พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สีหสูตร ว่าด้วยอุปมาพระพุทธเจ้ากับพญาราชสีห์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36836
อ่าน  528

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 171

๖. สีหสูตร

ว่าด้วยอุปมาพระพุทธเจ้ากับพญาราชสีห์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 171

๖. สีหสูตร

ว่าด้วยอุปมาพระพุทธเจ้ากับพญาราชสีห์

[๑๕๕] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พญาสีหมฤคราช เวลาเย็นออกจากที่อาศัย แล้วก็เหยียดกาย ครั้นแล้วก็เหลียวแลดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ แล้วก็ได้บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง จึงออกเดินไปเพื่อหากิน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกสัตว์ดิรัจฉานทุกหมู่เหล่าได้ยินเสียงพญาสีหมฤคราชบันลือสีหนาทอยู่ โดยมากจะถึงความกลัว ความตกใจ และ ความสะดุ้ง จำพวกที่อาศัยอยู่ในรู จะเข้ารู จำพวกที่อาศัยอยู่ในน้ำ จะดำน้ำ จำพวกที่อาศัยอยู่ในป่าจะเข้าป่า จำพวกปักษีจะบินขึ้นสู่อากาศ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงพระยาช้างทั้งหลายของพระมหากษัตริย์ ซึ่งล่ามไว้ด้วยเครื่องผูก คือ เชือกหนังที่เหนียว ในคามนิคมและราชธานี ก็จะสลัดทำลายเครื่องผูกเหล่านั้นจนขาด กลัวจนมูตรคูถไหล หนีเตลิดไป. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พญาสีหมฤคราชมีฤทธิ์ศักดานุภาพยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายเช่นนี้แล.

[๑๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 172

เป็นผู้จำแนกธรรม เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมว่า รูปเป็นดังนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ฯลฯ สัญญาเป็นดังนี้ ฯลฯ สังขารเป็นดังนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นดังนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เทวดาทั้งหลายที่มีอายุยืน มีวรรณะงาม มากด้วยความสุข ซึ่งดำรงอยู่ได้นานในวิมานสูง ได้สดับธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว โดยมากต่างก็ถึงความกลัว ความสังเวช ความสะดุ้ง ว่าพ่อมหาจำเริญทั้งหลายเอ๋ย นัยว่าเราทั้งหลายเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ แต่ได้เข้าใจว่าเที่ยง เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่ยั่งยืนเลย แต่ได้เข้าใจว่ายั่งยืน เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่แน่นอนเลย แต่ได้เข้าใจว่าแน่นอน พ่อมหาจำเริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า ถึงพวกเราก็เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน นับเนื่องแล้วในกายตน. ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีฤทธิ์ศักดานุภาพยิ่งใหญ่กว่าโลก กับทั้งเทวโลก เช่นนี้แล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๑๕๗] เมื่อใด พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา หาบุคคลเปรียบมิได้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร คือ ความเกิดพร้อมแห่งกายตน ความดับแห่งกายตน และอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ อันให้ถึงความสงบทุกข์แก่สัตว์โลก กับทั้งเทวโลก. เมื่อนั้น แม้ถึงเทวดาทั้งหลายผู้มีอายุยืน มีวรรณะงาม มียศ ก็กลัว ถึงความ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 173

สะดุ้งว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเราไม่เที่ยง ไม่ล่วงพ้นกายตนไปได้ ดังนี้ เพราะได้สดับถ้อยคำของพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น ผู้คงที่ เหมือนหมู่มฤคสะดุ้งต่อพญาสีหมฤคราช ฉะนั้น.

จบ สีหสูตร

อรรถกถาสีหสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสีหสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

ราชสีห์ ๔ จำพวก

บทว่า สีโห ได้แก่ ราชสีห์ ๔ จำพวก คือ ติณราชสีห์ จำพวก ๑. กาฬราชสีห์ จำพวก ๑ ปัณฑุราชสีห์ จำพวก ๑ ไกรสรราชสีห์ จำพวก ๑.

บรรดาราชสีห์ ๔ จำพวกนั้น ติณราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โค สีคล้ายนกพิราบ และกินหญ้าเป็นอาหาร.

กาฬราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โคดำ กินหญ้าเป็นอาหารเหมือนกัน.

ปัณฑุราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โคสีคล้ายใบไม้เหลือง กินเนื้อเป็นอาหาร.

ไกรสรราชสีห์ ประกอบด้วย (ลักษณะคือ) ดวงหน้า (ที่สวยงาม) เป็นเหมือนมีใครเอาน้ำครั่งมาแต่งเติมไว้ หางที่มีปลาย (สวยงาม) และปลายเท้าทั้ง ๔ ตั้งแต่ศีรษะของราชสีห์นั้นลงไป มีแนวปรากฏอยู่ ๓ แนว ซึ่งเป็นเหมือนมีใครมาแต้มไว้ด้วยสีน้ำครั่ง สีชาด และ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 174

สีหิงคุ (แนวทั้ง ๓ นั้น) ผ่านหลังไป สุดที่ภายในขาอ่อน เป็นวงทักษิณาวรรต.

ก็ที่ต้นคอของไกรสรราชสีห์นั้น มีขนขึ้นเป็นพวง เหมือนวงไว้ด้วยผ้ากัมพลราคาตั้งแสน (ส่วน) ที่ที่เหลือ (ภายในร่างกาย) มีสีขาวบริสุทธิ์เหมือนแป้งข้าวสาลีและผงจุรณ์แห่งสังข์.

บรรดาราชสีห์ทั้ง ๔ จำพวกนี้ ไกรสรราชสีห์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วในสูตรนี้.

บทว่า มิคราชา ได้แก่ ราชาแห่งหมู่เนื้อ.

บทว่า อาสยา แปลว่า จากที่อยู่ อธิบายว่า ไกรสรราชสีห์ย่อมออกไปจากถ้ำทองหรือจากถ้ำเงิน ถ้ำแก้วมณี ถ้ำแก้วผลึก และถ้ำมโนสิลา.

ก็ไกรสรราชสีห์นี้ เมื่อจะออกไป (จากที่อยู่) ย่อมออกไปด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ถูกความมืดเบียดเบียนออกไปเพื่อต้องการแสงสว่าง ปวดอุจจาระปัสสาวะออกไปเพื่อต้องการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ถูกความหิวบีบคั้นออกไปเพื่อต้องการล่าเหยื่อ หรือถูกน้ำสมภพ (อสุจิ) บีบคั้น (เกิดความกำหนัด) ออกไปเพื่อต้องการเสพอสัทธรรม (ร่วมประเวณี) แต่ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่าไกรสรราชสีห์ออกไปเพื่อต้องการหาเหยื่อ.

บทว่า วิชมฺภติ ความว่า ไกรสรราชสีห์วางเท้าหลังสองเท้าไว้เสมอกันบนแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นแก้วมณี แผ่นแก้วผลึก และ มโนสิลา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเหยียดเท้าหน้าออก หดส่วนหลังของร่างกายเข้าแล้ว ยืดส่วนหน้าออกไป โก่งหลังชูคอคล้ายจะส่งเสียงเหมือนฟ้าร้อง พลางสลัดฝุ่นที่ติดอยู่ตามร่างกายออกไปชื่อว่าเยื้องกราย.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 175

ก็และไกรสรราชสีห์จะวิ่งกลับไปกลับมาอยู่บนพื้นดินที่เยื้องกราย (นั้นเอง) เหมือนลูกวัวรุ่นตะกอ ฉะนั้น ก็เมื่อมันวิ่งอยู่ ร่างกายจะปรากฏอยู่ในที่มืดเหมือนท่อนฟืน (ถูกขว้าง) หมุนคว้างอยู่ฉะนั้น.

ในบทว่า อนุวิโลเกติ มีอธิบายว่า :-

ถามว่า เพราะเหตุไรไกรสรราชสีห์จึงชำเลืองดูซ้ายขวา.

ตอบว่า เพราะมีความเอ็นดูในสัตว์อื่น.

ว่ากันว่า เมื่อไกรสรราชสีห์นั้นบันลือสีหนาท สัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง กวาง และกระบือ ซึ่งกำลังเที่ยว (หากิน) ใกล้ที่ซึ่งไม่ราบเรียบทั้งหลาย มีขอบปากเหวเป็นต้น ก็จะ (ตกใจแล้ว) พลัดตกลงไปในเหว ก็ได้ไกรสรราชสีห์ชำเลืองดูซ้ายขวาก็เพราะเอ็นดูต่อสัตว์เหล่านั้น.

ถามว่า ก็ไกรสรราชสีห์นั้น ทำหน้าที่อย่างนายพรานกินเนื้อสัตว์อื่นอยู่เป็นประจำ ยังจะมีความเอ็นดูด้วยหรือ?

ตอบว่า ใช่แล้ว ยังมีอยู่.

เป็นความจริง ไกรสรราชสีห์นั้น ไม่ยอมจับสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอาหารของตน เพราะคิดว่าเรื่องอะไรจะต้องให้สัตว์จำนวนมากถูกฆ่าตาย อย่างนี้ชื่อว่าทำความเอ็นดู.

สมด้วยคำที่กล่าวไว้ดังนี้ว่า ขออย่าทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ตามสถานที่ที่ขรุขระ (ไม่ราบเรียบ) ต้องได้รับความกระทบกระเทือนด้วยเลย.

บทว่า สีหนาทํ นทติ ความว่า อันดับแรก ไกรสรราชสีห์จะบันลือ (สีหนาท) ที่ไม่ก่อให้เกิดความน่ากลัว ๒ ครั้ง ก็แลเมื่อมันยืนบันลือ (สีหนาท) บนพื้นดินที่เยื้องกรายอยู่อย่างนั้น เสียง (บันลือ) ก็จะก้อง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 176

กระหึ่มเป็นเสียงเดียวกันไปรอบทิศตลอดพื้นที่ ๓ โยชน์ หมู่สัตว์ ๒ เท้า และ ๔ เท้า ที่อยู่ภายในพื้นที่ ๓ โยชน์ ได้ยินเสียงบันลืออย่างก้องกระหึ่มนั้นของไกรสรราชสีห์นั้นแล้วก็จะไม่สามารถจะยืนอยู่ในที่เดิมได้. บทว่า โคจราย ปกฺกมติ ความว่า ไปล่าเหยื่อ.

ไกรสรราชสีห์ไปล่าเหยื่อด้วยวิธีอย่างไร?

อธิบายว่า ไกรสรราชสีห์นั้นยืนอยู่บนพื้นดินที่ตนเยื้องกราย เมื่อกระโจนไปทางด้านขวา ด้านซ้าย หรือด้านหลัง ก็จะ (กระโจน) ไปถึงพื้นที่ได้ประมาณอุสภะหนึ่ง เมื่อกระโจนขึ้นข้างบน ก็จะกระโจนขึ้นไปได้ ๔ อุสภะบ้าง ๘ อุสภะบ้าง เมื่อจะโลดแล่นตรงๆ หน้าบนพื้นที่ที่เรียบเสมอ ก็จะโลดแล่นไปได้ตลอดพื้นที่ประมาณ ๑๖ อุสภะบ้าง ประมาณ ๒๐ อุสภะบ้าง เมื่อจะโลดแล่นจากฝั่งแม่น้ำหรือจากภูเขา ก็จะโลดแล่นไปได้ตลอดพื้นที่ประมาณ ๖๐ อุสภะบ้าง ประมาณ ๘๐ อุสภะบ้าง. (เมื่อวิ่งไป) ในระหว่างทาง เห็นต้นไม้หรือภูเขาเข้าแล้ว เมื่อจะเลี่ยงต้นไม้หรือภูเขานั้น ก็จะเลี่ยงไปทางข้างซ้าย ข้างขวาหรือข้างบนได้ประมาณอุสภะหนึ่ง. แต่พอบันลือสีหนาทครั้งที่ ๓ พร้อมกับการบันลือนั้นแล ก็จะปรากฏในที่ ๓ โยชน์ ครั้นไปได้ ๓ โยชน์แล้ว ก็จะกลับมาหยุดยืนฟังเสียงสะท้อนเสียงบันลือของตนเอง. ไกรสรราชสีห์หลีกออกไป (จากที่อยู่) ด้วยความเร็วอย่างนี้.

บทว่า เยภุยฺเยน ได้แก่ ปาเยน (แปลว่า โดยมาก). บทว่า ภยํ สํเวคํ สนฺตาสํ ทั้งหมดเป็นชื่อของความหวาดสะดุ้งกลัวแห่งจิตนั่นเอง. เพราะว่าสัตว์จำนวนมากได้ฟังเสียงราชสีห์แล้วย่อม (ตกใจ) กลัว. ที่ไม่กลัวมีจำนวนน้อย.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 177

ถามว่า ก็สัตว์จำนวนน้อยพวกนั้น คือ พวกไหนบ้าง?

ตอบว่า สัตว์พวกนั้น คือ ราชสีห์ด้วยกัน ๑ ช้างอาชาไนย ๑ ม้าอาชาไนย ๑ โคอุสภะอาชาไนย ๑ บุรุษอาชาไนย ๑ พระขีณาสพ ๑

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร สัตว์พวกนั้นจึงไม่กลัว?

ตอบว่า ราชสีห์ด้วยกันที่ไม่กลัวก็เพราะคิดว่า เราเสมอเหมือนกันด้วยชาติ โคตร ตระกูล และความกล้าหาญ. ช้างอาชาไนยเป็นต้นที่ไม่กลัว ก็เพราะตนเองมีสักกายทิฏฐิรุนแรง. (ส่วน) พระขีณาสพไม่กลัวเพราะท่านละสักกายทิฏฐิได้แล้ว.

บทว่า พิลาสยา ได้แก่ สัตว์ที่อยู่ในรู คือ อยู่รูเป็นประจำ มีงู พังพอน และเหี้ย เป็นต้น. บทว่า ทกาสยา ได้แก่ สัตว์ที่อยู่ในน้ำ (สัตว์น้ำ) มีปลาและเต่าเป็นต้น. บทว่า วนาสยา ได้แก่ สัตว์ที่อยู่ในป่า (สัตว์ป่า) มีช้าง ม้า กวาง และเนื้อ เป็นต้น. บทว่า ปวิสนฺติ ความว่า เข้าไปพลางมองดูทางด้วยคิดว่าจักมาจับเอาในบัดนี้. บทว่า ทฬฺเหหิ แปลว่า มั่นคง. บทว่า วรตฺเตหิ แปลว่า เชือกหนัง. ในบทว่า มหิทฺธิโก เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

พึงทราบว่า ไกรสรราชสีห์มีฤทธิ์มาก ด้วยการยืนอยู่บนพื้นดินที่ตนเยื้องกราย แล้วกระโจนไปข้างขวาเป็นต้นได้ประมาณอุสภะหนึ่ง กระโจนไปตรงด้านหน้าได้ประมาณ ๒๐ อุสภะหนึ่ง เป็นต้น. พึงทราบว่า ไกรสรราชสีห์มีศักดิ์มาก ด้วยการเป็นเจ้าแห่งมฤคที่เหลือทั้งหลาย. พึงทราบว่า ไกรสรราชสีห์มีอานุภาพมาก เพราะเหล่าสัตว์ที่เหลือได้ฟังเสียงในที่ประมาณ ๓ โยชน์รอบทิศแล้วจะพากันหนีไป.

บทว่า เอวเมวโข มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนอย่างนั้นๆ ในสูตรนั้นๆ (คือ)

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 178

อันดับแรก ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้แล เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนราชสีห์.

ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนสุนักขัตตะ คำว่า นายแพทย์ผู้ผ่าตัดนี้แล เป็นชื่อของตถาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนนายแพทย์.

ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าพราหมณ์นี้แล เป็นชื่อของตถาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนพราหมณ์.

ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนติสสะ คำว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อของตถาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนมัคคุเทศก์.

ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนเสละ เราตถาคตเป็นพระราชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนพระราชา.

แต่ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสถึงพระองค์ว่าเป็นเหมือนราชสีห์แล จึงได้ตรัสไว้อย่างนี้.

ในพระดำรัสนั้นมี (ข้อเปรียบเทียบ) เหมือนกันดังต่อไปนี้ :- เวลาที่พระตถาคตเจ้าทรงกระทำอภินิหาร (ปรารถนาพุทธภูมิ) แทบบาทมูลของพระทีปังกรพุทธเจ้า แล้วทรงบำเพ็ญบารมีมาสิ้นเวลานับไม่ถ้วน ในภพสุดท้ายทรงทำหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหวด้วยการถือ ปฏิสนธิ และด้วยการประสูติออกจากพระครรภ์ของพระมารดา (ต่อมา) ทรงเจริญวัยได้เสวยสมบัติเช่นทิพยสมบัติประทับอยู่ในปราสาท ๓ หลัง พึงเห็นว่าเหมือนกับเวลาที่ราชสีห์อยู่ในถ้ำที่อยู่มีถ้ำทองเป็นต้น ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 179

เวลาที่พระตถาคตเจ้าทรงม้ากัณฐกะมีนายฉันนะเป็นพระสหาย เสด็จออกทางพระทวาร (นคร) ที่เทวดาเปิดถวาย ผ่านเลย (ไม่สนพระทัย) ราชสมบัติทั้ง ๓ ทรงครองผ้ากาสาวะที่พรหมน้อมเกล้าถวายแล้ว (อธิษฐานพระทัย) ถือบวช ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที เมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พระพรรษา (ต่อจากนั้น) ในวันที่ ๗ เสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์นั้นแล้ว (มาประทับ) เสวยพระกระยาหารที่เงื้อมเขาชื่อปัณฑวะ จนกระทั่งถึง (เวลา) ที่ทรงประทานปฏิญญาแต่พระราชา (พิมพิสาร) เพื่อว่าครั้นตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จะได้เสด็จมายังแคว้นมคธก่อนเพื่อน พึงเห็นว่าเหมือนเวลาที่ราชสีห์ออกจากถ้ำที่อยู่มีถ้ำทองเป็นต้น ฉะนั้น.

เวลาเริ่มตั้งแต่ที่พระตถาคตเจ้าทรงประทานปฏิญญา (แด่พระราชา) แล้วเข้าไปหา อาฬารดาบสกาลามโคตร กระทั่งถึงเวลาเสวยข้าว (มธุ) ปายาสที่นางสุชาดาถวายโดย (ปั้นเป็น) ก้อน ๔๙ ก้อน พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่ราชสีห์ปิดกาย ฉะนั้น.

การที่พระตถาคตเจ้าทรงรับหญ้า ๘ กำมือที่โสตถิยพราหมณ์ (ถวาย) ในเวลาเย็น อันเทวดาในหมื่นจักรวาลทรงสดุดี (พระเกียรติคุณ) (และ) บูชาด้วยเครื่องบูชามีของหอมเป็นต้น ทรงทำประทักษิณ (เสด็จเวียนขวา) โพธิพฤกษ์ ๓ รอบ แล้วทรงก้าวขึ้นสู่โพธิบัลลังก์ ทรงลาดหญ้าเป็นเครื่องลาด (รองนั่ง) บนที่สูง ๑๔ ศอก แล้วประทับนั่งอธิษฐานจาตุรงคปธาน (ความเพียรมีองค์ ๔) ทันใดนั้นเอง ทรงกำจัดมารและพลพรรคของมารได้แล้ว ทรงชำระวิชชา ๓ ให้บริสุทธิ์ ในยามทั้ง ๓ ทรงพิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลม ด้วยการ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 180

พิจารณาญาณคู่ (๑) (ยมกญาณ) คือปหานญาณ และสมุทยญาณ แห่งปฏิจจสมุปบาท เมื่อทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทำหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหว ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั้น พึงทราบว่า เหมือนการที่ราชสีห์สะบัดสร้อยคอ ฉะนั้น.

การที่พระตถาคตเจ้าทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ประทับอยู่ที่ควงโพธิ สิ้น ๗ สัปดาห์ เสวยพระกระยาหาร คือก้อนข้าวมธุปายาส ๔๙ ก้อน วันละก้อนหมดแล้ว (จากนั้นเสด็จประทับ) ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงรับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมที่ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม แล้วประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธนั้น (เอง) ในวันที่ ๑๑ (จากวันที่ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ) ทรงดำริว่า วันพรุ่งนี้จะเป็นวันเพ็ญอาสาฬหะแล้ว เวลาเช้ามืดทรงรำพึงว่า เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อน (พอ) ทรงทราบว่า อาฬารดาบส และอุททกดาบสมรณภาพแล้ว จึงได้ตรวจดูท่านเบญจวัคคีย์เพื่อต้องการจะ (เสด็จไป) แสดงธรรมโปรด พึงเห็นว่าเหมือนเวลาที่ราชสีห์ตรวจดูทิศทั้ง ๔ ฉะนั้น.

เวลาที่พระตถาคตเจ้าทรงอุ้มบาตรและจีวรของพระองค์ เสด็จออกไปจากต้นอชปาลนิโครธ ภายหลังเสวยพระกระยาหารแล้ว ด้วยทรงดำริว่า จักหมุนล้อธรรมโปรดเบญจวัคคีย์ ดังนี้ แล้วเสด็จพุทธดำเนินเป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์ พึงเห็นว่าเหมือนเวลาที่ราชสีห์เดินทางไปล่าเหยื่อเป็นระยะทาง ๓ โยชน์ ฉะนั้น.


(๑) ปาฐะว่า ปฏิจฺจสมุปฺปาทปหานสมุทยยมกญาณปฏฺเน ปฏฺเนฺตสฺส ฉบับพม่าเป็น ปฏิจฺจสมฺปฺปาทมหาสมุทฺทํ ยมกาณมนฺถเนน มนฺเถนฺตสฺส แปลว่า ทรงย่ำมหาสมุทร คือ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งอนุโลมและปฏิโลม โดยการย่ำด้วยญาณทั้งคู่

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 181

เวลาที่พระตถาคตเจ้าเสด็จพุทธดำเนินไปเป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์ แล้วประทับนั่งขัดสมาธิอย่างสง่าผ่าเผย เกลี้ยกล่อมพระปัญจวัคคีย์ อันหมู่เทวดาที่ (มา) ประชุมกันจากหมื่นจักรวาลห้อมล้อม ทรงหมุนล้อธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดโต่งทั้งสองเหล่านี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ" พึงทราบว่า เหมือนเวลาที่ราชสีห์บันลือสีหนาท ฉะนั้น.

ก็แล เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรมจักรนี้อยู่ พระสุรเสียงแสดงธรรมของราชสีห์คือพระตถาคต ดังได้ยินไปทั่วหมื่นโลกธาตุ เบื้องล่างดังไปถึงอเวจี เบื้องบนดังไปถึงภวัคคพรหม.

เวลาที่พระตถาคตเจ้าตรัสสอนธรรม แสดงลักษณะ ๓ จำแนกสัจจะ ๔ พร้อมทั้งอาการ ๖ จนกระทั่งถึงพันนัย เหล่าเทวดาที่มีอายุยืนเกิดความสะดุ้งกลัวด้วยญาณ พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่สัตว์เล็กสัตว์น้อยต้องสะดุ้งกลัวเพราะเสียงราชสีห์ ฉะนั้น.

บทว่า ยทา คือ ยสฺมิํ กาเล (ในกาลใด). บทว่า ตถาคโต พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ:-

(๑) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า เสด็จมา แล้วอย่างนั้น

(๒) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า เสด็จไป แล้วอย่างนั้น

(๓) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า เสด็จมาถึง ลักษณะที่จริงแท้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 182

(๔) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า ตรัสรู้ธรรมที่จริงแท้ ตามความเป็นจริง.

(๕) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงมีปกติเห็นจริง.

(๖) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงมีปกติตรัสจริง.

(๗) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงมีปกติทำจริง.

(๘) ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า ครอบงำ.

ความพิสดารของพระนามเหล่านั้นได้กล่าวไว้หมดแล้ว ทั้งในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ทั้งในอรรถกถามูลปริยายสูตร.

บทว่า โลเก ได้แก่ ในสัตว์โลก. บทว่า อุปฺปชฺชติ ความว่า พระตถาคตเจ้าชื่อว่ากำลังเสด็จอุบัติขึ้นอยู่ เริ่มตั้งแต่ตั้งความปรารถนา (พุทธภูมิ) จนกระทั่งถึง (ประทับนั่ง ณ) โพธิบัลลังก์ หรือ (บรรลุ) อรหัตตมรรคญาณ แต่เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้วชื่อว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

บททั้งหลายมีบทว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) ได้อธิบายไว้แล้วอย่างพิสดารในพุทธานุสสตินิทเทสในปกรณ์พิเศษชื่อว่า วิสุทธิมรรค.

บทว่า อิติ รูปํ ความว่า นี้คือรูป รูปมีเท่านี้ ไม่มีรูปนอกเหนือไปจากนี้.

ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป) ทั้งหมด ทั้งโดยสภาวะ ทั้งโดยความเป็นจริง ทั้งโดยที่สุด ทั้งโดยการกำหนด ทั้งโดยการเปลี่ยนแปลง.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 183

บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า นี้ชื่อว่า การเกิดขึ้นแห่งรูป. ก็ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงคำทั้งหมดมีอาทิว่า เพราะอาหารเกิด รูปจึงเกิด. บทว่า อิติ รูปสฺส อฏฺงฺคโม ความว่า นี้ชื่อว่า ความดับแห่งรูป. แม้ด้วยพระดำรัสนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงคำทั้งหมด มีอาทิว่า เพราะอาหารดับ รูปจึงดับ. แม้ในบทว่า อิติ เวทนา เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า วณฺณวนฺโต แปลว่า มี (ผิว) พรรณ (ผุดผ่อง) ด้วยผิวพรรณของร่างกาย. บทว่า ธมฺมเทสนํ สุตฺวา ความว่า สดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคต ที่ประดับด้วยลักษณะ ๕๐ ในขันธ์ ๕ นี้.

บทว่า เยภุยฺเยน ได้แก่ ในโลกนี้ เว้นเทวดาที่เป็นพระอริยสาวก. อธิบายว่า เทวดาที่เป็นพระอริยสาวกเหล่านั้น ไม่เกิดแม้ความกลัวคือความสะดุ้งแห่งจิต เพราะท่านเป็นพระขีณาสพ ทั้งไม่เกิดความสังเวชด้วยญาณ เพราะบุคคลผู้สังเวชได้บรรลุผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยความเพียรแล้ว โดยอุบายอันแยบคาย แต่เทวดานอกนี้ใส่ใจถึงภาวะที่ไม่เที่ยง ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุ ก็ความหวาดสะดุ้งนั้นมีอยู่" จึงเกิด (๑) แม้ความกลัว คือความหวาดสะดุ้งแห่งจิต ทั้งเกิด (๑) ความกลัวเพราะญาณในเวลาที่วิปัสสนาแก่กล้า.

คำว่า โภ นั้น เป็นเพียงการเรียกร้องกันตามธรรมดาเท่านั้น.

บทว่า สกฺกายปริยาปนฺนา แปลว่า เนื่องด้วยเบญจขันธ์. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้โทษแห่งวัฏฏะ (๒) แล้วทรงแสดงพระธรรม-


(๑) ฉบับพม่า เป็น อุปฺปชฺชติ ไม่มี แปลตามฉบับพม่า

(๒) ปาฐะว่า ปตฺตโทสํ ฉบับพม่าเป็น วฏฺฏโทสํ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 184

เทศนา กระทบไตรลักษณ์แก่เทวดาเหล่านั้นอยู่ ญาณภัยจึงก้าวลงด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อภิญฺาย แปลว่า รู้แล้ว.

บทว่า ธมฺมจกฺกํ หมายเอา ปฏิเวธญาณบ้าง เทศนาญาณบ้าง.

พระญาณที่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ ได้แทงตลอด (อริย) สัจจะ ๔ พร้อมทั้งอาการ ๑๖ ได้ครบ ๑,๐๐๐ นัย ชื่อว่า ปฏิเวธญาณ.

พระญาณที่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักร ที่มีปริวัต ๓ (และ) มีอาการ ๑๒ ชื่อว่า เทศนาญาณ.

พระญาณทั้งสองนั้นเป็นญาณที่เกิด (ภาย) ในพระทัยของพระทศพลเท่านั้น บรรดาพระญาณทั้งสองนั้น เทศนาญาณ ควร (กำหนด) ถือเอาในที่นี้.

ก็แล เทศนาญาณนี้นั้น พึงทราบว่า ตราบใดที่โสดาปัตติผลยังไม่เกิดแก่พระอัญญาโกณฑัญญเถระ พร้อมทั้งพรหม ๑๘ โกฏิ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศ ต่อเมื่อโสดาปัตติผลเกิดแล้ว (นั่นแล) จึงชื่อว่าทรงประกาศแล้ว.

บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล แปลว่า ปราศจากบุคคลที่จะแม้นเหมือน.

บทว่า ยสสฺสิโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยบริวาร.

บทว่า ตาทิโน ได้แก่ ผู้เป็นเช่นเดียวกันด้วยโลกธรรม มีลาภและเสื่อมลาภเป็นต้น.

จบ อรรถกถาสีหสูตร