โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อลดละอกุศลที่จะเกิดใช่หรือไม่
ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นผู้ละอกุศลได้ตามฐานะของตน คือ
ในระดับมหากุศล ละอกุศลด้วยตทังคปหาน
ถ้าเป็นกุศลระดับมหัคคตะ ละอกุศลด้วยวิกขัมภนปหาน
ถ้ากุศลระดับโลกุตระ ย่อมละอกุศลด้วยสมุจเฉทปหาน
โยนิโสมนสิการ เป็นการพิจารณาโดยแยบคายถูกต้อง ขณะที่พิจารณาโดยแยบคาย ขณะนั้นเป็นกุศล
จากคำกล่าวที่ว่า โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง อาจทำให้เข้าใจคำว่าโยนิโสมนสิการผิดได้ ประการสำคัญ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ปัญญาครับ เป็นเจตสิกคนละดวงกัน คือมนสิการ
เจตสิก กับ ปัญญา (อโมหเจตสิก) ดังนั้น การพิจารณาสภาพธัมมตามความเป็นจริงเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่โยนิโสมนสิการ แต่โยนิโสมนิการทำหน้าที่ใส่ใจถึงอารมณ์นั้นด้วยความแยบคายถูกต้องครับ ซึ่งก็เกิดร่วมกับปํญญาด้วยครับ ซึ่งโยนิโสมนสิการก็มีหลายระดับขั้น หมายความว่า ขณะที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นมีโยนิโสมนสิการ กุศลก็มีหลายระดับ ทำให้โยนิโสมีหลายระดับด้วย
ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อลดละอกุศลที่จะเกิดใช่หรือไม่ ขณะที่โยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศลก็ละอกุศลโดยตัวมันเองเพราะจิตเป็นกุศลขณะนั้น และดังที่กล่าวมาแล้ว โยนิโสมนสิการมีหลายระดับ ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นสติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณ (ตทังคปหาน) ก็เป็นไปเพื่อละกิเลสไม่ให้เกิดอีกในกาลข้างหน้า ถ้าโยนิโสมนสิการเกิดกับจิตที่เป็นกุศลขั้นฌาน (วิกขัมภนปหาน) ก็เป็นการละกิเลสไม่ให้เกิดขณะที่อยู่ในฌาน เมื่อออกจากฌาน กิเลสก็เกิดได้อีกครับ ถ้าโยนิโสมนสิการเกิดกับจิตที่เป็นระดับโลกุตระ (ขณะมรรคจิตเกิด เป็นต้น) ขณะนั้น ละกิเลสที่มีอยู่จนหมดไม่มีเหลือ ตามระดับของมรรคนั้นครับ
แต่ธรรม คือ โยนิโสมนสิการ เป็นธรรมที่มีอุปการะมากที่จะได้ปัญญาและบรรลุธรรม
ลองอ่านดูนะ
เหตุให้เกิด สติ และ ปัญญา (สัมปชัญญะ) คือการพิจารณา [ตัณหาสูตร]
เรื่อง โยนิโสมนสิการเป็นเหตุให้บรรลุธรรม แต่ต้องเป็นโยนิโสมนสิการ ที่เกิดกับสติปัฏฐานครับ
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 77
ข้อความบางตอนจาก ปฐมโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร
โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๖] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นมิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอบคุณค่ะ ที่ให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่อง โยนิโสมนสิการ เพราะเพื่อนที่สนใจปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ก็จะชอบถามเรื่องประสบการณ์ในการปฏิบัติ เช่น กรณี ถ้าเรามีความโกรธเราจะทำอย่างไร ดิฉันก็ตอบตามความเข้าใจที่เคยได้ฟังอ.สุจินต์บรรยาย เรื่อง การโยนิโสมนสิการ ว่าเราต้องพิจารณาด้วยความแยบคายว่าความโกรธนั้นเป็นอะไร โกรธแล้วดีไหม เราสมควรโกรธหรือไม่ ถ้าโกรธแล้วจิตเป็นอกุศล เราสมควรโกรธหรือสมควรละความโกรธนั้น ละแบบนี้ ดิฉันแนะนำเพื่อนถูกหรือเปล่าคะ
การแนะนำให้เพื่อนได้เข้าใจความจริง อาจแนะนำได้หลายๆ นัยเพื่อการบรรเทาความโกรธ แต่ขณะที่โกรธนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เราหรือตัวตนของเราเลย
การที่สติระลึกรู้ว่าโกรธไม่ใช่เราก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย เราบังคับบัญชาเองไม่ได้ แต่โดยสภาพแล้ว ภาพ เสียงและสถานการณ์ภายนอกต่างก็เป็นเช่นนั้นเอง ภาพก็คือภาพ เสียงก็คือเสียง ไม่สามารถทำให้เราโกรธได้เลย กิเลสเราต่างหากที่ทำร้ายเราเอง