พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. มารสูตร ว่าด้วยขันธมาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ก.ย. 2564
หมายเลข  36925
อ่าน  659

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 426

๒. ราธสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. มารสูตร

ว่าด้วยขันธมาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 426

๒. ราธสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. มารสูตร

ว่าด้วยขันธมาร

[๓๖๖] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่ามาร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนราธะ เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่าเป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใดเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 427

รา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

ภ. ดูก่อนราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ให้้เบื่อหน่าย.

รา. ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

ภ. ดูก่อนราธะ ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ให้คลายกำหนัด.

รา. ก็ความคลายกำหนัดเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

ภ. ดูก่อนราธะ ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ให้หลุดพ้น.

รา. ความหลุดพ้นเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

ภ. ดูก่อนราธะ ความหลุดพ้นมีประโยชน์เพื่อนิพพาน.

รา. นิพพานเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

ภ. ดูก่อนราธะ เธอถามเลยปัญหาไปเสียแล้ว เธอไม่อาจถือเอาที่สุดของปัญหาได้ ดูก่อนราธะ อันพรหมจรรย์เป็นคุณชาติหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด อันกุลบุตรย่อมอยู่ประพฤติแล.

จบ มารสูตร

อรรถกถาราธสังยุต

อรรถกถามารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมารสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มาโร วา อสฺส ความว่า ความตายพึงมี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 428

บทว่า มาเรตา วา ความว่า หรือสัตว์ผู้ถูกฆ่าตาย (พึงมี).

บทว่า โย วา ปน มิยฺยติ ความว่า ก็หรือว่าผู้ใดตาย.

บทว่า นิพฺพิทตฺถํ ได้แก่ เพื่อนิพพิทาญาณ.

บทว่า นิพฺพานตฺถา ความว่า ชื่อว่าผลวิมุตตินี้มีอนุปาทานิพพานเป็นผล อธิบายว่า เพื่ออนุปาทานิพพาน.

บทว่า อจฺจสา ความว่า เธอล่วงเลย (ปัญหา) ไปแล้ว.

บทว่า นิพฺพาโนคธํ ความว่า ตั้งอยู่ในนิพพาน อธิบายว่า ชื่อว่า มรรคพรหมจรรย์ย่อมเข้าไปภายในนิพพาน หาล่วงเลยนิพพานไปได้ไม่.

บทว่า นิพฺพานปริโยสานํ ความว่า นิพพานเป็นที่สุด คือ เป็นผลสำเร็จ ได้แก่ เป็นที่จบลงของมรรคพรหมจรรย์นั้น.

จบ อรรถกถามารสูตร