การพิจารณาความตาย

 
oom
วันที่  8 พ.ค. 2550
หมายเลข  3663
อ่าน  13,388

ในวันหนึ่งๆ ถ้าเราพิจารณาถึงความตายแล้ว ทำให้ใจเรารู้สึกหมดความยึดมั่นถือมั่น คือ ไม่อยากได้อะไรพอใจในสิ่งที่มีอยู่ แต่ขวนขวายที่จะกระทำความดีและละอกุศลต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นมรณานุสสติหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 8 พ.ค. 2550

สติอันปรารภความตายเกิดขึ้น ชื่อ มรณานุสติ ขณะที่สติเกิดขึ้นกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่มีปกติเจริญมรณานุสติ ย่อมไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ย่อมละความเมาในชีวิตเสียได้

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑

สติอันปรารภความตายเกิดขึ้น ชื่อ มรณานุสติ คำว่า มรณานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีความขาดแห่งชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์ อนึ่งด้วยมรณสติ เธอคิดอยู่ว่า ด้วยมรณสติ เธอคิดอยู่ว่า อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ (เราต้องตายแน่) ดังนี้ จะละอเนสนาเสียได้ มีความสังเวชเพิ่มขึ้นๆ เป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน (ในสัมมาปฏิบัติ)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 140

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 8 พ.ค. 2550

วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 8 พ.ค. 2550

การเจริญมรณานุสสติ คือการระลึกถึงความตายบ่อยๆ จิตจะสลดจากอกุศล จะไม่ประมาทกับการทำความดีทุกอย่าง โดยเฉพาะการฟังธรรมและการอบรมปัญญา เพราะถ้าสติปัฏฐานเจริญขึ้น นั้นคือนาทีทองของชีวิตที่เกิดมา ไม่ปล่อยให้ลมหายใจทิ้งไปเปล่าๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 พ.ค. 2550

การพิจารณาถึงความตาย ตามพระไตรปิฎกแสดง ย่อมเป็นมรณานุสสติ แต่ต้องไม่ลืมว่ากุศล (มรณานุสสติ) เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็ดับไป และมรณานุสสติเป็นกุศลที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ ดังนั้น ก็ยังไม่สามารถละความยึดมั่นถือมั่นได้ ดังนั้น เราต้องมาพิจารณาคำว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าคืออะไร คำนี้ หมายถึงยึดมั่นว่าเป็นเราและของเรา ซึ่งจะละด้วยการเจริญวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) แต่ขณะที่กุศลขั้นสมถภาวนา (มรณานุสสติ) พิจารณาถึงความตาย ไม่ใช่กุศลขั้นวิปัสสนา จึงไม่สามารถละความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราได้ ขณะที่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ก็เป็นเราที่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ยังไม่ได้ละความยึดมั่นว่าเป็นเรา ขณะที่ขวนขวายที่จะทำความดี ละชั่ว ก็เป็นเราขวนขวาย ยังไม่ได้ละความเป็นเรา ดังนั้น มรณานุสสติจึงเป็นกุศลระดับหนึ่งที่ควรเจริญและควรเห็นความแตกต่างระหว่างกุศลที่สามารถดับกิเลสได้ และดับไม่ได้ครับ หนทางเดียวก็คือสติปัฏฐาน ละความยึดมั่นว่าเป็นเราครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 พ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 26

๙. ปฐมอายุสูตร

ว่าด้วยอายุน้อย

[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก จำต้องไปสู่สัมปรายภพ ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่นาน ย่อมเป็นอยู่ได้เพียงร้อยปี หรือจะอยู่เกินไปได้บ้าง ก็มีน้อย.

[๔๔๑] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า อายุของมนุษย์ทั้งหลายยืนยาว คนดีไม่ควรดูหมิ่นอายุนั้นเลย ควรประพฤติดุจเด็กอ่อนที่เอาแต่กินนม ฉะนั้น ไม่มีมัจจุมาดอก.

[๔๔๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย คนดีควรดูหมิ่นอายุนั้นเสีย ควรประพฤติดุจคนที่ถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น การที่มัจจุไม่มา จะไม่มีเลย.

ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นแล.

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อิสระ
วันที่ 8 พ.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Buppha
วันที่ 10 พ.ค. 2550

ขออนุโมทนา

การเจริญกุศล (มรณานุสสติ) ระงับได้เพียงชั่วคราว แต่ว่าดับกิเลสไม่ได้ การละความไม่รู้ ความเห็นผิด ต้องละด้วยความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่จริงๆ ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
suwit02
วันที่ 13 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ING
วันที่ 11 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 30 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 1 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 3 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ