พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. พีชสูตร ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36811
อ่าน  479

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 110

๒. พีชสูตร

ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 110

๒. พีชสูตร

ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช

[๑๐๖] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้ ๕ อย่างเป็นไฉน คือ พืชงอกจากเหง้า ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 111

พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจากยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดทำให้เสีย ยังเพาะขึ้น อันบุคคลเก็บไว้ดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ พืช ๕ อย่าง พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ฯลฯ อันบุคคลเก็บไว้ดี และมีดิน มีน้ำ พืช ๕ อย่างนี้ พึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้หรือ?

ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า.

[๑๐๗] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณฐิติ ๔ เหมือนปฐวีธาตุ พึงเห็นความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลินเหมือนอาโปธาตุ พึงเห็นวิญญาณพร้อมด้วยอาหารเหมือนพืช ๕ อย่าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 112

เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น เธอย่อมเธอทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ พีชสูตรที่ ๒

อรรถกถาพีชสูตรที่ ๒

ในพีชสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พีชชาตานิ ได้แก่ พืชทั้งหลาย. บทว่า มูลพีชํ ได้แก่ พืชเกิดแต่ราก มีว่านน้ำ ว่านเปราะ ขมิ้น ขิง เป็นต้น. บทว่า ขนฺธพีชํ ได้แก่ พืชเกิดแต่ลำต้น มีต้นโพธิ ต้นไทร เป็นต้น. บทว่า ผลุพีชํ ได้แก่ พืชเกิดแต่ข้อ มีอ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ เป็นต้น. บทว่า อคฺคพีชํ ได้แก่ พืชเกิดแต่ยอด มีผักบุ้ง แมงลัก เป็นต้น. บทว่า พีชพีชํ ได้แก่ พืชเกิดแต่เมล็ด คือ ปุพพัณณชาต มีสาลีและข้าวเจ้า เป็นต้น และอปรัณณชาต มีถั่วเขียวและถั่วราชมาส เป็นต้น. บทว่า อกฺขณฺฑานิ ได้แก่ ไม่แตก ตั้งแต่เวลาที่พืชแตกแล้วย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่พืช. บทว่า อปูติกานิ ได้แก่ ไม่เน่าเพราะชุ่มด้วยน้ำ. จริงอยู่ พืชที่เน่าย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่พืช. บทว่า อวาตาตปปฺปตานิ ความว่า ไม่ถูกลมและแดดกราด ปราศจากธุลี ไม่เปียกชุ่ม จริงอยู่ พืชที่เป็นกากไม่มีธุลีย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่พืช. บทว่า สาราทานิ ได้แก่ พืชที่มีสาระ คือ ที่มีแก่นอยู่แล้ว จริงอยู่พืชที่ไม่มีแก่นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่พืช.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 113

บทว่า สุขสยิตานิ ได้แก่ อยู่อย่างสบายตลอดสี่เดือนโดยทำนองที่เขาใส่ไว้ในฉางนั่นแล. บทว่า ปวี ได้แก่ แผ่นดินที่ตั้งอยู่ภายใต้ บทว่า อาโป ได้แก่ น้ำที่กำหนดแต่เบื้องบน. บทว่า จตสฺโส วิญฺญาณฏฺิติโย ความว่า ขันธ์ ๔ มีรูปขันธ์ เป็นต้น อันเป็นอารมณ์แห่งกรรมวิญญาณ จริงอยู่ ขันธ์เหล่านั้นเสมือนกับปฐวีธาตุ เพราะเป็นธรรมชาติตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจของอารมณ์ นันทิและราคะ เป็นเสมือนกับอาโปธาตุเพราะอรรถว่าเป็นใยยาง. บทว่า วิญฺาณํ สาหารํ ได้แก่ กรรมวิญญาณพร้อมด้วยปัจจัย, จริงอยู่ กรรมวิญญาณนั้น งอกขึ้นบนแผ่นดินคืออารมณ์ เหมือนพืชงอกขึ้นบนแผ่นดิน ฉะนั้น.

จบ อรรถกถาพีชสูตรที่ ๒