๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑ ว่าด้วยลักษณะมุนี
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 26
๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑
ว่าด้วยลักษณะมุนี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 26
๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑
ว่าด้วยลักษณะมุนี
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนคร แคว้นอวันตี ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 27
มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้.
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไร.
[๑๒] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใดมีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในรูปธาตุ มุนีนั้นท่านกล่าวว่ามีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี เวทนา ... สัญญา ... สังขารธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใดมีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในสังขารธาตุ มุนีนั้นท่านกล่าวว่ามีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปด้วยประการ อย่างนี้แล.
[๑๓] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 28
คฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใดในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป อย่างนี้แล.
[๑๔] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ดูก่อนคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์ อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป อย่างนี้แล.
[๑๕] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและที่พักอันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดาเพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุไปพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วนทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 29
พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดีมุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป อย่างนี้แล.
[๑๖] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี มุนีบ้างคนในโลกนี้เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือ เป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้นก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล.
[๑๗] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือ ไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้นก็ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล.
[๑๘] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลาย อย่างนี้แล.
[๑๙] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 30
ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย อย่างนี้แล.
[๒๐] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล.
[๒๑] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล.
[๒๒] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ย่อมเป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อนท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลังท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 31
[๒๓] ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้ทำคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อนท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลังท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ ดูก่อนคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล.
[๒๔] ดูก่อนคฤหบดี พระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า
มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้.
ดูก่อนคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อนี้แล พึงเห็นโดยพิสดารอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
จบ หลิททิการนิสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 32
อรรถกถาหลิททิกานิสูตรที่ ๓
ในหลิททิกานิสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า อวนฺตีสุ ได้แก่ ในแคว้นอวันตี กล่าวคือ อวันตีทักขิณาปถ. บทว่า กุรรฆเร ได้แก่ ในนครมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า ปปาเต ได้แก่ ในเหวข้างหนึ่ง ได้ยินว่า ภูเขาลูกนั้นมีข้างแถบหนึ่งเป็นเสมือนขาดตกไป. บาลีว่า ปวตฺเต ดังนี้ก็มี อธิบายว่า เป็นสถานที่ประกาศลัทธิของพวกเดียรถีย์ต่างๆ. ดังนั้นพระเถระจึงอาศัยนครนั้นในรัฐนั้นแล้วอยู่บนภูเขานั้น. บทว่า หลิทฺทิกานิ ได้แก่ คฤหบดีนั้นผู้มีชื่ออย่างนั้น บทว่า อฏฺกวคฺคิเย มาคณฺฑิยปญฺเห ได้แก่ ในปัญหาที่มีชื่อว่า มาคัณฑิยปัญหาในวรรคที่ ๘.
ด้วยบทว่า รูปธาตุ ท่านประสงค์เอารูปขันธ์. บทว่า รูปธาตุราควินิพนฺธํ ความว่า อันความกำหนัดในรูปธาตุรึงรัดแล้ว. บทว่า วิฺาณํ ได้แก่ กรรมวิญญาณ. บทว่า โอกสารี ได้แก่ ผู้อาศัยเรือนอยู่ประจำ คือผู้อาศัยอาลัยอยู่ประจำ. ถามว่า ก็เพราะเหตุไรในที่นี้ท่านจึงไม่กล่าวว่า วิญฺาณธาตุ โข คหปติ. แก้ว่า เพื่อกำจัดความงมงาย. จริงอยู่ ว่าโดยอรรถ ปัจจัย ท่านเรียกว่า โอกะ กรรมวิญญาณที่เกิดก่อนย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่กรรมวิญญาณทั้งแก่วิบากวิญญาณที่เกิดภายหลัง ส่วนวิบากวิญญาณย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่วิบากวิญญาณทั้งแก่กรรมวิญญาณ ฉะนั้น เพื่อจะกำจัดความงมงายที่จะพึงมีว่า อะไรหนอแลชื่อว่าวิญญาณ ในที่นี้จึงไม่ทรงกำหนดเอาข้อนั้นทำเทศนาโดยไม่ปนเปกัน อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยอำนาจอารมณ์ เพื่อจะแสดงวิญญาณฐิติที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๔ อย่าง ที่ตรัสไว้นั้น จึงไม่จัดวิญญาณเข้าในที่นี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 33
อุบายในคำว่า อุปายุปาทานา มี ๒ อย่าง คือ ตัณหาอุบาย ๑ ทิฏฐิอุบาย ๑ และอุปาทานในคำว่า อุปายุปาทานา มี ๔ อย่าง มีกามุปาทานเป็นต้น. บทว่า เจตโส อธิฏฺานาภินิเวสานุสยา ได้แก่ เป็นที่ตั้งอาศัย เป็นที่ยึดมั่น และเป็นที่นอนเนื่องแห่งอกุศลจิต. บทว่า ตถาคตสฺส ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงอยู่ ตัณหาและอุปาทานเหล่านั้น พระขีณาสพทุกจำพวกละได้แล้ว. แต่เมื่อว่าโดยส่วนสูงท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ความที่พระศาสดาเป็นพระขีณาสพ ปรากฏชัดแล้วในโลก. ถามว่า เพราะเหตุไรท่านจึงจัดวิญญาณไว้ในที่นี้ว่า วิญฺาณธาตุยา ดังนี้. แก้ว่า เพื่อแสดงการละกิเลส. ด้วยว่า กิเลสที่ท่านละในขันธ์ ๔ เท่านั้น ยังไม่เป็นอันละได้ ต้องละได้ขันธ์ทั้ง ๕ จึงเป็นอันละได้ ฉะนั้น ท่านจึงจัดไว้ เพื่อแสดงการละกิเลส. บทว่า เอวํ โข คหปติ อโนกสารี โหติ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยประจำอย่างนี้ คือด้วยกรรมวิญญาณที่ไม่อาศัยที่อยู่.
บทว่า รูปนิมิตฺตนิเกตวิสารวินิพนฺธา ความว่า รูปนั่นแหละชื่อว่านิมิต เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัยของกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่า นิเกต เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัยกล่าวคือเป็นอารมณ์ ดังนั้น จึงชื่อว่ามีรูปเป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย. ความซ่านไปและความพัวพัน ชื่อว่า วิสารวินิพันธะ. ด้วยสองบทว่า วิสาระ และ วินิพันธะ ท่านกล่าวถึงความที่กิเลสแผ่ไปและความที่กิเลสพัวพัน. บทว่า รูปนิมิตฺตนิเกตวิสารวินิพนฺธา แปลว่า เพราะซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ฉะนั้นจึงมีอธิบายว่า ด้วยความซ่านไปแห่งกิเลส และด้วยความพัวพันแห่งกิเลสที่เกิดขึ้นในรูปที่เป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย. บทว่า นิเกตสารีติ วุจฺจติ ความว่า สถานที่เป็นที่อยู่อาศัย ท่านเรียกว่า สารี โดยกระทำให้เป็น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 34
อารมณ์. บทว่า ปหีนา ความว่า พระตถาคตทรงละความซ่านไปและความพัวพันแห่งกิเลสในรูปที่เป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย. ถามว่าก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ เบญจขันธ์ท่านจึงเรียกว่า โอกะ อารมณ์ ๖ ท่านจึงเรียกว่า นิเกตะ แก้ว่า เพราะฉันทราคะมีกำลังแรงและมีกำลังอ่อน. จริงอยู่ แม้เมื่อฉันทราคะมีกำลังเสมอกัน อารมณ์เหล่านั้นก็มีความแตกต่างกัน ด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย คือ เรือนเป็นที่อยู่อาศัยประจำนั่นแล ท่านเรียกว่า โอกะ. สวนเป็นต้น เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่นัดหมายกันทำงานว่า วันนี้พวกเราจักทำในที่โน้น ชื่อว่า นิเกตะในสองอย่างนั้น ในขันธ์ที่เป็นไปภายใน เหมือนฉันทราคะในเรือนที่เต็มด้วยบุตรภรรยาทรัพย์และธัญญาหารย่อมมีกำลังแรง. ในอารมณ์ภายนอก ๖ เหมือนฉันทราคะในที่สวนเป็นต้น มีกำลังอ่อนกว่านั้นฉะนั้น พึงทราบว่า ตรัสเทศนาอย่างนี้เพราะฉันทราคะมีกำลังแรงและมีกำลังอ่อน.
บทว่า สุขิเตสุ สุขิโต ความว่า เมื่อพวกอุปัฏฐากได้รับความสุขโดยได้ทรัพย์ธัญญาหารเป็นต้น ก็มีความสุขด้วยความสุขอาศัยเรือนว่าบัดนี้เราจักได้โภชนะที่น่าพอใจ เป็นเหมือนเสวยสมบัติที่พวกอุปัฏฐากเหล่านั้นได้รับ เที่ยวไป. บทว่า ทุกฺขิเตสุ ทุกฺขิโต ความว่า เมื่อพวกอุปัฏฐากเหล่านั้นเกิดความทุกข์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตนเองมีความทุกข์สองเท่า. บทว่า กิจฺจกรณีเยสุ ได้แก่ ในเรื่องที่ควรทำ คือกิจ. บทว่า โยคํ อาปชฺชติ ความว่า ช่วยขวนขวาย คือ ทำกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในวัตถุกามทั้งหลาย. บทว่า เอวํ โข คหปติ กาเมหิ น ริตฺโต โหติ ความว่า เป็นผู้ไม่ว่างจากกิเลสกามทั้งหลาย คือเป็นผู้ไม่เปล่าเพราะยังมีกามภายใน อย่างนี้. ฝ่ายตรงข้าม พึงทราบว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 35
ว่าง คือเปล่า เพราะไม่มีกามเหล่านั้น.
บทว่า ปุรกฺขราโน ได้แก่ มุ่งเพ่งแต่โทษ. ในบทว่า เอวํรูโป สิยํ เป็นต้น ได้แก่ ปรารถนาว่า เราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ในบรรดารูปที่สูงและต่ำ ดำและขาว เป็นต้น ปรารถนาว่า ในเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีเวทนาอย่างนั้น ในสัญญามีสัญญาที่กำหนดด้วยนีลกสิณเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีสัญญาอย่างนั้น ในสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีสังขารอย่างนั้น ในวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีวิญญาณอย่างนั้น. บทว่า อปุรกฺขราโน ได้แก่ ไม่มุ่งแต่โทษ.
บทว่า สหิตมฺเม อสหิตนฺเต ได้แก่ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ไม่สละสลวย คำของเรามีประโยชน์ สละสลวย หวาน. บทว่า อธิจิณฺณนฺเต วิปราวตฺตํ ได้แก่ คำพูดของท่านที่สะสมคล่องแคล่วดีมานานทั้งหมดนั้นพอมาถึงวาทะของเราก็เปลี่ยนแปรกลับกันโดยทันที. บทว่า อาโรปิโต เต วาโท ได้แก่ โทษของท่านเรายกขึ้นแล้ว. บทว่า จรวาทปฺปโมกฺขาย ความว่า ท่านจงท่องเที่ยวไปเข้าหาอาจารย์นั้นๆ เสาะหาให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อจะปลดเปลื้องวาทะนี้. บทว่า นิพฺเพเธหิ วา สเจปโหสิ ได้แก่ ถ้าตนเองสามารถ ท่านก็จงกล่าวแก้เสียในที่นี้เลยทีเดียว.
จบ อรรถกถาหลิททิการนิสูตรที่ ๓