พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อนิจจสูตรที่ ๒ ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36803
อ่าน  411

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 95

๔. อนิจจสูตรที่ ๒

ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 95

๔. อนิจจสูตรที่ ๒

ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕

[๙๓] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งไดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้น (อดีต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้นไม่มี ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลาย (อนาคต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลายไม่มี ความยึดมั่นอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี เมื่อความยึดมั่นอย่างแรงกล้าไม่มี จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เพราะหลุดพ้น จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ อนิจจสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 96

อรรถกถาอนิจจสูตรที่ ๒

ในอนิจจสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า ปุพฺพนฺตานุทิฏฺิโย ความว่า ทิฏฐิ ๑๘ ที่ไปตามที่สุด เบื้องต้นไม่มี. บทว่า อปรนฺตานุทิฏฺิโย ความว่า ทิฏฐิ ๔๔ ที่ไปตามที่สุด เบื้องปลายไม่มี. บทว่า ถามโส ปรามาโส ความว่า ความแรงของทิฏฐิและความยึดมั่นของทิฏฐิไม่มี. ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันทรงแสดงปฐมมรรคแล้ว.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงมรรค ๓ และผล ๓ พร้อมด้วยวิปัสสนา จึงเริ่มคำมีอาทิว่า รูปสฺมิํ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าทิฏฐิทั้งหลายละได้ด้วยวิปัสสนานั่นเอง แต่คำนี้ท่านเริ่มเพื่อแสดงมรรค ๔ พร้อมด้วยวิปัสสนาชั้นสูง

จบ อรรถกถาอนิจจสูตรที่ ๒