การเจริญกัมมัฏฐานอย่างถูกต้องเป็นอย่างไร ... ???
เรื่องของสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาที่ใช้คำว่า กัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง เป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนา อีกอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่การทำสมาธิ
เวลาใช้คำว่า กัมมัฏฐาน บางคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าต้องไปทำและไปขอ แต่ความจริงเป็นเรื่องการอบรม
สมถะ หมายถึง สงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นขณะที่จิตเป็นกุศล และจิตที่เป็นกุศล ในวันหนึ่งนั้น สั้นมาก เพราะมีปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก ดังนั้นผู้ที่เห็นกิเลส และ เห็นโทษของอกุศล จึงอบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น จึงมีคำถามว่า ถ้าไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักอกุศลเลย จะเจริญสมถภาวนาได้ไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยเพราะขณะนั้นเป็นแต่เพียงการอยากทำสมาธิ
สำหรับกัมมัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง คือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน หมายความว่า เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง
บางข้อความ จากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา
สมัยนี้ เป็น ยุค กึ่งพุทธกาลแล้ว ปัญญาของคนในยุคนี้ จึงต่างกับคนในครั้งพุทธกาล ซึ่งเข้าใจลักษณะของอกุศล ตามความเป็นจริง คนในยุคนี้ เข้าใจแต่ชื่อ "อกุศล" เท่านั้น ไม่ได้รู้ลักษณะของ อกุศล ขณะที่มันเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของมันตามเหตุปัจจัย
ดังนั้น จึงแยกความต่างกันของกุศลและอกุศล ไม่ได้แยกระหว่าง" มีสติ "กับ " หลงลืมสติ " ไม่ได้ พอพูดถึง " การปฏิบัติธรรม " จึงเข้าใจผิดคิดว่า เป็นการนั่งสมาธิ หรือการทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา คิดว่า การให้จิตจดจ่ออยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดนานๆ เป็นสมาธิ มีความนิ่ง มีความตั้งมั่น ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ทราบว่าสมาธิ ความตั้งมั่น (เอกัคคตาเจตสิก) เกิดกับจิตทุกขณะและเกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ ในชีวิตประจำวันก็จะเป็นอกุศลแทบทั้งหมด
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ ให้เราได้รู้จัก กุศล และ อกุศล ตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะเจริญกุศลขั้นวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อที่จะดับอกุศลได้หมดสิ้นเด็ดขาดไม่เหลืออีกเลย ในอนาคตชาติ
เรื่องของสมถภาวนา กับวิปัสสนาถภาวนา เป็นเรื่องของสัมมามรรค สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เราจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ต่อเมื่อเราได้ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจจริงๆ จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า แม้แต่สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิต่างกันอย่างไร
กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ อะไรเป็นที่ตั้ง ก็คือสติ สติ มีหลายระดับ สติที่เป็นไปใน ความสงบของจิต จนได้ฌาณ ก็เป็น สมถภาวนา สติที่ระลึกรู้สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม เป็นวิปัสสนากรรมฐาน แต่สภาพธัมมะที่เกิดขึ้น จะไม่มีสติเกิดอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องของกรรมฐานที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา (สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา) จะต้องมีปัญญาด้วยเสมอ และปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุให้เกิดซึ่งเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ทั้งในเรื่อง สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็เข้าใจผิด คิดผิด ปฏิบัติผิดดังนั้น การฟังให้เข้าใจ จึงเป็นกิจเบื้องต้นในการอบรมปัญญาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย