พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อานันทสูตร ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 ก.ย. 2564
หมายเลข  36841
อ่าน  357

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 246

เถรวรรคที่ ๔

๑. อานันทสูตร

ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 246

เถรวรรคที่ ๔

๑. อานันทสูตร

ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ

[๑๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนทเถระเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว. ท่านพระอานนท์ จึงได้กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตรมีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านอานนท์ เพราะถือมั่น จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะถือมั่นอะไร จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา ดูก่อนท่านอานนท์ เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนที่กระจก หรือ ที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะไม่ยึดถือจึงไม่เห็น ฉันใด ดูก่อนท่านอานนท์ เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ ว่าเป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนท่านอานนท์ ท่านจะสำคัญความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 247

ข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง.

อ. ไม่เที่ยง อาวุโส.

ป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

อ. ไม่เที่ยง อาวุโส ฯลฯ.

ป. เพราะเหตุนี้แล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี (โดยเหตุนี้แล ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า) ดูก่อนอาวุโส ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็เราได้ตรัสรู้ธรรมเพราะฟังธรรมเทศนานี้ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร.

จบอานันทสูตรที่ ๑

เถรวรรคที่ ๔

อรรถกถาอานันทสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัย ในอานันทสูตรที่ ๑ แห่งเถรวรรค ดังต่อไปนี้ :-

พระปุณณมันตานีบุตร

บุตรของนางพราหมณี ชื่อ มันตานี ชื่อ มันตานีบุตร.

บทว่า อุปาทาย แปลว่า อาศัย คือ ปรารภ ได้แก่ มุ่งหมาย คือ อิงแอบ.

บทว่า อสฺมีติ โหติ ความว่า มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นไปอย่างนี้ว่า อัสมิ (เรามี เราเป็น).

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 248

บทว่า ทหโร แปลว่า คนหนุ่ม.

บทว่า ยุวา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยความเป็นหนุ่ม.

บทว่า มณฺฑกชาติโย แปลว่า มีการแต่งตัวเป็นสภาพ คือ มีปกติชอบแต่งตัว.

บทว่า มุขนิมิตฺตํ แปลว่า เงาหน้า. ก็เงาหน้านั้นอาศัยกระจกเงาที่ใสสะอาดจึงปรากฏ.

ถามว่า ก็เมื่อบุคคลมองดูกระจกเงาใสสะอาดนั้น เงาหน้าของตนปรากฏหรือเงาหน้าของคนอื่นปรากฏเล่า?

อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ถ้าเงาหน้าจะพึงเป็นของตนไซร้ (ไฉน) จะต้องปรากฏเป็นหน้าอื่น (อีกหน้าหนึ่ง) และถ้าเงาหน้าเป็นของผู้อื่น (อีกหน้าหนึ่ง) ไซร้ ก็จะต้องปรากฏไม่เหมือนกันโดยสีเป็นต้น เพราะฉะนั้น เงาหน้านั้นจึงไม่เป็นทั้งของตนทั้งของคนอื่น แต่ว่ารูปที่เห็นในกระจกนั้นอาศัยกระจกจึงปรากฏ.

ถามว่า ถ้าจะมีเงาหน้าใดปรากฏในน้ำ เงาหน้านั้นปรากฏได้เพราะเหตุไร?

ตอบว่า ปรากฏได้เพราะมหาภูตรูป (น้ำ) เป็นของใสสะอาด.

บทว่า ธมฺโม จ เม อภิสเมโก ความว่า พระอานนทเถระกล่าวว่าผมได้บรรลุธรรมคือสัจจะ ๔ ด้วยญาณ ผมจึงสำเร็จเป็น พระโสดาบัน.

จบ อรรถกถาอานันทสูตรที่ ๑