การปฏิบัติตนต่อพระนอกธรรมวินัย อลัชชี ควรทำอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ย่อมเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ด้วยจิตอนุเคราะห์ต่อบุคคลนั้น เพื่อให้เห็นโทษตามความเป็นจริง และเพื่อดำรงไว้ซึ่งคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ด้วยการแสดงสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิเสธสิ่งที่บิดเบือนคำสอนและพระธรรมที่ผู้อื่นกล่าวแสดงผิด และ กระทำในสิ่งที่ผิด ส่วนบุคคลอื่น ภิกษุอื่นที่จะรับฟังแล้ว จะเกิด อกุศล กุศลนั้น ก็ตามแต่การสะสม อนัตตา เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถบังคับใจใครได้ ในสมัยพุทธกาล คฤหัสถ์ผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต เมื่อเห็นการกะทำของภิกษุไม่ดี ย่อมรู้ว่านั่นคือ ความไม่ดี จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาด้วยจิตอนุเคราะห์ หวังดี เพื่อให้รู้ว่าเป็นโทษ ภิกษุนั้นจะได้ประพฤติสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งพระพุทธเจ้า ก็เพ่งโทษ ติเตียน ภิกษุผู้กระทำไม่ดี ดั่งเช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม กล่าวติเตียน ท่านพระเทวทัต ว่า โมฆบุรุษ และ อื่นๆ แต่ พระเทวทัตเมื่อได้รับฟัง ก็เกิดความพยาบาท เกิด อกุศลร้ายแรง แม้แต่คำของพระพุทธเจ้าตักเตือน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละใจ สำคัญที่ว่า จะดำรงพระพุทธศาสนา ชี้โทษด้วยจิตอนุเคราะห์และเพื่อรักษาพระธรรมวินัยไว้ ครับ
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 290
วินิจฉัยในบทว่า วชฺชทสฺสิน ภิกษุผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวก คือ ภิกษุคอยแส่หาโทษ ด้วยคิดว่า "เราจักข่มภิกษุนั้นด้วยมารยาทอันไม่สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดอันนี้ในท่ามกลางสงฆ์" ดังนี้ จำพวก ๑ ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษนั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่งที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีล เป็นต้น แก่นั้น จำพวก ๑
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 319
ข้อความบางตอนจาก
คันธารชาดก
[๑๐๔๗] ผู้ถูกตักเตือน จะแค้นเคืองหรือไม่แค้นเคืองก็ตามเถิด จะเขี่ยทิ้งเหมือนโปรยแกลทิ้งก็ตาม เมื่อเขากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่เปรอะเปื้อน
และคฤหัสถ์ที่ดี กล่าวธรรมแล้ว ก็สามารถไม่ลุกรับ กราบไหว้ในพระภิกษุอลัชชี เพราะไม่เครพในความไม่ดีนั้น ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความใน[เล่มที่ 10] พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ หน้า ๖๖๖ แสดงความเป็นจริงของภิกษุผู้เป็น อลัชชี (ผู้ไม่มีความละอาย) ไว้ดังนี้
“ผู้ที่แกล้งต้องอาบัติ (มีเจตนาล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ) ปกปิดอาบัติ และถึงอคติ (ความลำเอียง) คนเช่นนี้ เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล”
ภิกษุในพระธรรมวินัย เห็นอาบัติที่เบาสุด เป็นประดุจอาบัติที่หนักสุด ตามข้อความใน [เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า ๓๙๖ ดังนี้
ภิกษุใด เห็นอาบัติเพียงทุพภาษิตซึ่งเป็นอาบัติเบากว่าอาบัติทั้งปวง กระทำให้เหมือนอาบัติปาราชิก ภิกษุแม้นี้ ชื่อว่า มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย
พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็ตาม จะต้องศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระวินัย ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต อาบัติเบาสุด ก็เห็นเป็นประดุจอาบัติที่หนักสุด เป็นผู้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล โดยประการทั้งปวง ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เป็นผู้ไม่จริงใจต่อการบวชซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง เป็นผู้ที่ไม่เคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้ประพฤติคล้อยตามพระองค์ คฤหัสถ์ที่เข้าใจพระธรรมวินัย เมื่อทราบความไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็กล่าวความจริง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า พระภิกษุจะประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ขัดต่อความเป็นบรรพชิต ไม่ได้ จะได้ไม่หลงผิดไปส่งเสริมสนับสนุนภิกษุอลัชชี แต่ไม่ใช่ไปด่าว่า ไม่ควรไปทำอะไรที่ไม่ดีต่อท่าน แม้เพียงความโกรธ ความไม่พอใจ ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะขณะนั้น เป็นโทษสำหรับตนเองเท่านั้นที่โกรธที่ไม่พอใจ
ดังนั้น ต้องไม่ลืมกิจหน้าที่ที่สำคัญของพุทธบริษัท คือ ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ประกาศ เผยแพร่คำจริงของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ตามกำลังปัญญาของตน มั่นคงที่จะทำกิจนี้ต่อไป ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...