พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เผณปิณฑสูตร ว่าด้วยขันธ์ ๕ เปรียบด้วยฟองน้ําเป็นต้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36859
อ่าน  485

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 316

๓. เผณปิณฑสูตร

ว่าด้วยขันธ์ ๕ เปรียบด้วยฟองน้ำเป็นต้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 316

๓. เผณปิณฑสูตร

ว่าด้วยขันธ์ ๕ เปรียบด้วยฟองน้ำเป็นต้น

[๒๔๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่ฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอโยธยา. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พัดพาเอาฟองน้ำก้อนใหญ่มา บุรุษผู้มีตาดีจะพึงเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคายซึ่งฟองน้ำจำนวนมากนั้น เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย ฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้นจะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต เป็นอนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูรูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย รูปนั้นก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในรูปจะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.

[๒๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกอยู่ในสรทสมัย ต่อมน้ำจะเกิดขึ้นและดับไปในน้ำ บุรุษผู้มีตาดีจะพึงเพ่งพิจารณาดูต่อมน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพิจารณาดูโดยแยบคาย ต่อมน้ำนั้นก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในต่อมน้ำจะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูเวทนานั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย เวทนานั้นจะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของหาสาระมิได้เลย สาระในเวทนาจะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 317

[๒๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูคิมหันต์ดำรงอยู่แล้ว ในเวลาเที่ยง พะยับแดดเต้นระยิบระยับ บุรุษผู้มีตาดีพึงเพ่งพินิจพิจารณาดูพะยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย พะยับแดดนั้นจะปรากฏเป็นของว่างทีเดียว ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระในพะยับแดดจะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปป่า เขามองเห็นต้นกล้วยใหญ่ ลำต้นตรง ยังใหม่ ยังไม่เกิดหยวกแข็ง ในป่านั้น เขาพึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว ก็ทอนปลาย ครั้น ทอนปลายแล้ว ก็ลอกกาบออก เมื่อลอกกาบกล้วยนั้นออก แม้แต่กระพี้เขาก็จะไม่ได้ในต้นกล้วยนั้น จะได้แก่นมาแต่ไหน? บุรุษผู้มีตาดีคงเพ่งพินิจพิจารณาดูต้นกล้วยนั้นโดยแยบคาย เมื่อเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย ต้นกล้วยก็จะปรากฏว่าเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ไม่มีแก่นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แก่นในต้นกล้วยนั้นจะมีได้อย่างไร ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน หรือที่มีอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย สังขารนั้นจะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระในสังขารทั้งหลายจะพึงมีได้อย่างไร?

[๒๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือของนักเล่นกลแสดงมายากลที่สี่แยก บุรุษมีตาดีพึงเพ่งพินิจพิจารณาดูมายากลนั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 318

โดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย มายากลก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ไม่จริงเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริง (สาระ) ในมายากลจักมีได้อย่างไร ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูวิญญาณนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย วิญญาณก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ จะเบื่อหน่ายในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารทั้งหลายบ้าง ในวิญญาณบ้าง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า เราหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสเวยยากรณพจน์แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๒๔๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงรูปอุปมาด้วยฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยต่อมน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพะยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยมายากล. ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณา (เบญจขันธ์) อยู่โดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ แก่เธอผู้เห็นอยู่โดยแยบคาย ก็การละธรรม ๓ อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมี

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 319

ปัญญาเสมอแผ่นดิน ทรงปรารภกายนี้แล้วแสดงไว้ เธอทั้งหลาย จงดูรูปที่เขาทิ้งแล้วเถิด. อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละกายนี้ไปเมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้จะถูกเขาทอดทิ้ง นอนอยู่ ไม่มีจิตใจ เป็นเหยื่อของสัตว์. การสืบเนื่องกันนี้เป็นเช่นนี้ นี้เป็นมายากลที่คนโง่พร่ำเพ้อถึง ขันธ์เราตถาคตกล่าวว่าเป็นเพชฌฆาตตนหนึ่ง สาระในเบญจขันธ์นี้ไม่มี ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว มีสติ สัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อปรารถนาอจุติบท (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตน ประพฤติดุจบุคคลผู้มีไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น ดังนี้.

จบ เผณปิณฑสูตรที่ ๓

อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓

พึงทราบวินิจฉัย ในเผณปิฌฑสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า คงฺคาย นทิยา ตีเร (๑) ความว่า พวกชาวเมืองอโยธยาเห็นพระตถาคตมีภิกษุจำนวนมากเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวจาริกมาถึง


(๑) ปาฐะว่า คงฺคาย นทิยา ตีเร ฉบับพม่าเป็น คงฺคาย นทิยา ตีเรติ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 320

เมืองของตน จึงได้ช่วยกันสร้างวัดถวายพระศาสดาใน (ภูมิ) ประเทศที่เดียรดาษไปด้วยไพรสณฑ์ใหญ่ ตรงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีแม่น้ำคงคาไหลวน. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารนั้น พระสังคีติกาจารย์หมายเอาวิหารนั้น จึงกล่าวว่า คงฺคาย นทิยา ตีเร ดังนี้.

บทว่า ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารนั้น เวลาเย็นเสด็จออกจากพระคันธกุฏี ไปประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ชาวเมืองจัดถวายไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ทอดพระเนตรเห็นฟองน้ำใหญ่ลอยมาในแม่น้ำคงคา จึงทรงดำริว่า เราจักกล่าวธรรมข้อหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเบญจขันธ์ในศาสนาของเราดังนี้ แล้วได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายผู้นั่งแวดล้อมอยู่ (๑) .

บทว่า มหนฺตํ เผณปิณฺฑํ ความว่า ฟองน้ำเริ่มตั้งแต่มีขนาดเท่าผลพุทราและล้อรถในคราวแรกก่อตัวๆ แล้ว เมื่อถูกกระแสน้ำพัดพาไปก็ก่อตัวใหญ่ขึ้นตามลำดับ จนมีขนาดเท่ายอดภูเขา ซึ่งสัตว์เป็นจำนวนมากมีงูน้ำ เป็นต้น อาศัยอยู่ ได้แก่ ฟองน้ำที่ใหญ่ถึงปานนี้.

บทว่า อาวเหยฺย แปลว่า พึงนำมา.

ก็ฟองน้ำนี้นั้น ย่อมสลายตัวไปตรงที่ที่ก่อตัวบ้าง ลอยไปได้หน่อยหนึ่งจึงสลายตัวบ้าง ลอยไปได้ไกลเป็นโยชน์หนึ่งสองโยชน์เป็นต้นแล้วจึงสลายตัวบ้าง แต่ถึงแม้จะไม่สลายตัว ในระหว่างทางถึงทะเลหลวงแล้วก็ย่อมสลายตัวเป็นแน่แท้ทีเดียว.

บทว่า นิชฺฌาเยยฺย แปลว่า พึงจ้องดู.

บทว่า โยนิโส อุปปริกฺเขยฺย แปลว่า พึงตรวจดูตามเหตุ.


(๑) ปาฐะว่า ปวาเรตฺวา ฉบับพม่าเป็น ปริวาเรตฺวา แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 321

บทว่า กิญฺหิ สิยา ภิกฺขเว เผณปิณฺเฑ สาโร ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าในฟองน้ำจะพึงมีสาระได้อย่างไร? ฟองน้ำจะพึงย่อยยับสลายตัวไปถ่ายเดียว.

รูป

บทว่า เอวเมว โข ความว่า ฟองน้ำไม่มีสาระ (แก่น) ฉันใด แม้รูปก็ไม่มีสาระฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเว้นจากสาระคือเที่ยง สาระคือยั่งยืนและสาระคืออัตตา.

เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำนั้นใครๆ ไม่สามารถจะจับเอาด้วยความประสงค์ว่า เราจักเอาฟองน้ำนี้ทำภาชนะหรือถาด แม้จับแล้วก็ไม่ให้สำเร็จประโยชน์นั้นได้ ย่อมสลายตัวทันทีฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้น ใครๆ ไม่สามารถยึดถือได้ว่าเราหรือของเรา แม้ยึดถือแล้วก็คงอยู่ อย่างนั้นไม่ได้ ย่อมเป็นเช่นกับฟองน้ำอย่างนี้ทีเดียว คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สวยงามเอาเลย.

อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำมีช่องเล็กช่องน้อย พรุนไป เชื่อมต่อด้วยที่ต่อหลายแห่ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมากมีงูน้ำ เป็นต้น ฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้น มีช่องเล็กช่องน้อยพรุนไป เชื่อมต่อด้วยที่ต่อหลายแห่ง ในรูปนี้ หมู่หนอน ๘๐ เหล่าอาศัยอยู่กันเป็นตระกูลทีเดียว รูปนั้นนั่นแล เป็นทั้งเรือนเกิด เป็นทั้งส้วม เป็นทั้งโรงพยาบาล เป็นทั้งป่าช้า ของหมู่หนอนเหล่านั้น หมู่หนอนเหล่านั้นย่อมไม่ไปทำกิจทั้งหลายมีคลอดลูก เป็นต้น ในที่อื่น รูปเป็นเหมือนฟองน้ำด้วยอาการอย่างนี้บ้าง.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่าฟองน้ำแต่แรกก็มีขนาดเท่าผลพุทรา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 322

และล้อรถ (ต่อมาได้ก่อตัวใหญ่ขึ้น) จนมีขนาดเท่ายอดภูเขาตามลำดับ ฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้น เบื้องแรกมีขนาดเท่ากลละ (ต่อมาได้ก่อตัวใหญ่ขึ้น) ตามลำดับ จนมีขนาดวาหนึ่งบ้าง มีขนาดเท่ายอดเขาเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งกระบือและช้างเป็นต้นบ้าง มีขนาด ๑๐๐ โยชน์ ด้วยอำนาจแห่งปลาและเต่าเป็นต้นบ้าง. รูปเป็นเหมือนฟองน้ำด้วยอาการอย่างนี้บ้าง.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำพอก่อตัวขึ้นแล้วก็สลายตัวบ้าง ลอยไปได้หน่อยหนึ่งก็สลายตัวบ้าง ลอยไปได้ไกลสลายตัวบ้าง แต่พอถึงทะเลแล้วก็สลายตัวแน่แท้ทีเดียว ฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้นเหมือนกัน สลายตัวเมื่อคราวเป็นกลละบ้าง เมื่อคราวเป็นอัมพุทะเป็นต้นบ้าง แต่แม้จะไม่สลายตัวลงกลางคัน มีอายุอยู่ต่อไปได้ถึง ๑๐๐ ปี ครั้นถึง ๑๐๐ ปี ก็สลายตัวแน่แท้ทีเดียว รูปอยู่ในวิถีทางของมรณะร่ำไป รูปเป็นเหมือนฟองน้ำด้วยอาการอย่างนี้บ้าง.

เวทนา

แม้ในบทว่า กิญฺหิ สิยา ภิกฺขเว เวทนาย สาโร เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

พึงทราบว่า เวทนาเป็นต้น เหมือนกับต่อมน้ำเป็นต้น อย่างนี้คือ เหมือนอย่างว่า ต่อมน้ำไม่มีสาระฉันใด ถึงเวทนาก็ไม่มีสาระแม้ฉันนั้น.

เหมือนอย่างว่า ต่อมน้ำนั้นไม่มีกำลัง จับคว้าไม่ได้ ใครๆ ไม่สามารถจะจับคว้าต่อมน้ำนั้นมาทำแผ่นกระดานหรือที่นั่งได้ ต่อมน้ำที่จับคว้าแล้วก็สลายตัวทันทีฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ไม่มีกำลัง จับคว้าไม่ได้ ใครๆ ไม่สามารถจะจับคว้าไว้ด้วยสำคัญว่าเที่ยงหรือยั่งยืน แม้จับคว้าได้แล้วก็คงอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เวทนาชื่อว่าเป็นเหมือน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 323

ต่อมน้ำเพราะจับคว้าไว้ไม่ได้อย่างนี้บ้าง.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต่อมน้ำย่อมเกิดและสลายตัวในเพราะหยดน้ำนั้นๆ อยู่ได้ไม่นาน ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ย่อมเกิดและสลายตัวไป อยู่ได้ไม่นาน ในขณะชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิดแล้วดับไปนับได้แสนโกฏิครั้ง.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยเหตุ ๔ อย่าง คือ พื้นน้ำ หยดน้ำ ระลอกน้ำ และลมที่พัดมา ให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุ ๔ อย่าง คือ วัตถุ อารมณ์ ระลอกกิเลส และการกระทบกันด้วยอำนาจผัสสะ เวทนาเป็นเหมือนต่อมน้ำด้วยอาการอย่างนี้บ้าง.

สัญญา

แม้สัญญาก็ชื่อว่าเป็นเหมือนพยับแดดเพราะอรรถว่าไม่มีสาระ (๑) อนึ่ง ชื่อว่าเป็นเหมือนพยับแดดเพราะอรรถว่าอันใครๆ จับคว้าไม่ได้ เพราะใครๆ ไม่สามารถจะจับคว้าเอาพยับแดดนั้น มาดื่ม อาบ หรือ บรรจุให้เต็มภาชนะได้.

อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พยับแดดย่อมเต้นยิบยับ ปรากฏเหมือนมีลูกคลื่นเกิดฉันใด แม้สัญญาแยกประเภทเป็นนีลสัญญาเป็นต้น ก็ฉันนั้น ย่อมไหวตัวคือเต้นยิบยับ เพื่อประโยชน์แก่การเสวยอารมณ์ มีรูปสีเขียวเป็นต้น.


(๑) ปาฐะว่า อสานาฏฺเน ฉบับพม่าเป็น อสารกฏฺเน แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 324

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พยับแดดย่อมหลอกล่อคนจำนวนมากให้หลง ให้พูดว่า ปรากฏเหมือนแม่น้ำมีน้ำเต็ม ฉันใด แม้สัญญาก็ฉันนั้น ย่อมหลอกล่อคนจำนวนมากให้หลง ให้พูดว่า รูปนี้สีเขียวสวยงาม เป็นสุข เที่ยง.

แม้ในรูปสีเหลืองเป็นต้น ก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้แล. สัญญาชื่อว่าเหมือนกับพยับแดด เพราะทำให้หลงอย่างนี้บ้าง.

สังขาร

บทว่า อกุกฺกุชกชาตํ ได้แก่ ไม่มีแก่น เกิดอยู่ในภายใน. แม้สังขารทั้งหลายก็ชื่อว่าเป็นเหมือนต้นกล้วย เพราะอรรถว่าไม่มีสาระ (แก่น) อนึ่ง ชื่อว่าเป็นเหมือนต้นกล้วย เพราะอรรถว่าจับคว้าไม่ได้.

เปรียบเหมือนว่า ใครๆ ไม่สามารถจะจับคว้าอะไรๆ จากต้นกล้วยแล้วนำเข้าไปใช้ประโยชน์เป็นกลอนเรือนเป็นต้น แม้นำเข้าไปใช้ประโยชน์แล้ว ก็จะไม่เป็นอย่างนั้น (ไม่เป็นไปตามประสงค์) ฉันใด แม้สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น ใครๆ ไม่สามารถจะยึดถือว่าเที่ยงเป็นต้น ได้ แม้ยึดถือแล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้น.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต้นกล้วยเป็นที่รวมของกาบจำนวนมาก ฉันใด สังขารทั้งหลายแม้ฉันนั้น เป็นที่รวมของธรรมมาก.

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต้นกล้วยมีลักษณะต่างๆ กัน คือ กาบภายนอกสีเป็นอย่างหนึ่ง กาบในๆ ถัดจากกาบนั้นเข้าไปก็มีสีเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฉันใด แม้ในสังขารขันธ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผัสสะมีลักษณะเป็นอย่างหนึ่ง (เจตนาเป็นต้น ก็มีลักษณะเป็นอีก

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 325

อย่างหนึ่ง) แต่ครั้นรวมเจตนาเป็นต้นเข้าแล้ว จึงเรียกว่าสังขารขันธ์อย่างเดียว เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์เป็นเหมือนต้นกล้วยอย่างนี้บ้าง.

บทว่า จกฺขุมา ปุริโส ความว่า มีจักษุดีด้วยจักษุทั้งสอง คือ มังสจักษุ และ ปัญญาจักษุ. อธิบายว่า แม้มังสจักษุของบุรุษนั้นก็บริสุทธิ์ ปราศจากต้อต่อมก็ใช้ได้ แม้ปัญญาจักษุก็สามารถมองเห็นว่าไม่มีสาระก็ใช้ได้.

วิญญาณ

แม้วิญญาณก็ชื่อว่าเปรียบเหมือนมายา เพราะหมายความว่าไม่มีสาระ อนึ่ง ชื่อว่าเปรียบเหมือนมายา เพราะหมายความว่าจับคว้าไม่ได้.

เปรียบเหมือนว่า มายา ปรากฏเร็ว ชั่วเวลาเล็กน้อย (๑) ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้น เพราะว่าวิญญาณนั้นเป็นของมีชั่วเวลาน้อยกว่าและปรากฏเร็วกว่ามายานั้น ก็คนจึงเป็นเหมือนเดินมา เป็นเหมือนยืนอยู่ (และ) เป็นเหมือนนั่ง ด้วยจิตดวง (เดียวกัน) นั้นนั่นแล.

แต่ว่าในเวลาไปจิตเป็นดวงหนึ่ง ในเวลามาเป็นต้น จิตเป็นอีกดวงหนึ่ง วิญญาณเป็นเหมือนมายาอย่างนี้บ้าง.

อนึ่ง มายาย่อมล่อล่วงมหาชน ให้มหาชนยึดถืออะไรๆ ต่างๆ ว่า นี้ทองคำ นี้เงิน นี้แก้วมุกดา แม้วิญญาณก็ล่อลวงมหาชน ให้มหาชนยึดถือว่า เป็นเหมือนเดินมา เป็นเหมือนยืนอยู่ (และ) เป็นเหมือนนั่งอยู่ ด้วยจิต (ดวงเดียวกัน) นั้นนั่นแล ในเวลามา จิตก็เป็นดวงหนึ่ง


(๑) ปาฐะว่า อิตรา ฉบับพม่าเป็น อิตฺตรา แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 326

ในเวลาไปเป็นต้น จิตก็เป็นอีกดวงหนึ่ง วิญญาณเป็นเหมือนมายาอย่างนี้บ้าง.

แก้คาถาสรูป

บทว่า ภูริปญฺเน ความว่า มีปัญญาละเอียดและมีปัญญากว้างขวางไพบูลย์. บทว่า อายุ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์. บทว่า อุสฺมา ได้แก่ เตโชธาตุเกิดจากกรรม. บทว่า ปรภตฺตํ ได้แก่ เป็นเหยื่อของหมู่หนอนเป็นต้น ชนิดต่างๆ. บทว่า เอตาทิสายํ สนฺตาโน ความว่า ประเพณีของผู้ตายนี้เป็นเช่นนี้ จะสืบต่อกันไปจนกว่าจะถึงป่าช้า. บทว่า มายายํ พาลลาปินี ความว่า ขันธ์นี้นั้นชื่อว่าวิญญาณขันธ์ นี้ชื่อว่าเป็นมายาที่มหาชนผู้โง่เขลาพร่ำเพ้อถึง. บทว่า วธโก ความว่า เพชฌฆาต กล่าวคือ ขันธ์นี้เป็นได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการฆ่ากันเอง ๑ โดยพระบาลีว่า (๑) เมื่อขันธ์มีอยู่ ผู้ฆ่าก็ปรากฏดังนี้ ๑.

อธิบายว่า ปฐวีธาตุอย่างเดียว (๒) เมื่อแตกสลายก็พาเอาธาตุที่เหลือแตกสลายไปด้วย ธาตุทั้งหลายมีอาโปธาตุเป็นต้น ก็เหมือนกัน.

ส่วนรูปขันธ์ เมื่อแตกสลายก็พาเอาอรูปขันธ์แตกสลายไปด้วย ในอรูปขันธ์ก็เหมือนกัน คือ เวทนาเป็นต้น (เมื่อแตกสลาย) ก็พาเอาสัญญาเป็นต้น (แตกสลายไปด้วย).


(๑) ปาฐะว่า ปญฺายติปิ ฉบับพม่าเป็น ปญฺายตีติปิ แปลตามฉบับพม่า

(๒) ปาฐะว่า เอตาหิ ฉบับพม่าเป็น เอกาหิ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 327

ก็ในที่นี้พึงทราบว่า เบญจขันธ์เป็นตัวสังหารกันและกันอย่างนี้ คือ อรูปขันธ์ทั้ง ๔ กับรูปซึ่งเป็นที่อาศัยของอรูปขันธ์ทั้ง ๔ นั่น (ต่างก็สังหารกันแลกัน).

อนึ่ง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การฆ่า การจองจำ และการตัด (มือเท้า) เป็นต้น จึงมี พึงทราบว่า เบญจขันธ์เป็นผู้ฆ่า เพราะเมื่อขันธ์เหล่านี้มี การฆ่าจึงมีอย่างนี้บ้าง. บทว่า สพฺพสํโยคํ ได้แก่ สังโยชน์ทั้งหมด ๑๐ อย่าง. บทว่า อจฺจุตํ ปทํ หมายถึง นิพพาน.

จบ อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓