การศึกษาอบรมของสงฆ์และฆราวาสในศีล แตกต่างกันอย่างไร
การศึกษาอบรมของสงฆ์ในศีล แตกต่างจากศีลของฆราวาสอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพศคฤหัสถ์และบรรพชิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บรรพชิต ขัดเกลาอย่างยิ่งเพื่อถึงการสิ้นกิเลส ขัดเกลาดุจสังข์ขัด แตกต่างจากคฤหัสถ์ครับ ดังนั้นศีลของคฤหัสถ์ ก็เป็น ศีล 5 ศีล 8 และ การสำรวม ที่เป็นอินทรียสังวรศีลก็ได้ แต่พระภิกษุ มีพระวินัยบัญญัติ ข้อประพฤติที่ห้ามและควรทำ อย่างละเอียดยิ่ง ดังนี้
ปาริสุทธิศีล ๔ ทรงแสดงโดยตรงกับพระภิกษุ ปาริสุทธศีล ๔ คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล ๑ อินทริย์สังวรศีล ๑ ปัจจยสันนิสิตศีล ๑ อาชีวสันนิสิตศีล ๑ ข้อแรกหมายถึงศีลปาฏิโมกข์ได้แก่ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ ข้อที่ ๒ การสำรวมอินทรีย์ ๖ เป็นสติปัฏฐานโดยตรง ข้อที่ ๓ การพิจารณาปัจจัยโดยแยบคายแล้วจึงบริโภค ข้อที่ ๔ การเลี้ยงชีพโดยอาชีพที่ชอบคือสัมมาอาชีวะ
ปาติโมกขสังวร หมายถึง การสำรวมระวังในศีลปาฏิโมข์ คือ ท่านกล่าวถึงศีลของพระภิกษุซึ่งเป็นศีลที่เป็นหลักเป็นประธาน โดยความหมายถึงการไม่ล่วงศีล การรักษาศีลที่มาในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ และความหมายปาฏิโมกข์มีหลายความหมาย ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยแล้ว เป็นผู้ที่เกิดใหม่ด้วยศีล ๒๒๗ สิกขาบท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ประพฤติในสิ่งที่ควร เว้นในสิ่งที่ผิดโดยประการทั้งปวง มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งศีลของพระภิกษุ มีมากกว่าคฤหัสถ์ เพราะเป็นเพศที่สูงยิ่ง การประพฤติขัดเกลาก็ต้องยิ่งกว่าคฤหัสถ์ สำหรับศีลของคฤหัสถ์ที่จะต้องรักษาเป็นนิตย์ ก็คือ ศีล ๕ ถ้าเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ก็สมาทานประพฤติในสิกขาบท ๘ หรือ ศีล ๘ เป็นต้น หรือ เมื่อได้ศึกษาในพระวินัยบัญญัติ ซึ่งเป็นพระวินัยของพระภิกษุ ถ้าเห็นว่าความประพฤติที่ดีงามใดๆ ที่ตนควรประพฤติตามได้ ก็สามารถน้อมประพฤติตามได้ เพื่อขัดเกลากิเลส ก็เป็นสิ่งที่ควรประพฤติเช่นเดียวกัน โดยไม่มีการห้าม หรือ บังคับเลย เป็นเรื่องของการเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสอย่างแท้จริง ครับ
…ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ ...