จาก วิตตสูตร เรื่อง รสดียิ่งกว่าคือ สัจจะ

 
thongdaeng
วันที่  10 พ.ค. 2550
หมายเลข  3674
อ่าน  2,204

ขอถามว่า รส ในที่นี้แปลว่า อะไร? เหตุใดจึงยกว่า สัจจะ เปรียบเป็น รส? (ใช้ประสาทสัมผัสส่วน ลิ้น รับทราบ ได้ด้วยหรือ จึงใช้คำว่า รส หรือเป็นการเปรียบเทียบเคียงเอาว่า แผ่ซ่าน อร่อย)

ขอคำอธิบายจากท่านผู้รู้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 11 พ.ค. 2550

คำว่า " รส " ในอรรถกถาวิภังค์อธิบายว่า ที่ชื่อว่า รส เพราะอรรถว่าเป็นที่ยินดี คือเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้น สัจจะรส คือการพูดความจริง วาจาที่จริง จึงเป็นที่ยินดีชอบใจของสัตว์ทั้งหลายในอรรถกถาวิตตสูตร ท่านกล่าวถึง อำนาจสัจจกิริยา เลิศกว่ารสทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 301 ข้อความตอนหนึ่งจากอรรถกถาวิตตสูตร

บทว่า สาธุตรํ แปลว่า รสดียิ่งกว่า คือว่า สัจจะ (ความจริง) เท่านั้นเป็นรสดีกว่ารสทั้งปวงอันมีรสเค็มและรสเปรี้ยว เป็นต้น อธิบายว่า บุคคลตั้งอยู่ในสัจจะ ย่อมยังแม้แม่น้ำอันไหลเชี่ยวให้ไหลกลับได้ ย่อมนำพิษร้ายออกได้ ย่อมห้ามแม้ไฟ ย่อมยังฝนให้ตกก็ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สัจจะนั้นเป็นรสดี ยิ่งกว่ารสทั้งปวง ดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 11 พ.ค. 2550

สัจจะเป็นรสอย่างยิ่ง รสในที่นี้ คือ รสของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นสัจจธรรมความจริงที่พิสูจน์ได้ รสของพระธรรมทำให้เกิดความสุขโสมนัสปิติ เลิศกว่ารสทั้งหลายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 11 พ.ค. 2550

ขอถามว่า รส ในที่นี้แปลว่า อะไร เหตุใดจึงยกว่า สัจจะเปรียบเป็น รส (ใช้ประสาทสัมผัสส่วนลิ้น รับทราบได้ด้วยหรือจึงใช้คำว่า รส หรือเป็นการเปรียบเทียบเคียงเอาว่า แผ่ซ่าน อร่อย) ขอคำอธิบายจากท่านผู้รู้ด้วยครับ

รส หมายถึงน่ายินดี รสที่อร่อยต่างๆ มีรสหวาน เปรี้ยว เป็นต้น ก็เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่ติดในรส แต่รสต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ได้แต่ทำให้ปุถุชนที่ติดในรส ตกต่ำ หรือไปสู่อบายเพราะเหตุแห่งรส (เค็ม หวาน) นั้น แต่รสคือ สัจจะ ความจริง ซึ่ง สัจจะ ก็มีหลายอย่าง วจีสัจจะ อริยสัจจะซึ่งสัจจะเหล่านี้ สามารถจะทำให้พ้นทุกข์ได้และเป็นธรรมที่เป็นฝ่ายดี ย่อมนำมาแต่ความเจริญ ดังนั้นจึงประเสริฐกว่ารสทั้งหลายที่กล่าวมา ที่เป็นเพียงรูปธรรม (รส เปรี้ยว หวาน) ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ธรรมที่ดับกิเลสได้ต้องเป็นนามธรรม คือสัจจะความจริงที่เป็น อริยสัจจะ หรือแม้แต่ วจีสัจจะวาจาจริง ก็เป็นธรรมฝ่ายดี ประเสริฐ และเป็นเบื้องต้นของการบรรลุธรรมดังนั้น รสของพระธรรม และ สัจจะ จึงประเสริฐสุด เพราะสามารถนำออกจากทุกข์ ดับกิเลสได้ครับ

เรื่อง สัจจะ (ความจริง) ย่อมทำให้ดับกิเลสได้จึงประเสริฐ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 690 ข้อความบางตอนจาก มหาสุตตโสมชาดก

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพระคาถาว่า รสเหล่าใดบรรดาที่มีอยู่ในแผ่นดิน ความสัตย์ ย่อมดีกว่ารสเหล่านั้น เพราะสมณพราหมณ์ที่ตั้งอยู่ใน ความสัตย์ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะเสียได้.
เรื่อง รสแห่งพระธรรมประเสริฐ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 327 ข้อความบางตอนจาก เรื่องท้าวสักกเทวราช อนึ่ง รส มีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนสูงแม้รสแห่งสุธาโภชน์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยิ่งสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้. ส่วนพระธรรมรสกล่าวคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือ โลกุตรธรรม ๙ ประการ นี้แหละประเสริฐกว่ารสทั้งปวง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า " สพฺพรสธมฺมรโส ชินาติ." (บรรดารสทั้งหลาย รสแห่งพระธรรมประเสริฐ)

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 30 เม.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ