พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ติสสสูตร ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36848
อ่าน  404

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 249

๒. ติสสสูตร

ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 249

๒. ติสสสูตร

ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ

[๑๙๔] กรุงสาวัตถี ฯลฯ ก็สมัยนั้น ท่านพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้าเป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลายย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า.

[๑๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านติสสะผู้เป็นโอรสของปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า อาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้าเป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลายย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้วรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงไปเรียกติสสภิกษุตามคำของเราว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นรับพระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านติสสะถึงที่อยู่ แล้วบอกแก่ท่านติสสะอย่างนี้ว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระติสสะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มี-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 250

พระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูก่อนติสสะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้าเป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ ฯลฯ และความสงสัยในธรรมทั้งหลายย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า จริงหรือ ท่านพระติสสะกราบทูลว่า จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภ. ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เพราะความที่รูปนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม?

ต. ใช่ พระเจ้าข้า.

ภ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้สำหรับบุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยาน ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม?

ต. ใช่ พระเจ้าข้า.

ภ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้สำหรับบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในวิญญาณ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 251

[๑๙๖] ภ. ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่วิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม?

ต. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ภ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้สำหรับบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัดในวิญญาณ ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ.

ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. เพราะเหตุนั้นแล ติสสะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

[๑๙๗] ภ. ดูก่อนติสสะ เปรียบเหมือนมีบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่งฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดในหนทางนั้นจึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนั้นพึงบอกอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางนี้แหละสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบทาง ๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้นท่านจงละทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวา ไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามทางนั้นสักพักหนึ่ง แล้วจักพบที่ลุ่มใหญ่ มีเปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบหนองบึง จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่ง แล้วจักพบภูมิภาคอันราบรื่น ดูก่อนติสสะ เรากระทำ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 252

อุปมานี้แลเพื่อให้เข้าใจเนื้อความในข้อนี้มีอธิบายอย่างนี้ คำว่าบุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้แลเป็นชื่อแห่งปุถุชน คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้แลเป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่าทาง ๒ แพร่งนี้แลเป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา คำว่าทางซ้ายนี้แลเป็นชื่อแห่งมรรค ผิดอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ คำว่าทางขวานี้แลเป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่าราวป่าอันทึบนี้แล เป็นชื่อแห่ง อวิชชา คำว่าที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตมนี้แลเป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย คำว่าหนองบึงนี้แลเป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น คำว่าภูมิภาคอันราบรื่นนี้แลเป็นชื่อแห่งนิพพาน เธอจงยินดีเถิด ติสสะ เธอจงยินดีเถิด ติสสะ ตามโอวาทของเรา ตามความอนุเคราะห์ของเรา ตามคำพร่ำสอนของเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระติสสะปลื้มใจชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนี้แล.

จบ ติสสสูตรที่ ๒

อรรถกถาติสสสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยในติสสสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :

พระติสสเถระ

บทว่า มธุรกชาโต วิย ความว่า (ร่างกายของผม) ไม่เหมาะแก่การงาน (ไม่คล่องตัว) เหมือนเกิดมีภาระหนัก.

บทว่า ทิสาปิ ความว่า ท่านพระติสสะกล่าวว่าแม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ คือ ไม่แจ่มแจ้งแก่ผมอย่างนี้ว่า นี้ทิศตะวันออก นี้ทิศใต้.

บทว่า ธมฺปาปิ มํ น ปฏิภนฺติ ความว่า ท่านพระติสสะกล่าวว่าแม้ปริยัติธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ผม สิ่งที่เรียนได้แล้ว สาธยาย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 253

ได้แล้ว ก็ไม่ปรากฏ (ลืมหมด).

บทว่า วิจิกิจฺฉา ความว่า ไม่ใช่ วิจิกิจฉา (ความสงสัย) อย่างสำคัญ เนื่องจากว่า ท่านไม่เกิดความสงสัยว่า "ศาสนานำสัตว์ออกจากทุกข์ได้หรือไม่หนอ" แต่ท่านมีความคิดอย่างนี้ว่า ""เราจักสามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้หรือหนอ หรือจักทำได้แต่เพียงครองบาตรและจีวรเท่านั้น " (๑)

กามทั้งหลายมีรสอร่อยน้อย

บทว่า กามานเมตํ อธิวจนํ ความว่า เมื่อบุคคลมองดูสระน้อยที่ลาดลุ่ม มีแต่เพียงน่าดู น่ารื่นรมย์ แต่ (ถ้า) บุคคลใดลงไปในสระน้อยที่ลาดลุ่มนี้ สระนั้นก็จะฉุดลากผู้นั้นให้ถึงความพินาศ (๒) เพราะสระน้อยนั้นมีปลาดุชุกชุม ฉันใด ในกามคุณ ๕ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (คือ) ทวารทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นต้น (๓) มีแต่เพียงความน่ารื่นรมย์ในเพราะ (เห็น) อารมณ์ (เป็นต้น) แต่ (ถ้า) บุคคลใดติดใจในกามคุณ ๕ นี้ มันก็จะลากจูงบุคคลนั้นไปยัดใส่ในทุคคติภูมิ มีนรกเป็นต้น นั่นแล. เพราะว่ากามทั้งหลายมีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามเหล่านี้มีโทษยิ่งๆ ขึ้นไปอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ดังว่ามานี้ จึงตรัสว่า กามานเมตํ อธิวจนํ.

บทว่า อหมนุคฺคเหน ความว่า เราตถาคตจะอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยธรรมและอามิส.


(๑) ปาฐะว่า ปตฺตจีวรํ ธรายนมตฺตเมว เชิงอรรถเป็น ปตฺตจีวรธารณมตฺตเมว แปลว่าตามเชิงอรรถ

(๒) ปาฐะว่า ปาเปนฺติ เชิงอรรถและฉบับพม่าเป็น ปาเปติ แปลตามนัยหลัง

(๓) ปาฐะว่า จกฺขุทฺวาราทีนิ ฉบับพม่าเป็น จกฺขุทฺวาราทีนํ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 254

บทว่า อภินนฺทิ คือ รับเอา และไม่ใช่แค่รับเอาอย่างเดียว (เท่านั้น) ยังชื่นชมด้วย.

ก็ท่านพระติสสะได้รับการปลอบใจจากสำนักพระศาสดานี้แล้ว พากเพียรพยายามอยู่ไม่กี่วันก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

จบ อรรถกถาติสสสูตรที่ ๒