พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ยมกสูตร ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36849
อ่าน  696

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 254

๓. ยมกสูตร

ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 254

๓. ยมกสูตร

ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่

[๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ภิกษุหลายรูปได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่ายมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงถามท่านยมกภิกษุว่า ดูก่อนท่านยมกะ ทราบว่าท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จริงหรือ ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้นอาวุโส.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 255

ภิ. ดูก่อนอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถึงทิฏฐิอันชั่วช้านั้นอย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเพื่อจะทำท่านยมกะให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่เพื่ออนุเคราะห์เถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ.

[๑๙๙] ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักแล้ว เข้าไปหาท่านยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านยมกะว่า ดูก่อนอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ ท่านยมกะตอบว่า อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 256

สา. ดูก่อนท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ.

สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ.

สา. เพราะเหตุนี้นั้นแลยมกะ พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

[๒๐๐] สา. ดูก่อนท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูปว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นเวทนาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๑] สา. ดูก่อนท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในรูปหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 257

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากรูปหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากเวทนาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากสัญญาหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากสังขารหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลต่างหากจากวิญญาณหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๒] สา. ดูก่อนยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 258

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๓] สา. ดูก่อนท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้นั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ดูก่อนท่านยมกะ ก็โดยที่จริงโดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ว่าพระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว เพราะฟังธรรมเทศนานี้ของท่านพระสารีบุตร.

[๒๐๔] สา. ดูก่อนท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพเมื่อตายไป แล้วย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้นจะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร?

ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น. ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า รูปแลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 259

[๒๐๕] สา. ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น. ดูก่อนท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ ความไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบายปลงชีวิต บุรุษนั้นพึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ ท่านคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นพึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการ คือ มีปรกติตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นเชื่อเขา โดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา. เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่าคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม. ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้น แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่าน แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่ ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้น ว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่ และในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 260

นั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม แม้ในกาลนั้น เขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษนั้น ว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่.

ย. อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๖] สา. ดูก่อนท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีรูป ย่อมเห็นรูปในอัตตา หรือย่อมเห็นอัตตาในรูป ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ย่อมเห็นอัตตามีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในอัตตา หรือย่อมเห็นอัตตาในวิญญาณ เขาย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่า เขาย่อมเข้าไปถือมั่นยึดมั่นซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตัวตนของเรา อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่นยืดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 261

[๒๐๗] ดูก่อนท่านยมกะ ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ย่อมไม่เห็นอัตตามีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในอัตตา หรือย่อมไม่เห็นอัตตาในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ย่อมไม่เห็นอัตตามีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในอัตตา หรือย่อมไม่เห็นอัตตาในวิญญาณ เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่าปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่า เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่นยึดมั่นซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตัวตนของเรา อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้นไม่เข้าไปถือมั่นยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน.

ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายของท่านผู้มีอายุทั้งหลายผู้เช่นนั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร.

จบ ยมกสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 262

อรรถกถายมกสูตรที่ ๓

พึงทราบวินิจฉัยในยมกสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

ทิฏฐิของพระยมกะ

บทว่า ทิฏฺิคตํ ความว่า ก็ถ้าพระยมกะนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป ความเป็นไปแห่งสังขารนั่นแหละที่ไม่เป็นไป มีอยู่ (ความคิดดังว่ามานี้) ยังไม่ควรเป็นทิฏฐิ (แต่) ควรเป็นญาณที่ท่องเที่ยวไปในคำสอน (ศาสนา).

แต่เพราะพระยมกะนั้นได้มีความคิดว่า สัตว์ขาดศูนย์ สัตว์พินาศ ฉะนั้นความคิดนั้นจึงเป็นทิฏฐิ.

บทว่า ถามสา ปรามาสา ความว่า ด้วยพลังของทิฏฐิและด้วยการลูบคลำด้วยทิฏฐิ.

บทว่า เยนายสฺมา สารีปุตฺโต ความว่า เมื่อปัจจันตชนบทเกิดจลาจล เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปราบปรามให้สงบราบคาบได้ จึงไปหาเสนาบดีหรือไม่ก็ไปเฝ้าพระราชา ฉันใด เมื่อพระเถระนั้นสับสนด้วยอำนาจทิฏฐิ ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะกำหราบเธอได้ จึงพากันเข้าไปหาพระสารีบุตรผู้เป็นพระธรรมเสนาบดีของพระธรรมราชาจนถึงที่อยู่.

พระสารีบุตรสอนพระยมกะ

บทว่า เอวํ พฺยาโข (๑) ความว่า พระยมกะไม่สามารถจะกล่าวได้เต็มปาก (พูดอ้อมแอ้ม) ต่อหน้าพระ (สารีบุตร) เถระ เหมือนที่กล่าวในสำนักภิกษุเหล่านั้นได้ จึงกล่าวด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยวว่า


(๑) บาลีเป็น เอวํ ขฺวาหํ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 263

เอวํ พฺยาโข (๑) (เป็นอย่างนั้นแล) ดังนี้.

ในตอนนี้ พระสารีบุตรได้กล่าวอุปมาเปรียบเทียบไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?

พระเถระได้ฟังคำของพระยมกะนั้น ดังนี้แล้วคิดว่า ภิกษุนี้ไม่เห็นโทษในลัทธิของตน เราจักทำโทษนั้นให้ปรากฏแก่เธอด้วยการแสดงธรรมดังนี้ แล้วเริ่มแสดงเทศนามีปริวัฏ ๓ (เทศนา ๓ รอบ).

ถามว่า เพราะเหตุไร พระสารีบุตรจึงเริ่มคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนยมกะผู้มีอายุ ท่านสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน? ท่านพิจารณาเห็นรูปว่าเป็นสัตว์หรือ?

ตอบว่า เริ่มไว้เพื่อให้บรรลุธรรมเนียมการซักถาม. เพราะว่าพระเถระสำเร็จเป็นพระโสดาบันในเวลาจบเทศนามีปริวัฏ ๓.

เวลานั้นพระสารีบุตรกล่าวคำว่า ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เป็นต้นไว้ ก็เพื่อให้พระยมกะนั้นได้บรรลุถึงธรรมเนียมในการซักถาม.

บทว่า ตถาคโต คือ สตฺโต (แปลว่า สัตว์).

พระสารีบุตรเถระประมวล (รวบรวม) ขันธ์ ๕ เหล่านี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาแล้วถามว่า ท่านพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่าเป็นสัตว์หรือ?

รูปประโยคว่า เอตฺถ จ เต อาวุโส นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติแสดงถึงการซักถามของพระเถระ มีคำอธิบายดังนี้ว่า ก็เมื่อในปัจจุบันท่านยังหาสัตว์ไม่ได้ตามความเป็นจริงตามสภาพที่ถ่องแท้ ในที่นี้คือในฐานะมีประมาณเท่านี้.


(๑) บาลีเป็น อวํ ขุวาหํ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 264

พระสารีบุตร (เถระ) ประสงค์จะให้พระยมกะพยากรณ์ความเป็นพระอรหันต์ จึงถามคำถามนี้ว่า สเจ ตํ อาวุโส ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า ยํ ทุกฺขํ ตํ นิรุทฺธํ ความว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นแลดับไปแล้ว ไม่มีสัตว์ที่จะชื่อว่าดับต่างหาก ข้าพเจ้าพึงพยากรณ์อย่างนี้.

บทว่า เอตสฺเสว อตฺถสฺส ความว่า ปฐมมรรค (โสดาปัตติมรรค) นั้น อย่างนี้.

บทว่า ภิยฺโยโสมตฺตาย าณาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ญาณมีประมาณยิ่ง อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่การทำมรรค ๓ ชั้นสูง พร้อมทั้งวิปัสสนาให้แจ่มแจ้ง.

บทว่า อารกฺขสมฺปนฺโน คือ ถึงพร้อมด้วยการอารักขาภายในและการอารักขาภายนอก.

บทว่า อโยคกฺเขมกาโม คือ ไม่ปรารถนาความเกษม (ปลอดภัย) จากโยคะ ๔.

บทว่า ปสยฺห คือ ข่มขู่ ได้แก่ ข่มขี่.

บทว่า อนุปขชฺช คือ ลักลอบเข้าไป.

ในบทว่า ปุพฺพุฏฺายี เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บุรุษที่ชื่อว่า ปุพฺพุฏฺายี เพราะหมายความว่า เห็นคหบดีหรือบุตรคหบดีมาแต่ไกลก็ลุกจากที่นั่งก่อน.

ที่ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตี เพราะหมายความว่า ให้ที่นั่งแก่คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นแล้ว เมื่อท่านนั่ง (ตนเอง) จึงหย่อนตัวลง คือ นั่งทีหลัง. (อีกอย่างหนึ่ง) บุรุษนั้นตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วจัดแจงว่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 265

พวกเจ้าจำนวนเท่านี้จงไปไถนา จำนวนเท่านี้จงไปหว่าน ดังนี้ชื่อว่า ลุกขึ้นก่อนใครหมด เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ปุพฺพุฏฺายี.

บุรุษนี้นั้นชื่อว่าปจฺฉานิปาตี เพราะเมื่อคนงานทั้งหมดกลับไปยังที่อยู่ของตนๆ แล้ว (ตนเอง) ก็ยังจัดการอารักขารอบเรือน ปิดประตูนอนทีหลังเขาหมด.

ที่ชื่อว่า กิํการปฏิสาวี เพราะหมายความว่า มองดูหน้าคหบดีหรือบุตรคหบดีคล้ายจะถามว่า จะให้ผมทำอะไรครับท่าน (จะให้) ผมทำอะไรครับท่าน (จากนั้น) ก็คอยฟังคำสั่งว่า จะให้ทำอะไร (๑) .

ที่ชื่อว่า มนาปจารี เพราะหมายความว่า ประพฤติสิ่งที่ถูกใจ.

ที่ชื่อว่า ปิยวาที เพราะหมายความว่า พูดวาจาที่น่ารัก.

บทว่า มิตฺตโตปิ นํ ทเหยฺย ความว่า (คหบดีหรือบุตรคหบดี) พึงเชื่อว่าบุรุษนี้เป็นมิตรของเรา.

บทว่า วิสฺสาสํ อาปชฺเชยฺย ความว่า (คหบดีหรือบุตรคหบดี) พึงทำกิจทั้งหลาย มีดื่มกินร่วมกันเป็นต้น จึงเป็นผู้คุ้นเคยกัน.

บทว่า สํวิสฺสฏฺโ แปลว่า คุ้นเคยกันดี.

อุปมาเปรียบเทียบ

ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีข้ออุปมาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-

พาลปุถุชนผู้มิได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) ในเวลาที่อาศัยวัฏฏะ (ยังเวียนว่ายตายเกิด) เปรียบเหมือนบุตรคหบดีผู้โง่เขลา.


(๑) ปาฐะว่า กิํ การณํ ฉบับพม่าเป็น กิํ การํ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 266

เบญจขันธ์ไม่มีกำลังทุรพล (ทรุดโทรม, เกิดดับอยู่ตลอดเวลา) เปรียบเหมือนศัตรูคอยดักสังหาร.

เบญจขันธ์ซึ่งเข้าถึงในขณะปฏิสนธิ เปรียบเหมือนเวลาที่ศัตรูผู้คอยดักสังหารเข้าไปหาด้วยหวังว่าจักรับใช้บุตรคหบดีผู้โง่.

เวลาที่ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะ ไม่ยืดถือเบญจขันธ์ว่าเหล่านี้เป็นของเรา (แต่กลับแยก) ยึดถือว่า รูปของเรา เวทนาของเรา สัญญาของเรา สังขารของเรา วิญญาณของเรา เปรียบเหมือนเวลาที่บุตรคหบดีผู้โง่เขลาไม่ทราบว่า ผู้นี้เป็นสหายของเรา ผู้นี้เป็นศัตรูผู้คอยดักสังหารของเรา.

เวลาที่ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะ ยึดถือ (เบญจขันธ์) ว่าเหล่านี้ของเรา แล้วทำสักการะ (ปรนนิบัติ) เบญจขันธ์ด้วยการอาบน้ำและการกิน เป็นต้น เปรียบเหมือนเวลาที่ศัตรูผู้คอยดักสังหารยอมรับว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา แล้วทำสักการะ (ปรนนิบัติ). การที่พาลปุถุชนผู้คุ้นเคยแล้วสิ้นชีวิตเพราะขันธ์แตกในขณะจุติ พึงทราบว่าเปรียบเหมือนการที่ศัตรูผู้คอยดักสังหารทราบว่าคหบดีหรือบุตรคหบดีนี้กับเราคุ้นเคยกันมากแล้ว ทำสักการะพลางเอาดาบตัดศีรษะ (ของคหบดีหรือบุตรของคหบดี).

บทว่า อุเปติ แปลว่า เข้าใกล้. บทว่า อุปาทิยติ แปลว่า ยึดถือ. บทว่า อธิฏฺาติ แปลว่า ตั้งมั่น. บทว่า อตฺตา เม ความว่า นี้เป็นอัตตาของเรา.

บทว่า สุตวา จ โข อาวุโส อริยสาวโก ความว่า บุตรคหบดีผู้เป็นบัณฑิตรู้จักศัตรูผู้เข้าใกล้อย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา แล้วไม่ประมาท ใช้ศัตรูให้ทำงานชนิดนั้นๆ หลบหลีกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 267

ย่อมได้รับประโยชน์ ฉันใด แม้พระอริยสาวกผู้ได้สดับ (ธรรมของ พระอริยะ) ก็ฉันนั้น ไม่ยึดถือเบญจขันธ์ว่าเป็นเราหรือว่าของเรา โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่พิจารณาเห็นรูปว่าเป็นอัตตา ทราบว่าเบญจขันธ์เหล่านี้เป็นศัตรูของเราแล้วประกอบเข้ากับวิปัสสนาโดยเป็นรูปสัตตกะ (หมวดเจ็ดของรูป) และอรูปสัตตกะ (หมวดเจ็ดของอรูป) เป็นต้น หลีกเว้นทุกข์ซึ่งเกิดจากเบญจขันธ์นั้น ย่อมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันเป็นผลที่เลิศ.

บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาสูตรที่๓