พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. กโรโตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ก.ย. 2564
หมายเลข  36979
อ่าน  425

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 472

๖. กโรโตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 472

๖. กโรโตสูตร

[๔๒๗] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะถือมั่นอะไร เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เดือดร้อนเอง ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เศร้าโศกเอง ทำผู้อื่นให้เศร้าโศก ลำบากเอง ทำผู้อื่นให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำให้ผู้อื่นดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักร ซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเป็นกองมังสะอันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เดือดร้อนเอง ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง ใช้ผู้อื่นให้ให้ บูชาเอง ใช้ผู้อื่นให้บูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ.

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ฯลฯ บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การฝึกฝนอินทรีย์ การสำรวม การ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 473

กล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา เมื่อเวทนามีอยู่ ... เมื่อสัญญามีอยู่ ... เมื่อสังขารมีอยู่ ... เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ผู้อื่นให้ทำ ฯลฯ บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การฝึกฝนอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา.

[๔๒๘] ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ฯลฯ บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การฝึกฝนอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ใช่ไหม?

ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

ภ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 474

ใช้ผู้อื่นให้ทำ ฯลฯ บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การฝึกฝนอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ใช่ไหม?

ภิ. ไม่พึงเกิดขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

ภ. แม้สิ่งที่บุคคลเห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ฯลฯ บุญที่เนื่องด้วยการให้ทาน การฝึกฝนอินทรีย์ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ใช่ไหม?

ภิ. ไม่พึงเกิดขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นอันละความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อนั้น อริยสาวกนี้ เราตถาคตเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

จบ กโรโตสูตร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 475

อรรถกถาโรโตสูตรที่ ๖

บทว่า กโรโต คือ ทำด้วยมือของตนเอง.

บทว่า การยโต คือ ให้เขาทำตามคำสั่ง (ใช้ให้ทำ).

บทว่า ฉินฺทโต คือ ตัดอวัยะทั้งหลาย มีมือเป็นต้น ของบุคคลอื่น.

บทว่า เฉทาปยโต คือ เบียดเบียนด้วยอาชญา.

บทว่า โสจยโต ความว่า ทำความเศร้าโศกแก่บุคคลอื่นเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี ด้วยทุจริตกรรม มีลักของของบุคคลอื่นไปเป็นต้น.

บทว่า กิลมโต ความว่า ทำตัวเองให้ลำบากก็ดี ทำผู้อื่นให้ลำบากก็ดี ด้วยการงดให้อาหาร และการถูกกักขังในเรือนจำเป็นต้น.

บทว่า ผนฺทโต ผนฺทาปยโต ความว่า ในเวลาเบียดเบียนบุคคลอื่นผู้ดิ้นรนอยู่ ชื่อว่าทั้งทำตัวเองให้ดิ้นรน ทั้งทำให้บุคคลอื่นแม้นั้นดิ้นรนด้วย.

บทว่า ปาณมติปาตาปยโต ความว่า ฆ่าสัตว์เองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี.

ในทุกๆ บท ก็พึงทราบความหมายด้วยอำนาจเหตุแห่งการกระทำอย่างนี้แล.

บทว่า สนฺธิํ ได้แก่ ที่ต่อของเรือน.

บทว่า นิลฺโลปํ ได้แก่ การปล้นสะดมใหญ่.

บทว่า เอกาคาริกํ ได้แก่ การล้อมเรือนหลังเดียวแล้วปล้น.

บทว่า ปริปนฺเถ ได้แก่ ดักอยู่ที่ทางหลวงเพื่อตีชิงผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 476

ด้วยบทว่า กรโต น กรียติ ปาปํ อกิริยวาทีบุคคลทั้งหลายย่อมแสดงว่า เมื่อบุคคลแม้ทำอยู่ด้วยความสำคัญว่า เราทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง บาปก็ไม่เป็นอันทำ บาปไม่มี เป็นแต่ว่าสัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราทำ.

บทว่า ขุรปริยนฺเตน ความว่า ด้วยคมมีดโกนหรือด้วยปลาย (ที่คม) เช่นกับคมมีดโกน.

บทว่า เอกํ มํสขลํ ได้แก่ กองเนื้อกองเดียวกัน.

บทว่า ปุญฺชํ เป็นไวพจน์ของบทว่า มํสขลํ นั้นนั่นแล.

บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีการทำให้เป็นลานเนื้อเดียวกันเป็นเหตุ.

บทว่า ทกฺขิณํ ความว่า มนุษย์บนฝั่งขวาเป็นคนโหดร้ายทารุณ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอามนุษย์เหล่านั้น จึงตรัสคำว่า หนนฺโต เป็นต้น. มนุษย์บนฝั่งซ้าย เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นพุทธมามกะ ธรรมมามกะ สังฆมามกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอามนุษย์เหล่านั้น จึงตรัสคำว่า ททนฺโต เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยชนฺโต ได้แก่ ทำการบูชาใหญ่.

บทว่า ทมน คือ ด้วยการฝึกอินทรีย์ ได้แก่ ด้วยอุโบสถกรรม.

บทว่า สํยเมน คือ ด้วยการรักษาศีล.

บทว่า สจฺจวชฺเชน คือ ด้วยการกล่าวคำสัตย์.

บทว่า อาคโม แปลว่า การมา อธิบายว่า ความเป็นไป.

อกิริยวาทีบุคคลปฏิเสธการทำบุญและบาปอย่างสิ้นเชิง.

จบ อรรถกถากโรโตสูตรที่ ๖