไม่โกรธ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 525

๕. อักโกธสูตร

ว่าด้วยความไม่โกรธ

[๙๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ

[๙๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจะทรงยังเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้พลอยยินดี ณ สุธรรมาสภา จึงได้ตรัสพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

ความโกรธ อย่าได้ครอบงำท่านทั้งหลาย และท่านทั้งหลายอย่าได้โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียน ย่อมมีในท่านผู้ประเสริฐทุกเมื่อ ก็ความโกรธเปรียบปานดังภูเขา ย่อมย่ำยีคนลามก ฉะนี้แล.

จบอักโกธสูตรที่ ๕

จบสักกปัญจกะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 526

อรรถกถาอักโกธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอักโกธสูตรที่ ๕ ต่อไปนี้ :-

บทว่า มา โว โกโธ อชฺฌภวิ ความว่า ความโกรธอย่าได้ครอบงำพวกท่าน พวกท่านนั่นแหละ จงครอบงำความโกรธ. บทว่า มา จ กุชฺฌิตฺถ กุชฺฌตํ ความว่า เมื่อเขาโกรธ อย่าโกรธตอบ. บทว่า อโกโธ ได้แก่ เมตตาและธรรมเป็นบุพภาคของเมตตา. บทว่า อหึสา ได้แก่ กรุณาและธรรมเป็นบุพภาคของกรุณา. บทว่า อถ ปาปชนํ โกโธ ปพฺพโตวาภิมทฺทติ ความว่า ความโกรธ ย่อมย่ำยีคนลามก เหมือนภูเขาขยี้ฉะนั้น.

จบอรรถกถาอักโกธสูตรที่ ๕ ตติยวรรค

จบอรรถกถาสักกสังยุต ด้วยประการฉะนี้

จบวรรณนาสารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรคด้วยประการฉะนี้.

รวมพระสูตรที่มีในวรรคที่ คือ

๑. ฆัตวาสูตร ๒. ทุพัณณิยสูตร ๓. มายาสูตร ๔. อัจจยสูตร ๕. อักโกธสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา สักกสูตร ๕ สูตรนี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว.

จบสักกสังยุตบริบูรณ์

รวมสังยุตที่มีในสคาถวรรคนี้ ๑๑ สังยุต คือ

๑. เทวตาสังยุต ๒. เทวปุตตสังยุต ๓. โกศลสังยุต ๔ มารสังยุต ๕. ภิกขุนีสังยุต ๖. พรหมสังยุต ๗. พราหมณสังยุต ๘. วังคีสสังยุต ๙.วนสังยุต ๑๐. ยักขสังยุต ๑๑. สักกสังยุต

จบสคาถวรรค