พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. โคมยปิณฑสูตร ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36860
อ่าน  420

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 327

๔. โคมยปิณฑสูตร

ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 327

๔. โคมยปิณฑสูตร

ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

[๒๔๘] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ. ภิกษุรูปนั้น ครั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังต่อไปนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีอยู่หรือไม่ รูปบางอย่าง ที่เที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ เวทนาบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ สัญญาบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ สังขารบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 328

มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ วิญญาณบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงอยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่มีเลย รูปบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่มีเวทนาอะไรบางอย่าง ... สัญญาบางอย่าง ... สังขารบางอย่าง ... วิญญาณบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย.

[๒๔๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบก้อนโคมัยเล็กๆ ขึ้นมาแล้ว ได้ตรัสกะภิกษุนั้นดังต่อไปนี้ว่า.

ดูก่อนภิกษุ ไม่มีอัตภาพที่ได้แล้ว แม้ประมาณเท่านี้เลย ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุ แม้ผิว่า จักได้มีอัตภาพที่ได้มาประมาณเท่านี้ ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ ก็จะไม่ปรากฏ. ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุที่ไม่มีเลย อัตภาพที่ได้มาแล้ว ประมาณเท่านี้ ที่จะเป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืนติดต่อกันไป มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา ฉะนั้นการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 329

[๒๕๐] ดูก่อนภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว เราตถาคตได้เป็นขัตติยราช ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว. ดูก่อนภิกษุ เราตถาคตผู้เป็นขัตติยราช ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ได้มีพระนคร ๘๔,๐๐๐ พระนคร มีกุสาวดีราชธานีเป็นนครเอก. มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ หลัง มีธรรมปราสาทเป็นปราสาทเอก. มีพระตำหนัก ๘๔,๐๐๐ หลัง มีพระตำหนักมหาพยุหะเป็นพระตำหนักเอก. มีพระราชบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ ทำด้วยงาสลับด้วยแก่นจันทน์แดง ประดับด้วยทองและเงิน ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ มีขนยาวเกิน ๔ องคุลี ลาดด้วยผ้ากัมพลขาว ทำด้วยขนแกะ มีขนทั้ง ๒ ด้าน ลาดด้วยเครื่องลาด ทำด้วยขนแกะมีดอกทึบ มีเครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด มีเพดานสีแดง มีหมอนสีแดงทั้งสองด้าน (ด้านศีรษะและด้านเท้า) มีช้างต้น ๘๔,๐๐๐ เชือก มีคชาภรณ์ทำด้วยทอง มีธงทอง คลุมศีรษะด้วยข่ายทอง มีพญาช้างอุโบสถเป็นช้างทรง. มีม้าต้น ๘๔,๐๐๐ ตัว มีเครื่องประดับทำด้วยทอง คลุม (หลัง) ด้วยข่ายทอง มีวลาหกอัศวราชเป็นม้าทรง. มีรถทรง ๘๔,๐๐๐ คัน มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีเวชยันตราชรถเป็นรถทรง. มีรัตนะ ๘๔,๐๐๐ ดวง มีแก้วมณีเป็นดวงเอก. มีพระสนมนารี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางภัททาเทวีเป็นพระสนมเอก. มีกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ตามเสด็จ มีปริณายกแก้วเป็นประมุข. มีแม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีผ้าทุกูลพัสตร์เป็นผ้าคลุมหลัง มีภาชนะสำริดทำด้วยเงินสำหรับรองรีดนม. มีผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด เป็นผ้าไหมเนื้อละเอียด เป็นผ้ากัมพลเนื้อละเอียด เป็นผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด มีสุพรรณภาชน์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ห้องเครื่องนำเข้าไปเทียบ เช้า เย็น.

[๒๕๑] ดูก่อนภิกษุ ก็บรรดาพระนคร ๘๔,๐๐๐ นครเหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 330

นครที่เราครอง มีนครเดียวเท่านั้นคือกุสาวดีราชธานี. บรรดาปราสาท ๘๔,๐๐๐ หลังเหล่านั้น ปราสาทที่เราครอบครองสมัยนั้น มีหลังเดียวเท่านั้นคือธรรมปราสาท. บรรดาพระตำหนัก ๘๔,๐๐๐ ตำหนักเหล่านั้นแล ตำหนักที่เราครอบครองสมัยนั้น มีหลังเดียวเท่านั้นคือพระตำหนักมหาพยูหะ. บรรดาพระราชบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์เหล่านั้นแล บัลลังก์ที่เรานั่งสมัยนั้นคือบัลลังก์งา หรือบัลลังก์ไม้แก่นจันทน์ หรือบัลลังก์ทอง หรือบัลลังก์เงิน. บรรดาช้างต้น ๘๔,๐๐๐ เชือกเหล่านั้น ช้างที่เราทรงสมัยนั้น มีเชือกเดียวเท่านั้นคือพระคชาธารชื่ออุโบสถ. บรรดาม้าต้น ๘๔,๐๐๐ ตัวเหล่านั้นแล ม้าที่เราทรงสมัยนั้น มีตัวเดียวเท่านั้นคือวลาหกอัศวราช. บรรดาราชรถ ๘๔,๐๐๐ คันเหล่านั้นแล รถที่เราทั้งสมัยนั้น มีคันเดียวเท่านั้นคือเวชยันตราชรถ. บรรดาสนมนารี ๘๔,๐๐๐ นางเหล่านั้นแล สนมนารีที่เรายกย่องสมัยนั้น มีคนเดียวเท่านั้นคือนางกษัตริย์ หรือหญิงที่มีกำเนิดจากกษัตริย์และพราหมณ์. บรรดาพระภูษา ๘๔,๐๐๐ โกฏิคู่เหล่านั้นแล คู่พระภูษาที่เราใช้สมัยนั้น มีคู่เดียวเท่านั้นคือพระภูษาเปลือกไม้เนื้อละเอียด พระภูษาไหมเนื้อละเอียด พระภูษากัมพลเนื้อละเอียด หรือพระภูษาฝ้ายเนื้อละเอียด. บรรดาพระสุพรรณภาชน์ ๘๔,๐๐๐ สำรับเหล่านั้นแล พระสุพรรณภาชน์สำรับเดียวเท่านั้นที่เราเสวย จุข้าวสุกทะนานหนึ่งเป็นอย่างมากและกับแกงพอเหมาะแก่ข้าวสุกนั้น. ดูก่อนภิกษุ สังขารทั้งปวงเหล่านั้น ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ด้วยประการดังนี้แล สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งปวงไม่ยั่งยืน ไม่เชื่อฟังอย่างนี้แล. ดูก่อนภิกษุ ก็ความไม่เที่ยงนี้ พอเพียงแล้ว เพื่อจะเบื่อหน่าย เพื่อจะคลายกำหนัด เพื่อจะหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง.

จบ โคมยปิณฑสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 331

อรรถกถาโคมยปิณฑสูตรที่ ๔

พึงทราบวินิจฉัยในโคมยปิณฑสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สสฺสติสมํ ได้แก่ เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย มีภูเขาสิเนรุ แผ่นดินใหญ่ พระจันทร์และพระอาทิตย์ เป็นต้น.

บทว่า ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑํ ได้แก่ ก้อนโคมัย (มูลโค) มีประมาณน้อย ขนาดเท่าดอกมะซาง.

ถามว่า ก็ก้อนโคมัยนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาจากไหน?

ตอบว่า พระองค์ทรงหยิบมาจากก้อนโคมัยที่ภิกษุรูปนั้นนำมา เพื่อต้องการใช้ฉาบทา (เสนาสนะ).

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ก็พึงทราบว่า ก้อนโคมัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้ฤทธิ์บันดาลให้มาอยู่ในพระหัตถ์ ก็เพื่อให้ภิกษุได้เข้าใจความหมาย (ของพระธรรมเทศนา) ได้แจ่มแจ้ง.

บทว่า อตฺตภาวปฏิลาโภ ได้แก่ ได้อัตภาพ. บทว่า นยิทํ พฺรหฺมจริยวาโส ปญฺาเยถ ความว่า ชื่อว่าการอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์นี้ไม่พึงปรากฏ เพราะว่ามรรคเกิดขึ้นทำสังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ให้ชะงัก ก็ถ้าว่าอัตภาพเพียงเท่านี้จะพึงเที่ยงไซร้ มรรคแม้เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถทำสังขารวัฏให้ชะงักได้ เพราะเหตุนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จะไม่พึงปรากฏ.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า ถ้าสังขารอะไรจะพึงเที่ยงไซร้ สมบัติที่เราเคยครอบครองเมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ก็จะพึงเที่ยงด้วย แต่สมบัติแม้นั้นก็ไม่เที่ยง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ภูตปุพฺพาหํ ภิกฺขุ ราชา อโหสิํ เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 332

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสาวติราชธานิปฺปมุขานิ ความว่า กุสาวดีราชธานีเป็นใหญ่กว่านครเหล่านั้น อธิบายว่า ประเสริฐสุดกว่านคร (อื่น) ทั้งหมด.

บทว่า สารมยานิ คือ สำเร็จด้วยแก่นไม้จันทน์แดง. ก็พระเขนย (๑) สำหรับบัลลังก์เหล่านั้นล้วนทำจากด้ายทั้งสิ้น. บทว่า โคนกตฺถตานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยผ้าขนแกะสีดำ ซึ่งมีขนยาวเกิน ๔ นิ้ว ที่คนทั้งหลายเรียกกันว่าผ้าขนแกะมหาปัฏฐิยะ. บทว่า ปฏิกตฺถตานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีขาวที่ทำจากขนสัตว์ ซึ่งมีขนทั้ง ๒ ด้าน. บทว่า ปฏลิกตฺถตานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยเครื่องปูลาดขนสัตว์มีดอกหนา. บทว่า กทลิมิคปวรปจฺจตฺถรณานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยพระบรรจถรณ์ชั้นยอด ทำจากหนังชะมด. เล่ากันว่า เครื่องลาดชนิดนั้น คนทั้งหลายเอาหนังชะมดลาดทับบนผ้าขาวแล้วเย็บทำ.

บทว่า สอุตฺตรจฺฉทนานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลาย พร้อมทั้ง (ติด) หลังคาเบื้องบน อธิบายว่า พร้อมทั้งเพดานสีแดงที่ติดไว้เบื้องบน.

บทว่า อุภโตโลหิตกูปธานานิ ความว่า พระเขนยสีแดงที่วางไว้สองข้างของบัลลังก์คือ พระเขนยหนุนพระเศียร (๒) และพระเขนยหนุนพระบาท.

ในบทว่า เวชยนฺตรถปฺปมุขานิ นี้มีอธิบายว่า รถของพระราชานั้น ชื่อว่า เวชยันตะ มีดุมล้อทำด้วยแก้วอินทนิลและแก้วมณี มีกำ (ซื่ล้อ) ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกงทำด้วยแก้วประพาฬ มีเพลาทำด้วยเงิน


(๑) ปาฐะว่า ทามํ ฉบับพม่าเป็น อุปธานํ แปลตามฉบับพม่า

(๒) ปาฐะว่า สีสูปขานญฺจ ฉบับพม่าเป็น สีสูปธานญฺจ แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 333

มีงอนทำด้วยแก้วอินทนิลและแก้วมณี มีทูบทำด้วยเงิน รถนั้นจัดเป็นรถทรง คือเป็นเลิศแห่งรถเหล่านั้น.

บทว่า ทุกูลสนฺทนานิ ได้แก่ มีผ้าทุกูลพัสตร์เป็นผ้าคลุมหลัง (๑) .

บทว่า กํสูปธานานิ ได้แก่ ภาชนะสำหรับรีดนม ทำด้วยเงิน (๒) .

บทว่า วตฺถโกฏิสหสฺสานิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงพระภูษาที่ราชบุรุษนำไป ในเวลาประทับยืนสรงสนาน ด้วยคิดว่าพระองค์จักทรงใช้พระภูษานั้นตามพระราชประสงค์.

บทว่า ภตฺตาภิหาโร ได้แก่ พระกระยาหารที่พึงนำเข้าไปเทียบ.

บทว่า ยมหํ เตน สมเยน อชฺฌาวสามิ ความว่า เราอยู่ในนครใด นครนั้นก็เป็นนครแห่งหนึ่งนั่นแล (ในบรรดานคร ๘๔,๐๐๐ นคร) (ส่วน) ประยูรญาติที่เหลือ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นต้น และคนที่เป็นทาส ก็อาศัยอยู่ด้วย.

แม้ในปราสาทและเรือนยอดเป็นต้น ก็มีนัย (ความหมายเดียวกัน) นี้แล. แม้ในพระราชบัลลังก์เป็นต้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็ทรงใช้เองเพียงพระราชบัลลังก์เดียว บัลลังก์ที่เหลือ เป็นของสำหรับพระราชโอรสเป็นต้น ทรงใช้สอย. บรรดาพระสนมทั้งหลายก็มีพระสนมคนเดียวเท่านั้นที่ปรนนิบัติถวาย. ที่เหลือเป็นเพียงบริวาร.

หญิงที่เกิดในครรภ์ของนางพราหมณี (ผู้เป็นมเหสี) ของกษัตริย์ก็ดี หญิงที่เกิดในครรภ์ของเจ้าหญิง (ผู้เป็นภรรยา) ของพราหมณ์ก็ดี ชื่อว่า เวลามิกา.


(๑) ปาฐะว่า ทุกูลสนฺทนาติ ฉบับพม่าเป็น ทุกูลสนฺถรานิ แปลตามฉบับพม่า.

(๒) ปาฐะว่า รชตมยโลหภาชนานิ ฉบับพม่าเป็น รชตมยโทหภาชนานิ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 334

ด้วยบทว่า ปริทหามิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เรานุ่งผ้าคู่เดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นของพวกราชบุรุษที่เที่ยวแวดล้อมจำนวน ๑,๖๘๐,๐๐๐ คน.

ด้วยบทว่า ภุญฺชามิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราเสวยข้าวสุกประมาณ ๑ ทะนานเป็นอย่างสูง ที่เหลือเป็นของราชบุรุษที่เที่ยวแวดล้อมจำนวน ๘๔,๐๐๐ คน.

ก็ข้าวสุกถาดเดียว พอคน ๑๐ คนกินได้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสมบัติเมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะนี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงว่า สมบัติ นั้นไม่เที่ยง จึงตรัสคำว่า อิติ โข ภิกฺขุ เป็นต้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปริณตา ไต้แก่ (สังขารทั้งหลาย) ถึงความเป็นสภาพหาบัญญัติมิได้ เพราะละปกติ เปรียบเหมือนประทีปดับฉะนั้น.

บทว่า เอวํ อนิจฺจา โข ภิกฺขุ สงฺขารา ความว่า ที่ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะหมายความว่ามีแล้วกลับไม่มีอย่างนี้.

เปรียบเหมือนบุรุษพึงผูกบันไดไว้ที่ต้นจำปาซึ่งสูงถึง ๑๐๐ ศอก แล้วไต่ขึ้นไปเก็บเอาดอกจำปา ทิ้งบันไดไต่ลงมาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุเพียงดังว่าคือ เสด็จขึ้นสู่สมบัติของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ซึ่งกินเวลานานหลายแสนโกฏิปี เป็นเหมือนทรงผูกบันได (ไต่ขึ้นไป) ทรงถือเอาอนิจจลักษณะที่อยู่ในที่สุดแห่งสมบัติแล้ว เสด็จลงมาเหมือนทรงทิ้งบันได (ไต่ลงมา) ฉะนั้น.

บทว่า เอวํ อธุวา ความว่า เว้นจากความเป็นสภาพยั่งยืนอย่างนั้น เหมือนต่อมน้ำเป็นต้นฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 335

บทว่า เอวํ อนสฺสาสิกา ความว่า เว้นจากความน่ายินดีอย่างนั้น เหมือนน้ำดื่มที่ดื่มในความฝัน (๑) และเหมือนกระแจะจันทน์ที่ตนไม่ได้ลูบไล้ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนิจจลักษณะไว้ในสูตรนี้ ดังพรรณนามานี้.

จบ อรรถกถาโคมยปิณฑสูตรที่ ๔


(๑) ปาฐะว่า สุวินิเก ฉบับพม่าเป็น สุปินเก แปลตามฉบับพม่า.