สิ่งนั้นไม่ใช่ของใคร และ ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย
แต่เพียงกล่าวคำว่า " ธรรมะ " นี้ เราไตร่ตรองพอที่จะรู้ไหมว่าธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีแน่นอน และ สิ่งนั้นไม่ใช่ของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่างซึ่งงปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงๆ คือขณะนี้ธรรมเมื่อกี้นี้ดับหมดแล้ว แล้วไม่ใช่อย่างช้าด้วย เร็วจนกระทั่งไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไรว่า เดี๋ยวเห็นเดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิด เดี๋ยวแข็ง ทั้งหมด เราพูดนี่ว่าเร็ว ความจริงเร็วยิ่งกว่านั้นอีก เดี๋ยวหนึ่ง ความจริงก็มีสภาพธรรมตั้งหลายอย่างปรากฏแม้กระนั้นจะบอกว่า เห็นก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี ได้ยินอย่างนี้ไม่ได้เข้าใจความเป็นธรรมเลย เป็นเราจะรู้ตรงไหนอีก
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 71
ข้อความบางตอนจาก นตุมหากสูตรที่ ๑
ว่าด้วยขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของใคร
[๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงนำไป พึงเผาหรือกระทำตามปัจจัย ซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในเชตวันวิหารนี้ ก็เธอทั้งหลายพึงคิดอย่างนี้หรือว่า ชนย่อมนำไป ย่อมเผา หรือย่อมกระทำตามปัจจัยซึ่งเราทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่ตนหรือสิ่งที่ นับเนื่องในตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลายเธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การจดจ้องหรือการคิดถึงธรรมแต่ละทาง เช่น ทางตา ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาคือรูปธรรม เป็นสี เกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และ การเห็นคือนามธรรม เกิดดับ ไม่ใช่เราที่เห็น การคิดอย่างนี้ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมและไม่ใช่หนทาง แต่การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาและการเห็น แม้ในขั้นฟัง ก็เป็นการ ค่อยๆ รู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่ปรากฏในแต่ละทวาร และนำไปสู่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพื่อละความเป็น ตัวตน สัตว์ บุคคล ได้