เมตตาแบบอัปปมัญญา เป็นอย่างไร
เมตตาอัปปมัญญา หมายถึง การเจริญเมตตามีความสงบแนบแน่นจนถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต แผ่ไปไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ไม่เลือก ไม่เจาะจง แต่ในชีวิตประจำวันการอบรมเจริญเมตตาคือ การมีไมตรี มีความเป็นเพื่อน มีความเป็นมิตร มีความหวังดีกับบุคคลต่างๆ ซึ่งจะเริ่มต้นเพียงบุคคลบางคน บางกลุ่ม และเมื่อมีกำลังมากขึ้น ขยายกว้างออกไป ในเบื้องต้นการเจริญเมตตาเป็นเพียงความสงบของจิตขั้นขณิกสมาธิ เมื่อสงบมากขึ้นจนไม่มีขอบเขตเป็นอุปจารและอัปปนา เพราะเมตตามีกำลังมากถึงขั้นฌาน จึงเรียกว่า เมตตาอัปปมัญญา
ขอกราบขอบพระคุณค่ะ ได้ความกระจ่างขึ้นมาก จะพยายามน้อมนำไปปฏิบัติด้วยการมีไมตรี มีความเป็นเพื่อน มีความเป็นมิตร มีความหวังดีกับบุคคลต่างๆ ในชีวิต
ประจำวันค่ะ
ถ้าเราเจอคนที่ไม่รู้จัก ตามท้องถนน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ แล้วมีความรู้สึกเป็นมิตรกับทุกคนที่เจอ คือมีไมตรี มีกิริยาที่สนิทสนมด้วยใจจริง เอ็นดู คอยปกป้อง คอยคุ้มครอง คอยแสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลกับเขา นี้ชื่อว่าเมตตาเจริญค่ะ แล้วแต่กำลังของเมตตาที่เจริญ เป็นขณิกสมาธิ หรือถึงขั้นอุปจาระ หรือถึงอัปปนาจึงจะแผ่ได้กว้างขวางหาประมาณไม่ได้ค่ะ แต่ต้องเริ่มจากเมตตาจริงๆ ค่ะ
เรื่อง อบรมเจริญเมตตาอย่างไร การอบรมเจริญเมตตา ต้องเริ่มจากเป็นผู้ที่ใคร่ (ฉันทะ) ที่จะอบรมเจริญเมตตา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นครับ ซึ่งต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นประโยชน์ของการมีเมตตา
ถ้าเราไม่เห็นประโยชน์ว่าควรมีเมตตา ก็จะไม่เริ่มที่จะมีเมตตากับบุคคลต่างๆ เลย ค่อยๆ อบรมจาก บุคคลที่เป็นที่เคารพ เช่น อาจารย์ก่อน เมตตาย่อมเกิดได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น สำหรับบุคคลที่ยังไม่ค่อยมีเมตตา เท่าไหร่ ก็เริ่มจากบุคคลที่ควรเคารพนับถือครับ จนเมตตามีกำลัง ก็สามารถมีเมตตาแม้แต่คนที่เขาไม่ชอบเรา หรือทำความเสียหายกับเราก็มีเมตตากับเขาได้ แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มเห็นประโยชน์ว่าควรมีเมตตากัน (ฉันทะ) ตรงนี้แหละ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีเมตตามากขึ้น จนถึงอัปมัญญา (ไม่เจาะจง ไม่มีประมาณ) ใครจะทำอะไรกับเรา ไม่เป็นไร แต่เราควรให้คนนั้นมีความสุขด้วยการกระทำของเรา
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย