พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ปิณโฑลยสูตร ว่าด้วยเหตุที่ต้องดํารงชีพด้วยบิณฑบาต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36838
อ่าน  545

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 207

๘. ปิณโฑลยสูตร

ว่าด้วยเหตุที่ต้องดํารงชีพด้วยบิณฑบาต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 207

๘. ปิณโฑลยสูตร

ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต

[๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัศดุ์ สักกชนบท ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเรื่องหนึ่งแล้ว เวลาเช้า ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัศดุ์. ครั้นแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักในกลางวัน ครั้นเสด็จถึงป่ามหาวันแล้ว ได้ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา ต้องว้าเหว่ใจ คงเปลี่ยนแปลงจิตใจ เหมือนลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ ต้องว้าเหว่ใจ คงเปลี่ยนแปลงจิตใจฉะนั้น (และ) เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ ไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรเปลี่ยนแปลงไปฉะนั้น ถ้ากระไร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 208

เราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วในก่อนๆ ฉะนั้นเถิด.

[๑๖๖] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจของตนแล้ว ได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนกับบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุที่ยังใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไม่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ต้องว้าเหว่ใจ คงเปลี่ยนแปลงจิตใจ เหมือนกับลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ ต้องว้าเหว่ใจ คงเปลี่ยนแปลงจิตใจฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ เมื่อไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปร เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์ จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วแต่ก่อนๆ ฉะนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาโดยดุษณียภาพ ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปจากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นแล.

[๑๖๗] ลำดับนั้นแลเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่พักผ่อนแล้ว เสด็จไปยังนิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนอาสนะ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 209

ที่เขาปูไว้ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ ทีละรูปบ้าง สองรูปบ้าง ครั้นแล้วต่างก็ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งลงเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระพุทธวจนะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อเลวทรามของการเลียงชีพทั้งหลาย ก็คือการแสวงหาบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายย่อมได้รับคำแช่งด่าในโลกว่าเป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรทั้งหลายเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ จึงเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหาบิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็น คนมีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนมีภัย ไม่ใช่เป็นคนมีอาชีพแร้นแค้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำแล้ว ไฉนหนอ? การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ แต่ว่ากุลบุตรนั้นเป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันโทสะประทุษร้ายแล้ว มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วยไม่ทำประโยชน์ คือ ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วย ว่ามีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ จะใช้เป็นฟืนในป่าก็ไม่ได้ ฉะนั้น.

[๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิต

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 210

ตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิอยู่ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนิมิตตสมาธิควรแท้ที่จะเจริญจนกว่าจะละอกุศลวิตกนี้ได้ อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

[๑๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ ภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ดังนี้ว่า เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม? เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อยึดถือ พึงยึดถือรูปนั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือเวทนานั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสัญญานั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสังขารนั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือวิญญาณนั่นเอง ภพพึงมีแก่เรา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 211

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภ. เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ ปิณโฑลยสูตรที่ ๘

อรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘

พึงทราบวินิจฉัยในปิณโฑลยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กิสฺมิญฺจิเทว ปกรเณ ได้แก่ ในเพราะเหตุบางอย่างนั่นเอง.

บทว่า ปณาเมตฺวา แปลว่า ไล่ออกไป.

ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุเหล่านี้ไป ในเพราะเหตุไร?

ตอบว่า ความจริงมีอยู่ว่า ภายในพรรษาหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ในเมืองสาวัตถี ออกพรรษาปวารณาแล้ว แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีเที่ยวจาริกไปในชนบท เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จเข้าไปยังนิโครธาราม. เจ้าศากยะทั้งหลายได้สดับ (ข่าว) ว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว หลังเสวยพระกระยาหารเสร็จทรงรับสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายหาบเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น และน้ำปานะที่เป็นกัปปิยะ หลายร้อยหาบ เสด็จไปสู่วิหารมอบถวายพระสงฆ์ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับนั่งทำปฏิสันถาร (กับพระศาสดา) ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. (ฝ่าย) พระศาสดาประทับนั่งตรัสธรรมกถาอันไพเราะ ถวายเจ้าศากยะเหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 212

ขณะนั้น ภิกษุบางพวกกำลังเช็ดถูเสนาสนะ บางพวกกำลังจัดตั้งเตียงและตั่งเป็นต้น (ส่วน) สามเณรทั้งหลายกำลังถากหญ้า.

ในสถานที่แจกสิ่งของ ภิกษุที่มาถึงแล้วก็มี ภิกษุที่ยังมาไม่ถึงก็มี ภิกษุที่มาถึงแล้วจะรับลาภแทนภิกษุที่ยังมาไม่ถึง ก็พูดเสียงดังขึ้นว่า จงให้แก่พวกข้าพเจ้า จงให้แก่อาจารย์ของพวกข้าพเจ้า จงให้แก่อุปัชฌาย์ของพวกข้าพเจ้า.

พระศาสดาทรงสดับแล้วได้ตรัสถามพระอานนทเถระว่า อานนท์ ก็พวกที่ส่งเสียงดังเอ็ดอึงนั้นเป็นใคร คล้ายจะเป็นชาวประมงแย่งปลากัน. พระเถระกราบทูล (ให้ทรงทราบ) เนื้อความนั้น. พระศาสดาทรงสดับแล้วตรัสว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายส่งเสียงดังเพราะอามิสเป็นเหตุ. พระเถระกราบทูลว่า ใช่ พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ ไม่สมควรเลย ไม่เหมาะสมเลย เพราะเราตถาคตบำเพ็ญบารมีมาตั้ง ๔ อสงไขย กำไรแสนกัลป์ เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้ ทั้งภิกษุเหล่านี้ออกจากเรือน บวชเป็นอนาคาริก เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้. พวกเธอบวชเพราะ ความเป็นพระอรหันต์เป็นเหตุ (แต่) กลับมาทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ให้เป็นเหมือนกับสิ่งที่มีประโยชน์ ทำสิ่งที่ไม่มีสาระให้เป็นเหมือนสิ่งมีสาระไปเถิดอานนท์ จง (ไป) ขับไล่ภิกษุเหล่านั้น (ให้ออกไป).

บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ คือในเวลาเช้า ในวันรุ่งขึ้น. บทว่า เวลุวลฏฺิกาย มูเล คือ ที่โคนต้นมะตูมอ่อน. บทว่า ปพาฬฺโห แปลว่า (ภิกษุสงฆ์อันเรา) ขับไล่แล้ว. ปาฐะว่า ปพาโฬ ก็มี ความหมาย (ก็เท่ากับ) ปพาหิโต (ขับไล่แล้ว).

ทั้งสองบทย่อมแสดงถึงภาวะที่ถูกนำ (ขับไล่) ออกแล้วนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 213

บทว่า สิยา อญฺถตฺตํ ความว่า พึงมีความเลื่อมใสเป็นอย่างอื่น หรือพึงมีภาระเป็นอย่างอื่น.

ถามว่า พึงมีอย่างไร?

ตอบว่า ก็เมื่อภิกษุลดความเลื่อมใส (ในพระผู้มีพระภาคเจ้า) ลง ด้วยคิดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่พวกเราในเพราะเหตุเล็กน้อย ชื่อว่ามีความเลื่อมใสเป็นอย่างอื่น. เมื่อพวกเธอหลีกไปเข้ารีตเดียรถีย์พร้อมทั้งเพศทีเดียว ชื่อว่ามีเพศเป็นอย่างอื่น.

ส่วนการที่กุลบุตรผู้บวชแล้วทั้งหลายมั่นใจว่า พวกเราจักสามารถกำหนด (ทราบ) พระอัธยาศัยของพระศาสดาให้ได้แล้ว ไม่สามารถกำหนด (ทราบ) ได้ จึงคิดว่าเราจะบวชไปทำไม แล้วบอกลาสิกขา หวนกลับมาเป็นคนเลว (สึก) พึงทราบว่า ความเปลี่ยนแปลงในคำว่า สิยา วิปริณาโม นี้.

บทว่า วจฺฉสฺส ได้แก่ ลูกวัวที่ยังดื่มนม.

บทว่า อญฺถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความซบเซา. อธิบายว่า ลูกวัวที่ยังดื่มนม เมื่อไม่ได้ (ดื่ม) น้ำนม หาแม่ไม่เจอ ย่อมซบเซา สะทกสะท้าน หวั่นไหว.

บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความตาย. อธิบายว่า ลูกวัวนั้น เมื่อไม่ได้น้ำนมก็จะซูบผอมลงเพราะความระหาย (ไม่ช้า) ก็จะล้มลง ขาดใจตาย.

บทว่า พีชานํ ตรุณานํ ได้แก่ พืชที่งอกแล้วต้องได้น้ำช่วย.

บทว่า อญฺถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความเหี่ยวแห้งนั่นเอง อธิบายว่า พืชเหล่านั้นเมื่อไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้ง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 214

บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความเสียหาย. อธิบายว่า พืชเหล่านั้นไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้งเสียหายไป จะมีเหลืออยู่ก็แต่ซากเท่านั้น.

บทว่า อนุคฺคทิโต ความว่า ได้รับอนุเคราะห์แล้วด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรม.

บทว่า อนุคฺคณฺเทยฺยํ ความว่า เราตถาคตพึงอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมทั้งสองอย่างนั้น.

เพราะว่าสามเณรและภิกษุหนุ่มผู้บวชใหม่ เมื่อมีความขาดแคลนด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น หรือเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น พระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส ก็จะลำบาก ไม่สามารถทำการสาธยายหรือใส่ใจ (ถึงธรรมได้) (เธอเหล่านั้น) อันพระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยธรรม ก็จะเสื่อมจากอุเทศและจากโอวาทานุสาสนี (การแนะนำพร่ำสอน) ไม่สามารถจะหลีกเว้นอกุศลมาเจริญกุศลได้. แต่ (เธอเหล่านั้น) ได้รับอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ทั้งสองนี้แล้ว ก็จะไม่ลำบากกาย ประพฤติในการสาธยายและใส่ใจ (ถึงธรรม) ปฏิบัติตามที่พระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์พร่ำสอนอยู่ ต่อมาแม้ไม่ได้รับการอนุเคราะห์นั้น (แต่) ก็ยังได้กำลัง เพราะการอนุเคราะห์ครั้งแรกนั้นนั่นแล (จึงทำให้) มั่นคงอยู่ในศาสนาได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเกิดปริวิตกอย่างนี้ขึ้น.

พรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

บทว่า ภควโต ปุรโต ปาตุรโหสิ ความว่า ท้าวมหาพรหมได้ทราบพระดำริของพระศาสดาแล้วได้ (มา) ปรากฏเฉพาะพระพักตร์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 215

(พระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุเหล่านี้ออกไป บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะทำการอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้น จึงทรงคิดถึงเหตุอย่างนี้ และเราก็จักทำให้ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) เกิดพระอุตสาหะนั้น (ต่อไป).

พ่อครัวผู้ฉลาด (ทราบว่า) บรรดาอาหารมีรสเปรี้ยวเป็นต้น รสอย่างใดถูกพระทัยพระราชา ก็จะปรุงรสอย่างนั้นให้อร่อยขึ้นด้วยเครื่องปรุง แล้ววันรุ่งขึ้นก็น้อมนำเข้าไปถวายพระราชา (อีก) ฉันใด ท้าวมหาพรหมนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะความที่ตนเองเป็นผู้ฉลาด จึงได้ทูลสำทับอุปมาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาแล้วนั่นแล ด้วยคำมีอาทิว่า เอวเมตํ ภควา แล้วกล่าวคำนี้ว่า สนฺเตตฺถ ภิกฺขู เพื่อทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทำการอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภินนฺทตุ ความว่า (ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า) จงทรงยินดีให้ภิกษุสงฆ์นั้นมาอย่างนี้ว่า ขอภิกษุสงฆ์จงมาสู่สำนักของเราตถาคตเถิด.

บทว่า อภิวทตุ ความว่า (ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า) จงตรัสสอน ประทานโอวาทานุสาสนีแก่ภิกษุสงฆ์ผู้มาถึงแล้วเถิด.

พระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์

บทว่า ปฏิสลฺลานา ได้แก่ จากความเป็นผู้เดียว.

บทว่า อิทฺธาภิสงฺขารํ อภิสงฺขาเรสิ ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ได้ทรงทำฤทธิ์. บทว่า เอกทฺวีหิกาย ได้แก่ (ภิกษุ) มาทีละรูปบ้าง ทีละ ๒ รูปบ้าง. บทว่า สารชฺชมานรูปา ได้แก่ กลัวเพราะมีความเกรงเป็นประมาณ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 216

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงฤทธิ์ให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าโดยวิธีนั้น?

ตอบว่า เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงมา (เฝ้า) เป็นกลุ่มๆ ไซร้ พวกเธอก็จะพากันเยาะเย้ยถากถางว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุ แล้วเสด็จเข้าสู่ป่า (แต่) ก็ไม่สามารถจะประทับอยู่ในป่านั้นให้ครบวันได้ จึงเสด็จกลับมาหาภิกษุอีกเหมือนเดิม. ครานั้นพวกเธอจะไม่พึงตั้งความเคารพในพระพุทธเจ้า (และ) จะไม่พึงสามารถรับพระธรรมเทศนาได้. แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นมีความกลัว หวาดหวั่น มาเฝ้าทีละรูปสองรูป ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าก็จักปรากฏชัด และพวกเธอก็จักสามารถรับพระธรรมเทศนาได้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงฤทธิ์แบบนั้น เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่ภิกษุเหล่านั้น.

บทว่า นิสีทิํสุ ความว่า เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นกลัว มา (เฝ้าพระพุทธเจ้า) ภิกษุแต่ละรูปก็จะคิดว่า พระศาสดาทรงจ้องมองดูเราเท่านั้น เห็นจะทรงมีพระประสงค์ลงโทษเราเป็นแน่แท้ ดังนี้แล้ว ค่อยๆ มาถวายบังคมนั่งลง ครานั้น ภิกษุรูปอื่นๆ ก็จะ (เป็นทำนอง เดียวกัน) ภิกษุ ๕๐๐ รูป พากันมานั่งด้วยอาการอย่างนี้แล.

ฝ่ายพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์นั่งอยู่อย่างนั้น ไม่ไหวกาย คล้ายกระแสน้ำในมหาสมุทร (ไหลไปสงบนิ่งอยู่) ในทะเลสีทันดร และเหมือน (เปลว) ประทีปสงบนิ่งอยู่ในที่สงัดลมฉะนั้น จึงทรงดำริว่า ธรรมเทศนาแบบไหนจึงจะเหมาะแก่ภิกษุเหล่านี้.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 217

ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงมีพระดำริดังนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ เราขับไล่เพราะอาหารเป็นเหตุ ธรรมเทศนาเรื่องคำข้าวที่ทำเป็นก้อนเท่านั้นเป็นสัปปายะแก่ภิกษุเหล่านั้น เราแสดงธรรมเทศนาแล้วจักแสดงเทศนามีปริวัฏ ๓ (๓ รอบ) ในตอนท้ายเวลาจบเทศนา ภิกษุทั้งหมดก็จักบรรลุอรหัตตผล.

ครันแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมเทศนานั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตํ ได้แก่ ต่ำช้า คือ เลวทราม.

บทว่า ยทิทํ ปิณโฑลฺยํ ความว่า ความเป็นอยู่ของบุคคลผู้เลี้ยงชีวิตด้วยการแสวงหาก้อนข้าวนั้นใด.

ความหมายของคำว่า ปิณโฑลยะ

ก็ในบทว่า ปิณฺโฑลฺยํ นี้มีความหมายเฉพาะบท ดังนี้ :- ภิกษุชื่อว่า ปิณโฑละ เพราะหมายความว่า เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว การทำงานของภิกษุผู้เที่ยวแสวงหาก้อนข้าวชื่อว่า ปิณโฑลยะ อธิบายว่า ความเป็นอยู่ที่ให้สำเร็จด้วยการแสวงหาก้อนข้าว.

บทว่า อภิสาโป แปลว่า การด่า อธิบายว่า ผู้คนทั้งหลายโกรธแล้วย่อมด่าว่า ท่านห่มจีวรที่ไม่เข้ากับตัวแล้วถือกระเบื้องเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว. ก็หรือว่า ย่อมด่าแม้อย่างนี้ทีเดียวว่า ท่านไม่มีอะไรจะทำหรือ? ท่านขนาดมีกำลังวังชาสมบูรณ์ด้วยวิริยะเห็นปานนี้ ยัง ละทิ้งหิริโอตตัปปะ ถือบาตรเที่ยวแสวงหาคำข้าว ไม่ต่างอะไรกับคนกำพร้า

บทว่า ตญฺจ โข เอตํ ความว่า การเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ทั้งๆ ที่ถูกแช่งด่านั้น.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 218

บทว่า กุลปุตฺตา อุเปนฺติ อตฺถวสิกา อตฺถวสํ ปฏิจฺจ ความว่า กุลบุตรโดยชาติและกุลบุตรโดยอาจาระในศาสนาของเรา เป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งผล อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ คืออาศัยอำนาจแห่งผล อำนาจแห่งเหตุ จึงประกอบ (การเที่ยวแสวงหาคำข้าว).

อธิบายศัพท์ ราชาภินีตะ เป็นต้น

ในบทว่า ราชาภินีตา เป็นต้น พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-

กุลบุตรเหล่าใด กินของพระราชาแล้วถูกจองจำในเรือนจำหลวง (ต่อมา) หนีได้จึง (ไป) บวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ราชาภินีตะ. ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ราชาภินีตะ เพราะถูกนำไปสู่เครื่องจองจำของพระราชา.

ส่วนกุลบุตรเหล่าใด ถูกโจรจับได้ในป่าทึบ เมื่อบางพวกถูกโจรนำไป บางพวกก็พูดว่า นาย เราทั้งหลายอันพวกท่านปล่อยแล้วก็จักไม่อยู่ครองเรือนหรอก (แต่) จักบวช ในการบวชนั้น เราจักให้ส่วนบุญแก่พวกท่าน จากบุญมีการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่พวกเรา จักทำ กุลบุตรเหล่านั้นอันโจรเหล่านั้นปล่อยแล้วจึง (ไป) บวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า โจราภินีตะ.

ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า โจราภินีตะ เพราะหมายความว่า ถูกพวกโจรนำไปให้ถูกฆ่าตาย.

ส่วนกุลบุตรเหล่าใด ติดหนี้แล้วไม่สามารถใช้คืนให้ได้จึงหนีไปบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า อิณัฏฏะ (ติดหนี้) หมายความว่า ถูกหนี้บีบคั้น บาลีเป็น อิณฏฺา ก็มี หมายความว่า ตั้งอยู่ในหนี้ (ติดหนี้)

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 219

กุลบุตรเหล่าใด ถูกราชภัย โจรภัย ฉาตกภัย และโรคภัยอย่างใด อย่างหนึ่งครอบงำประทุษร้ายแล้วบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ภยัฏฏะ (ลี้ภัย) อธิบายว่า ถูกภัยเบียดเบียน บาลีเป็น ภยฏฺา ก็มีหมายความว่าตั้งอยู่ในภัย.

บทว่า อาชีวิกาปกตา ได้แก่ กุลบุตรผู้ถูกการเลี้ยงชีพประทุษร้าย คือ ครอบงำ อธิบายว่า ไม่สามารถเลี้ยงบุตรและภรรยาได้. บทว่า โอติณฺณา ได้แก่ แทรกซ้อนอยู่ภายใน. กุลบุตรนั้น เกิดความคิดขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า จักทำที่สุดทุกข์ให้ได้จึงบวช ต่อมาไม่สามารถทำการบวชนั้นให้ (ได้ผล) อย่างนั้นได้ เพื่อทรงชี้กุลบุตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า โส จ โหติ อภิชฺฌาลุ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ เป็นผู้มีปกติเพ่งเฉพาะ (อยากได้) สิ่งของของผูอื่น (มาเป็นของตน) บทว่า ติพฺพสาราโค ได้แก่ มีราคะหนาแน่น.

บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺโต ได้แก่ มีจิตวิบัติเพราะเป็นจิตเสีย.

บทว่า ปทุฏฺมนสงฺกปฺโป ได้แก่ มีจิตดุร้าย เหมือนโคเขาคม. บทว่า มุฏฺสฺสติ ได้แก่ หลงลืมสติ คือ ระลึกไม่ได้ว่าสิ่งที่ตนทำแล้ว ในที่นี้ย่อมหายไปในที่นี้ เหมือนกาวาง (ก้อน) ข้าวไว้แล้ว (ก็ลืม) ฉะนั้น.

บทว่า อสมฺปชาโน ได้แก่ ไม่มีปัญญา คือ เว้นจากการกำหนดขันธ์เป็นต้น.

บทว่า อสมาหิโต ได้แก่ ไม่มั่นคงเพราะไม่มีอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เหมือนเรือที่ผูกไว้แล้ว (ก็ยังโคลง) เพราะกระแสน้ำเชี่ยวฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 220

บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ มีใจหมุนไป (ฟุ้งซ่าน) -เหมือนข้าศึกถูกล้อมกลางทางฉะนั้น.

บทว่า ปกฺกตินฺทฺริยา ได้แก่ ไม่สำรวมอินทรีย์ เหมือนคฤหัสถ์มองดูลูกชายลูกสาวชื่อว่า เป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ฉะนั้น.

บทว่า ฉวาลาตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนในที่ที่เผาศพ.

บทว่า อุภโต ปทิตฺตํ มชฺเฌ คูถคตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนเผาศพยาวประมาณ ๘ นิ้ว ถูกไฟไหม้ในที่ทั้งสอง (ปลายทั้งสองข้าง) (ส่วน) ตรงกลางเปื้อนคูถ.

บทว่า เนว คาเม ความว่า ก็ถ้าว่าดุ้นฟืนเผาศพนั้นจะพึง สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นแอก คันไถ กลอนเรือน เพลารถ และ ห่วงดุม เป็นต้นได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในบ้านได้ ถ้าจะพึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นฟืน เครื่องลาดและเตียงน้อยเป็นต้น ในกระท่อมนาได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในป่าได้ แต่เพราะเหตุที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองทาง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.

บทว่า คิหิโภคา ปริหีโน ความว่า เมื่อเหล่าคฤหัสถ์ผู้อยู่ใน (บ้าน) เรือน แบ่งไทยธรรม (ถวาย) โภคะส่วนใดเป็นส่วนที่เธอจะพึงได้ ก็เสื่อมแล้วจากโภคะส่วนนั้นนั่นแล.

บทว่า สามญฺตฺถญฺจ ความว่า และ (ไม่ทำ) ประโยชน์ คือ คุณเครื่องความเป็นสมณะที่กุลบุตรดำรงอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์และอาจารย์แล้วพึงบรรลุได้ด้วยอำนาจปริยัติและปฏิเวธ (ให้ปริบูรณ์).

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 221

ก็แลอุปมา (ว่าด้วยดุ้นฟืนเผาศพ) นี้ พระศาสดาทรงนำมามิใช่ด้วยอำนาจของภิกษุผู้ทุศีล แต่ทรงนำมาด้วยอำนาจบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ (แต่) เกียจคร้าน ถูกโทษทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นครอบงำแล้ว.

อกุศลวิตกทำให้คนเป็นเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ

ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า ตโยเม ภิกฺขเว ไว้?

ตอบว่า ทรงเริ่มไว้เพื่อแสดงว่า สภาพของบุคคลนี้ที่เปรียบเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ มารดาบิดามิได้ทำให้ อุปัชฌาย์อาจารย์มิได้ทำให้ แต่อกุศลวิตกเหล่านี้ (ต่างหาก) ทำให้.

บทว่า อนิมิตฺตํ วา สมาธิํ ได้แก่ สมาธิในวิปัสสนา อธิบายว่า สมาธิในวิปัสสนานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อนิมิตตะ (ไม่มีนิมิต) เพราะถอนนิมิตทั้งหลาย มีนิมิตว่าเที่ยงเป็นต้น ได้.

อนึ่ง ในพระบาลีตอนนี้พึงทราบความว่า สติปัฏฐาน ๔ ระคนกัน (ส่วน) อนิมิตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีนิมิต) เป็นบุรพภาค (ส่วนเบื้องต้น) อีกอย่างหนึ่ง อนิมิตตสมาธิ ระคนกัน (ส่วน) สติปัฏฐานเป็นบุรพภาค.

อนิมิตตสมาธิถอนทิฏฐิ ๒ อย่าง

คำนี้ว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ทิฏฺิโย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงว่า อนิมิตตสมาธิภาวนาย่อมเป็นไปเพื่อละมหาวิตกทั้ง ๓ เหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้น หามิได้ แต่ยังถอนสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิได้อีกด้วย. บทว่า น วชฺชวา อสฺสํ ได้แก่ เราพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 222

บทที่เหลือในพระบาลีนี้ง่ายทั้งนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงเทศนาในสูตรแม้นี้ให้วนเวียนอยู่กับภพ ๓ แล้ว จดยอด (ให้จบลง) ด้วยอรหัตตผลด้วยประการดังพรรณนา มาฉะนี้.

เวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

จบอรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘