๔. โนจเมสิยาสูตร
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 463
๔. โนจเมสิยาสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 463
๔. โนจเมสิยาสูตร
[๔๒๓] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรหนอมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดทิฏฐิอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี ดังนี้?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี เมื่อเวทนามีอยู่ ... เมื่อสัญญามีอยู่ ... เมื่อสังขารมีอยู่ ... เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณ เพราะยืดมั่นวิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 464
[๔๒๔] ภ. ก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภิ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. แม้สิ่งที่บุคคลเห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 465
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี และบริขารของเราจักไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นอันละความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น อริยสาวก นี้เราเรียกว่าเป็น พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
จบ โนจเมสิยาสูตร
อรรถกถาเอตังมมสูตรที่ ๒ ถึง
โนจเมสิยาสูตรที่ ๔
ในบทว่า ทิฏฺํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
อารมณ์ที่เห็นได้ (ทิฏฺํ) ได้แก่ รูปายตนะ, อารมณ์ที่ได้ยินได้ (สุตํ) ได้แก่ สัททายตนะ, อารมณ์ที่ทราบได้ (มุตํ) ได้แก่ คันธายตนะ รสายตนะ (และ) โผฏฐัพพายตนะ. ก็คันธายตนะ รสายตนะ (และ) โผฏฐัพพายตนะ นั้นเรียกว่า อารมณ์ที่ทราบได้ (มุตํ) เพราะต้อง (ให้) มาถึง (ปสาทรูป) ก่อนจึงจะรับได้. อายตนะ ๗ ที่เหลือชื่อว่าวิญญาณ
บทว่า ปตฺตํ ได้แก่ อารมณ์ที่แสวงหาหรือไม่แสวงหาก็ตาม (แต่) ประจวบเข้า.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 466
บทว่า ปริเยสิตํ ได้แก่ อารมณ์ที่แสวงหาแล้ว ที่มาประจวบเข้าหรือไม่ประจวบเข้าก็ตาม.
บทว่า อนุวิจริตํ มนสา ได้แก่ อารมณ์ที่จิตตามเคล้าแล้ว
จริงอยู่ (๑) อารมณ์ในโลก แสวงหาแล้วจึงประจวบเข้าก็มี แสวงหาแล้วแต่ไม่ประจวบเข้าก็มี ไม่ได้แสวงหาแต่ประจวบเข้าก็มี ไม่ได้แสวงหาแล้วไม่ได้ประจวบเข้าก็มี.
บรรดาอารมณ์เหล่านั้น อารมณ์ที่แสวงหาจึงพบชื่อว่า ปตฺต (อารมณ์ที่ประจวบเข้า) แสวงหา แต่ไม่พบ ชื่อว่า ปริเยสิต (อารมณ์ที่แสวงหา) ไม่ได้แสวงหาแต่พบก็ดี ไม่ได้แสวงหาแล้วไม่พบก็ดี ชื่อว่า มนสานุจริตํ (ตามใคร่ครวญด้วยใจ)
อีกอย่างหนึ่ง อารมณ์ที่แสวงหาแล้วพบบ้าง ที่ไม่ได้แสวงหาแต่พบบ้าง ชื่อว่า ปตฺต เพราะหมายความว่าประจวบเข้าแล้ว อารมณ์ที่แสวงหาแล้วแต่ไม่พบเลย ชื่อว่า ปริเยสิต (อารมณ์ที่แสวงหาแล้ว) อารมณ์ที่ไม่ได้แสวงหาไม่ได้พบ ชื่อว่า มนสานุจริตํ (ตามใคร่ครวญด้วยใจ) หรือว่าอารมณ์ทั้งหมดนี้ ชื่อว่าตามใคร่ครวญด้วยใจทั้งนั้น. (๑)
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒ ถึงสูตรที่ ๔
(๑) ปาฐะว่า โลกสฺมิํ หิ ปริเยสิตฺวา ปตฺตํปิ ฯลฯ มนสานุจริตํ นาม
ฉบับพม่าเป็น :- โลกสฺมิํ หิ ปริเยสิตฺวา ปตฺตมฺปิ อตฺถิ, ปริเยสิตฺวา โนปตฺตมฺปิ, อปริเยสิตฺวา ปตฺตมฺปิ, อปริเยสิตฺวา โนปตฺตมฺปิ. ตตฺถ ปริเยสิตฺวา ปตฺตํ ปตฺตํ นาม, ปริเยสิตฺวา โนปตฺตํ ปริเยสิตํ นาม. อปริเยสิตฺวา ปตฺตญฺจ อปริเยสิตฺวา โนปตฺตยฺจ มนสานุวิจริตํ นาม. อถวา ปริเยสิตฺวา ปตฺตมฺปิ อปริเยสิตฺวา ปตฺตมฺปิ ปตฺตฏฺเฐน ปตฺตํ นาม, ปริเยสิตฺวา โนปตฺตเมว ปริเยสิตํ นาม, อปริเยสิตฺวา โน ปตฺตํ มนสานุวิจริตํ นาม สพฺพํ วา เอตํ มนสา อนุวิจริตเมว. แปลตามฉบับพม่า.