พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อัตตทีปสูตร ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36800
อ่าน  527

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 88

อัตตทีปวรรคที่ ๕

๑. อัตตทีปสูตร

ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 88

อัตตทีปวรรคที่ ๕

๑. อัตตทีปสูตร

ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม

[๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถีี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ รูปนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 89

แก่เขา เพราะรูปแปรไปและเป็นอื่นไป ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะวิญญาณแปรไปและเป็นอย่างอื่นไป.

[๘๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่ารูปไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า รูปในกาลก่อน และรูปทั้งมวลในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปรกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่าผู้ดับแล้วด้วยองค์นั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่าเวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า วิญญาณในกาลก่อนและวิญญาณทั้งมวลในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปรกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่าผู้ดับแล้วด้วยองค์นั้น.

จบ อัตตทีปสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 90

อัตตทีปวรรคที่ ๕

อรรถกถาอัตตทีปสูตรที่ ๑

อัตตทีปวรรค สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า อตฺตทีปา ความว่า ท่านทั้งหลายจงทำตนให้เป็นเกาะ เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นคติที่ไปในเบื้องหน้า เป็นที่พึ่งอยู่เถิด. บทว่า อตฺตสรณา นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า อตฺตทีปา นั้นแล. บทว่า อนญฺสรณา นี้ เป็นคำห้ามพึ่งผู้อื่น ด้วยว่าผู้อื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะ คนหนึ่งจะพยายามทำอีกคนหนึ่งให้บริสุทธิ์หาได้ไม่ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน

คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนญฺสรณา ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ.

ถามว่า ก็ในที่นี้ อะไรชื่อว่าตน?

แก้ว่า ธรรมที่เป็นโลกิยะและเป็นโลกุตตระ (ชื่อว่าตน).

ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงตรัสว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺสรณา มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ ดังนี้. บทว่า โยนิ ได้แก่ เหตุ ดุจในประโยคมีอาทิว่า โยนิ เหสา ภูมิชผลสฺส อธิคมาย นี้แลเป็นเหตุให้บรรลุผลอันเกิดแต่ภูมิ. บทว่า กิํปโหติกา ได้แก่ มีอะไรเป็นแดนเกิด อธิบายว่า เกิดจากอะไร บทว่า รูปสฺส เตฺวว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 91

นี้ ท่านปรารภเพื่อแสดงการละความโศกเป็นต้น เหล่านั้นนั่นแล. บทว่า น ปริตสฺสติ ได้แก่ ไม่ดิ้นรน คือไม่สะดุ้ง. บทว่า ตทงฺคนิพฺพุโต ได้แก่ ดับสนิทด้วยองค์นั้นๆ เพราะดับกิเลสทั้งหลายด้วยองค์คือวิปัสสนานั้น. ในพระสูตรนี้ท่านกล่าวเฉพาะวิปัสสนาเท่านั้น.

จบ อรรถกถาอัตตทีปสูตรที่ ๑